โดยธรรมชาติของพืชผักทุกชนิด หนีไม่พ้นที่จะต้องเจอทั้งโรค แมลง และวัชพืช หรืออาจเรียกโดยรวมว่า “ศัตรูพืช” มาก่อกวน ตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอก กระทั่งเติบโต ผลิใบ ติดดอก และให้ผลผลิต
เหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ภายใต้ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม หรือ “ระบบนิเวศ”
สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในระบบนิเวศเกิดขึ้นได้เพราะมีอีกชีวิตหนึ่งเกื้อหนุน สิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อให้ตัวมันเองเติบโตได้มากกว่าชีวิตอื่น จะมีชีวิตอยู่รอดและเติบโตได้ดี ส่วนที่อ่อนแอก็อาจจะต้องสูญสลายไปในที่สุด
จึงเป็นเรื่องปกติที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งต้องกินสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งเพื่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่กินพืชก็ต้องกินสัตว์ หรือกินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร และสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่กินสิ่งมีชีวิตหนึ่งเป็นอาหาร ก็อาจถูกสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ กินเป็นอาหารต่อกันเป็นทอด ๆ เกิดการถ่ายทอดพลังงานของสิ่งมีชีวิตและการหมุนเวียนของธาตุอาหาร ที่เรียกว่า “ห่วงโซ่อาหาร”
ในห่วงโซ่อาหาร สิ่งมีชีวิตต่างมีบทบาทเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย
# ผู้ผลิต ได้แก่ พืชสีเขียวทุกชนิด สาหร่าย และแบคทีเรียบางชนิด ถือเป็นต้นทางของห่วงโซ่อาหาร เพราะมันสามารถสร้างอาหารได้ด้วยตัวเองโดยอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์
# ผู้บริโภค กลุ่มนี้ไม่สามารถสร้างอาหารได้ ต้องอาศัยกินสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร ในกลุ่มที่กินพืช เช่น ช้าง ม้า วัว กระต่าย กลุ่มที่กินสัตว์ เช่น เสือ สิงโต งู หมาป่า ฉลาม เต่าทะเล กลุ่มที่กินทั้งพืชและสัตว์ เช่น มนุษย์ สุนัข แมว นก หนู ไก่ ลิง และกินทั้งซากพืชซากสัตว์ เช่น แร้ง ไส้เดือนดิน ปลวก
# ผู้ย่อยสลาย ได้แก่ ไส้เดือน และจุลินทรีย์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นจำพวกแบคทีเรีย เห็ด รา ยีสต์ โดยตัวมันเองไม่สามารถสร้างอาหารได้ ต้องอาศัยกินซากของสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร โดยการผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยสลายแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของซากสิ่งมีชีวิต แล้วกลับลงไปในดินคืนสู่ระบบนิเวศ หมุนเวียนต่อไปไม่รู้จบ
ปัจจุบัน วิธีการควบคุมศัตรูพืชที่นับว่ามีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยทั้งต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค และไม่ทำลายระบบนิเวศ เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรไทยและหลายประเทศทั่วโลกที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี คือ การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี หรือวิธีชีวภาพ
วิธีดังกล่าวเป็นวิธีการประยุกต์นำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติที่เรียกว่า “ศัตรูธรรมชาติ” มาควบคุมศัตรูพืชตามกลไกห่วงโซ่อาหาร เพื่อลดจำนวนศัตรูพืชลงให้คงเหลือในปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ไม่ถึงกับต้องกำจัดหรือทำลายสิ้นซากแบบที่วิถีเคมีทำ
วิธีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีที่แพร่หลายในขณะนี้คือการนำเชื้อจุลินทรีย์มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช หรือ “ชีวภัณฑ์” เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส หรือบีเอส และในกลุ่มจุลินทรีย์กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อไวรัสเอ็นพีวี ไส้เดือนฝอยสไตเนอร์มา เป็นต้น
การใช้ชีวภัณฑ์เป็นหนึ่งในวิธีการควบคุมศัตรูพืชแบบผสมผสาน ที่เกษตรกรมักใช้ร่วมกับวิธีการอื่น ๆ ได้แก่
- การปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อให้พืชเจริญเติบโต แข็งแรง ทนทานต่อศัตรูพืช ได้แก่ การปรับสภาพดิน การไถพรวน ปรับหน้าดินขึ้นตาก การกำจัดวัชพืช การปลูกพืชหมุนเวียน การตัดแต่งกิ่ง การปลูกพืชผสม
- การใช้อุปกรณ์ และเครื่องมือควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีง่าย ๆ ได้แก่ จับทำลายโดยใช้มือ การใช้มุ้งคลุมแปลง การใช้กับดักทั้งกรงดักและตาข่าย การใช้เครื่องยนต์ เช่น เครื่องจับตั๊กแตน เครื่องดูดแมลง
- การใช้วิธีการหรือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น ความร้อน แสง เสียง ในการไล่ ล่อ ฆ่า ได้แก่ เครื่องมือทำเสียงเพื่อให้เกิดคลื่นเสียงความถี่ต่ำไล่แมลง การใช้ความร้อนด้วยการนำดินมาอบสำหรับกำจัดศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในดิน
- เทคนิคการใช้แมลงเป็นหมัน โดยแมลงเป็นหมันจะไปผสมพันธุ์กับแมลงในธรรมชาติ ทำให้ไข่ที่ออกมาฝ่อไม่สามารถฟักเป็นตัว ลดการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืชด้วยแมลงที่เป็นหมันชนิดเดียวกัน
- การใช้สารธรรมชาติ เช่น เมล็ดสะเดา ตะไคร้หอม พลูป่า หรือวิธีปลูกเพื่อขับไล่ เช่น การปลูกต้นดาวเรืองเพื่อใช้ขับไล่ไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดรากปมของพืชผัก การปลูกต้นหอมเพื่อขับไล่เชื้อราและแบคทีเรียโรคพืชที่อยู่ในดิน และต้นผักกาดป่าใช้คลุกดินเพื่ออบทำลายเชื้อโรคพืชที่อยู่ในดิน
การเข้าใจธรรมชาติและวงจรชีวิตของศัตรูพืช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จะเป็นผลดีสำหรับเกษตรกรและชาวสวนผักคนเมืองทุกคน เพื่อเลือกวิธีการควบคุมศัตรูพืชได้ถูกวิธี และเพื่อให้ทุกขั้นตอนการเพาะปลูกเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด-ได้ผลดีที่สุด