ชุมชน “โพธิ์ศรี 1” ผู้เข้าร่วมปลูกผักรายล่าสุดแห่งเมืองมหาสารคาม

“เราคุยกันในกรรมการชุมชนว่า อยากจะให้ชุมชนของเรามาร่วมกิจกรรม เพื่อให้เขาสามารถปลูกผักกินได้ สามารถขยายในครัวเรือน ปลูกหน้าบ้าน ข้างบ้านก็ได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องซื้อผักกิน ประหยัดด้วย ปลอดภัยด้วย” สุพิชชา พิลามาศ ประธานชุมชนโพธิ์ศรี 1 เล่าถึงแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมสรุปบทเรียนอบรมวิทยากรสวนผักคนเมือง ซึ่งเครือข่ายสวนผักคนเมืองมหาสารคามจัดขึ้นที่สวนดินแลไม้ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

จากความตั้งใจดังกล่าวจึงทำให้เกิดกิจกรรมการจัดอบรมความรู้พื้นฐานเรื่องการปลูกผักให้กับแกนนำและสมาชิกชุมชนโพธิ์ศรี 1 ณ ศาลาประชาคม ชุมชนโพธิ์ศรี 1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกจากชุมชนมหาชัย และคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองมหาสารคาม ร่วมสังเกตการณ์ด้วย

กิจกรรมครั้งนี้ดำเนินการโดยเครือข่ายสวนผักคนเมืองมหาสารคาม ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

ทีมวิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมือง นำโดยชัยสิทธิ์ แนวน้อย ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมือง และวิทยากรประจำศูนย์ฯ สวนดินแลน้ำ ทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานเบื้องต้นเรื่องการปลูกผัก ตั้งแต่ดิน โครงสร้างของดิน อินทรีย์วัตถุ แสง น้ำ อากาศ โรค แมลง รวมทั้งทักษะการดูแลป้องกัน ในขณะที่วิทยากรประจำศูนย์ฯ ชุมชนตักสิลา ชุมชนเครือวัลย์ 2 และชุมชนบ้านแมด ร่วมกันบอกเล่าประสบการณ์ รวมถึงให้ความรู้เสริมในเรื่องเทคนิคต่างๆ อาทิ การทำปุ๋ยหมัก ดินหมัก การทำแปลงในพื้นที่จำกัด การเพาะกล้า และน้ำหมัก

ต่อจากนั้นเป็นช่วงที่เปิดให้ผู้เข้าอบรมได้ช่วยกันทำโต๊ะปลูกผักความยาว 6 เมตรจำนวน 2 โต๊ะ ตั้งบริเวณพื้นที่ข้างศาลาประชาคมที่ชาวบ้านเรียกกันว่าศาลาเอสเอ็มแอล ติดตามการช่วยกันปลูกผักสลัดสลับแถวกับต้นคึ่นช่ายบนโต๊ะปลูก

“ชัยสิทธิ์ให้ความรู้เรื่องการใช้ดิน การผสมดินปลูก การเลือกพืชที่จะปลูก การใช้เครื่องมือ และให้คำแนะนำเรื่องการทำโต๊ะปลูกผัก และแนะนำให้สร้างโต๊ะปลูก มีกรรมการชุมชน แฟนแกเป็นช่างสามารถประกอบทำได้ ก็ชวนลองทำดู ตัดเหล็ก หาวัสดุอุปกรณ์มาประกอบเป็นโต๊ะเรียบร้อย” ประธานชุมชนเล่าถึงกิจกรรมและเบื้องหลังความสำเร็จ

ชุมชนโพธิ์ศรี 1 ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะริมทางรถไฟ เดิมเป็นเขตป่าช้าเก่าที่ชาวบ้านเข้ามาจับจองสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ลักษณะแบ่งเป็นล็อกๆ แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จัดเป็นชุมชนแออัดที่สุดของเมืองมหาสารคาม ชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ประกอบอาชีพรับจ้าง ขายแรงงาน และค้าขายรายวันตามสถานีขนส่ง รวมทั้งผลิตข้าวเม่าแปรรูปขายโดยกรรมการชุมชนในนามวิสาหกิจชุมชน

ที่ผ่านมา เทศบาลเข้ามาส่งเสริมให้ชุมชนปลูกผักปลอดภัย ส่วนใหญ่ปลูกกันในกลุ่มกรรมการชุมชน ปัจจุบันมีปลูกอยู่บ้างประปรายในกระถาง หรือพื้นที่ว่างหลังบ้าน เนื่องจากชุมชนมีพื้นที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้สัมผัสกับการอบรมในแบบฉบับ “สวนผักคนเมือง” ในฐานะผู้นำชุมชนโพธิ์ศรี 1 สุพิชชากล่าวว่า ความรู้ที่ได้จากการอบรมทำให้เกิดความคิดต่อยอดสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในอนาคตต่อไปอีก

“ถ้ามันได้ผล เราก็จะขยาย เรามีพื้นที่สามารถที่จะทำโต๊ะปลูกได้อีก เราจะทำไปเรื่อยๆ ให้เห็นผลสัมฤทธิ์ สามารถปลูกกินได้ ถ้าในอนาคตไปได้ดีก็จะปลูกขายที่ศาลาเอสเอ็มแอลของเราเลย เป็นที่ที่คนสัญจรไปมาเยอะ เราสามารถตั้งโต๊ะขายได้เลย เพราะที่ตั้งโต๊ะปลูกผักอยู่ติดกับถนน และมีหนองกระทุ่ม หนองน้ำสำหรับชุมชน มีน้ำประปาด้วย มีน้ำเพียงพอให้ปลูก

“จะเริ่มกันในกรรมการชุมชนก่อน เราต้องเป็นผู้นำก่อน ถ้าจะให้ชาวบ้านปลูกกันเป็นกิจลักษณะแบบใหญ่ๆ เลยไม่ได้ ถ้าเราทำเป็นตัวอย่างให้เขาดูว่าทำแบบนี้ ๆ เขาก็จะร่วมมือและทำตาม จะชวนชาวบ้านที่สนใจจริง ๆ เข้ามา เราจะไม่บังคับ”

วาสนา ทาวี กรรมการชุมชนโพธิ์ศรี 1 ซึ่งเข้าอบรมครั้งนี้ด้วย เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ความรู้เรื่องการปลูกผัก จากที่แต่ก่อนไม่มีความรู้ ส่วนตัวตั้งใจจะทำโต๊ะปลูกขนาดเล็กเพื่อปลูกผักที่บ้าน

“ส่วนตัวชอบปลูกผัก พื้นที่เรามีจำกัดก็ปลูกในกระถางเล็ก ๆ ปลูกกินนิด ๆ หน่อยๆ มีต้นกะเพรา ต้นหอม สามีไปซื้อดินถุงปลูก รดน้ำเช้าเย็นปกติ ไม่ได้ใส่ปุ๋ย ปลูกในแบบของเราปกติ เพราะไม่มีความรู้ ได้เก็บกินบ้าง แล้วก็เฉาตายจากแสงแดดที่แรงเกิน เพราะไม่รู้ทักษะการปลูก พออบรมก็ได้เรียนรู้ ได้ทักษะเพิ่ม รู้แล้วว่าต้องทำรดน้ำยังไง กี่วันได้กิน อย่างผักสลัดถ้าเกิน 30 วันจะเริ่มขม อันนี้เราก็ไม่รู้ แต่ก่อนปลูกเรายังสงสัยทำไมมันขม

“อบรมทำให้เราได้ความรู้ ได้พัฒนาตัวเอง ได้ความรู้เรื่องการผสมดิน วิธีทำปุ๋ยหมัก ของเราเพิ่งเริ่มต้นเข้ามาเป็นน้องใหม่ ก็เพิ่งลงมือทำเป็นครั้งแรก พี่สิทธิ์ก็อธิบายดี ให้ความรู้ แนะนำดี สามีเรารับเหมาก่อสร้าง วันอบรมแกเป็นคนทำโต๊ะปลูกผัก เราก็ว่าถ้าทำแบบนี้ก็ดีนะ อาจจะมาดัดแปลงให้เล็กลงจาก 3 เมตร เป็น 1.5 เมตรพอตั้งหน้าบ้าน พื้นที่เล็กๆ ของเราซัก 2-3 โต๊ะ สามารถตั้งตรงโน้นตรงนี้ได้”

ทางด้านชัยสิทธิ์ ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมือง จังหวัดมหาสารคาม แสดงความเห็นต่อชุมชนโพธิ์ศรี 1 ว่า ถือเเป็นตัวแทนภาพของกลุ่มคนเปราะบางและกลุ่มคนเร่ร่อน ขณะเดียวกันก็มองเห็นศักยภาพของแกนนำชุมชนที่มีความคิดเรื่องการปลูกผัก

“เขาพยายามปลูกอยู่ปลูกกิน ด้วยการปรับสภาพพื้นที่ของเขาเอง แม้มีพื้นที่จำกัด ถือว่าเป็นชุมชนที่ตื่นตัวต่อการเรียนรู้ บวกทักษะการเป็นช่างของเขาน่าสนใจ บางคนมาดู 2-3 รอบเอาไปทำก็ยังต้องมาถามอีก แต่นี่ผมอธิบายเขาก็เอาไปทำได้เลย เชื่อมเหล็กได้ ก่อปูนได้ ผมลองให้เขาเตรียมประกอบโครงหนึ่งไว้ก่อนที่ผมจะไป ผู้เข้าอบรมก็ทำไว้ครึ่งหนึ่ง เขาก็ทำไว้ก่อนได้ ความกระตือรือร้นใฝ่รู้ของเขาถือว่าสูง ยังจะตามมาที่สวนดินแลไม้ มาดูการทำดินหมัก มาดูแปลงของผม”

ที่ผ่านมา ถึงแม้ชุมชนโพธิ์ศรี 1 ยังไม่ได้ร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายสวนผักคนเมือง แต่ก็มีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานในโครงการที่เครือข่ายสวนผักคนเมืองได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาค (กสศ.) ด้วยการลงพื้นที่ชุมชนสำรวจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างแผนพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาศูนย์เรียนรู้สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในชุมชน ซึ่งจะบูรณาการงานสวนผักคนเมืองไว้ด้วยกัน

ชัยสิทธิ์กล่าวว่า ระยะแรกของโครงการระหว่างเดือนตุลาคม-กลางธันวาคมนี้ จะเริ่มลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายของแต่ละชุมชนในแต่ละราย ว่ามีข้อจำกัดหรือมีศักยภาพในเรื่องของการปลูกผักอย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อไป

“เราจะให้แกนนำชุมชนแต่ละชุมชนจัดคณะทำงานของชุมชนไปนั่งสัมภาษณ์ ไปคุยกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง จะได้เห็นสภาพของชุมชน จะได้เข้าใจชุมชนของกันและกันได้ จะลงไปทีละรายเลย ไปดูว่าเขากิน เขาเป็นอยู่ยังไง บริบทชีวิตของเขา ตื่นขึ้นมาทำอะไร สภาพพื้นที่เขามีข้อจำกัดหรือว่ามีศักยภาพทำเรื่องปลูกผักยังไง ได้ข้อมูลแล้วก็จะเอามาวิเคราะห์ครัวเรือนของเขาเลยว่า เสริมทักษะครัวเรือนนี้ต้องทำอะไร ข้อจำกัดที่ชุมชนมี เรื่องบางอย่างชุมชนแก้เองได้ บางอย่างจำเป็นต้องช่วยเสริม”