“แม่พุธ” กับ “ศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองชุมชนบ้านแมด”

ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามมี “ศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองชุมชนบ้านแมด” ที่เป็นทั้งสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเป็นสวนที่สร้างผลผลิตพืชผักสดสำหรับการบริโภคได้จริง

ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้านสวนของ “พุธ บุญหล้า” หรือที่ชาวชุมชนบ้านแมดเรียกกันว่า “แม่พุธ” ซึ่งเป็นประธานอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) และรองประธานชุมชนบ้านแมด อีกทั้งแม่พุธยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องเกษตรในเมืองและทักษะต่างๆ ในการทำสวนผักคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการทำน้ำหมัก การผสมดินปลูก การเพาะกล้าผักในถาดหลุม

แม่พุธมีความรู้พื้นฐานทางการเกษตรเพราะเติบโตมากับอาชีพทำนา ช่วยพ่อแม่ทำนาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยที่นาของบรรพบุรุษไม่เคยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่วนปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยคอกจากการเลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ดังนั้น นาข้าวของแม่พุธจึงมีทั้งผักบุ้งและผักกะเฉดให้เก็บกินได้อย่างปลอดภัย

นอกจากการทำนา ซึ่งทุกวันนี้แม่พุธยังคงยึดเป็นอาชีพ โดยหลังจากแบ่งที่ดินกันในหมู่พี่น้องแล้ว ยังคงเหลือที่นาประมาณ 2 ไร่ไว้ทำกิน นอกจากนั้นยังมีที่ดินบ้านสวนอีกประมาณ 2 ไร่

จากนิสัยส่วนตัวที่ชอบปลูกพืชผักและต้นไม้ ในบริเวณบ้านสวนของแม่พุธจึงเต็มไปด้วยไม้ผลและผักสวนครัว เช่น กล้วย มะขาม ขนุน มะม่วง ต้นไผ่ มะกรูด มะนาว ข่า ตะไคร้ แมงลัก สะเดา และขี้เหล็ก รวมบ่อเลี้ยงปลาอีก 2 บ่อ และเลี้ยงไก่ด้วย

แม่พุธเล่าว่า ในการปลูกผักทำสวนของเธอแต่เดิมไม่มีหลักวิชา ได้แต่ทำเหมือนกับที่ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปทำ นั่นคือ ลองผิดลองถูก ไม่มีสูตรตายตัว ต่อมาเมื่อได้ไปอบรมกับทางเทศบาลที่จัดให้สำหรับชุมชนที่สนใจก็พบว่าไม่ได้ความรู้อะไรมากนัก จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการอบรมเรื่อง “เกษตรในเมือง” หรือ “สวนผักคนเมือง” ที่บ้านสวนชุมแซง จังหวัดมหาสารคาม ที่จัดโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จึงทำให้มีพื้นฐานความรู้ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเรื่องการทำเกษตรมากขึ้น จากนั้นก็ได้นำมาใช้ในสวนที่บ้านด้วย โดยใช้พื้นที่ว่างของสวนทำโต๊ะปลูกผักที่สามารถรับแสงแดดได้

และด้วยเหตุที่แม่พุธทำงานชุมชนมากว่า 15 ปี มีโอกาสศึกษาดูงานในที่ต่าง ๆ หลาย ๆ เรื่อง ทำให้ได้ความรู้ในเรื่องการจัดการคัดแยกขยะกลับมาลงมือเช่นเดียวกัน เริ่มจากทำในบ้านของตัวเองก่อน ปัจจุบันบ้านของแม่พุธจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศูนย์รวมของการจัดการขยะ เป็นต้นแบบให้กับสมาชิกชุมชนนำไปปฏิบัติ และหลายหน่วยงานมาศึกษาดูงานอีกด้วย

“มีการคัดแยกอาหาร คัดแยกขยะด้วยควบคู่กันไป ขยะในที่นี้คือ ขยะแห้ง และขยะเปียก ขยะรีไซเคิล ขยะเปียกจะรวบรวมเอามาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ เป็นปุ๋ยหมัก นี่เป็นความรู้จากการไปทัศนศึกษาที่เทศบาลจัด ดูงานจากที่ต่าง ๆ จากหลายๆ ส่วนเอามาปรับปรุงใช้ในครัวเรือนตัวเองก่อน แล้วขยายไปในชุมชน ทำให้เขาเห็น ทำให้เขาดู ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทำแล้วหยุด จะทำช้าๆ ทำไปเรื่อยๆ จนคนเห็นผลงาน ทำจนมีหน่วยงานต่าง ๆ มาส่งเสริม

“แต่ที่ได้ความรู้หนักๆ คนตระหนักมากๆ ก็คือ ช่วงของการอบรมศึกษาดูงานแล้วเอามาทำร่วมกับสวนผักคนเมืองที่ไปอบรมที่บ้านชุมแซง ก็เอามาประชาสัมพันธ์ มาพูดคุยกันในกรรมการ อสม. ขยายเครือข่ายไปตามชุมชน ทำให้เขาดู พอเราทำแล้วมันได้ผล บริเวณบ้านเรามีทั้งน้ำหมัก เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก คัดแยกขยะ ในบ้านเราหมดเลย มีคณะของเทศบาลเห็นความสำคัญว่าทำแล้วมันดี ก็ไปขยายเครือข่าย มีหน่วยงานต่าง ๆ มาดูงาน มาเยี่ยมโครงการจากหลายพื้นที่ ชาวบ้านเลยให้ความเชื่อมั่นทำตาม เริ่มขยายกว้างขึ้น”

ทุกวันนี้ สวนผักของแม่พุธ มีทั้งผักกาด ผักชี หอม คะน้า แตงกวา ถั่ว พริก และมะเขือ เธอไม่เคยต้องเสียเงินซื้อผักผลไม้ที่ตลาด เว้นแต่วันไหนอยากกินเนื้อสัตว์

ส่วนผักที่ปลูกไว้ นอกจากการใช้ประโยชน์ด้วยการกินเองในบ้านแล้ว ยังได้แจกจ่ายให้กับสมาชิกชุมชนที่มาขอซื้อ แต่เจ้าของไม่ยอมขาย โดยจะขายให้เฉพาะแม่ค้าที่มารับซื้อไปขายต่อที่ตลาดสีเขียว สัปดาห์ละ 2-3 วัน ทำให้มีรายได้ประมาณวันละเกือบ 300 บาท เฉลี่ยเดือนละประมาณ 4,000-5,000 บาท

เดิมที ช่วงที่เทศบาลส่งเสริมให้ชุมชนปลูกผักปลอดภัย แม่พุธพยายามเชิญชวนชาวบ้านปลูก แต่ไม่มีใครสนใจ บอกว่าไม่มีเวลา เสียเวลา ทำไปก็ไม่ได้เงิน ในขณะที่ไปทำงานรับจ้างก่อสร้างหรือทำงานในโรงงานในเมืองจะได้เงิน จากนั้นบางคนที่ไปทำงานในเมืองต้องมาขอซื้อผักที่สวนแม่พุธ เพราะในเมืองไม่มี เช่น แมงลัก ข่า ตะไคร้ ขอซื้อ 5 บาท 10 บาท แต่แม่พุธยืนยันไม่ขาย แจกจ่ายอย่างเดียว แต่จะให้ไม่มาก ให้เก็บไปแบบพอกินเท่านั้น เพื่อจะได้แบ่งปันคนที่ไม่มีได้ทั่วถึง จนเป็นที่รู้กันว่า ผักไหนไม่มีต้องไปเอาที่บ้านแม่พุธ

“ชาวบ้านก็ว่าผักอะไรมีหมดเลย จนว่าเราทำเหมือนคนบ้า บ้าทำสวน บ้าปลูกต้นไม้ แต่วันนี้เริ่มทำตาม บางคนเห็นต้นที่เพาะกล้าในแก้วพลาสติกน้ำชา กาแฟ และน้ำหวานที่ซื้อมากินแล้วไม่ทิ้ง ตั้งไว้เป็นตัวอย่าง ก็มีคนมาขอ บางคนขอซื้อ 20 บาท เราก็ให้หลายๆ ต้นไปเลย หรือเวลามาขอผัก เขาถามว่าทำยังไง เหมือนให้ความรู้เขาไปในตัว ปัจจุบันก็ยังมีคนมาขอผัก เพราะที่บ้านมีเนื้อที่จำกัด แต่เริ่มลดลง เน้นให้ต้นกล้าเขาไปปลูกเอง ปลูกใส่กระถางก็ได้ ปลูกหน้าบ้านคนละต้นสองต้น พูดโน้มน้าวชักชวน ทำไปเรื่อย ๆ เราไม่ได้ทำวันเดียว บางคนปลูกแล้วตายก็มาขอใหม่” แม่พุธเล่าภาพรวมสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น

นอกจากนั้น ในฐานะวิทยากรโครงการอบรมสวนผักคนเมือง แม่พุธในวัย 54 ปี วางแผนการทำงานในอนาคตไว้ว่า ต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองชุมชนบ้านแมดให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“ถ้าเราไม่อยู่ก็จะถ่ายทอดงานให้กับเพื่อนร่วมงานเป็นวิทยากรด้วย ทีมงานมีทั้งที่เป็นกรรมการชุมชน เครือข่ายตลาดเขียว อสม. ก็ทำงานด้วยกัน”

ส่วนสิ่งที่เป็นความกังวลของแม่พุธก็คือ “ตอนนี้ยังไม่มีใครจะมาสานต่องานพูด งานทุกงานส่วนใหญ่เราเป็นวิทยากรพูด เคยมีประธานชุมชนคนเก่าทำได้ แต่ตอนนี้เขาหยุด เขาเหนื่อยแล้ว ไปทำธุรกิจส่วนตัวด้วย ประธานชุมชนคนปัจจุบันก็ไม่ค่อยจะแข็งแรง”