ชุมชนเทพารักษ์ 5 ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย มีสวนผักริมรั้วรถไฟที่ชาวสมาชิกชุมชนเคยช่วยกันก่ออิฐทำแปลงปลูกเมื่อไม่กี่เดือนก่อน วันนี้พืชผักที่ปลูกไว้กำลังให้ผลผลิตอย่างอุดมสมบูรณ์ นอกจากจะทำให้บรรดาผู้ปลูกได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปใช้ประโยชน์แล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจและความปลาบปลื้มให้แก่ชาวชุมชนอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นต้นหอม แตงกวา กล้วย มะละกอ มะรุม ตะไคร้ ข่า มะเขือเปราะ ฟักทอง มะนาว อัญชัน และวอเตอร์เครส ต่างเริ่มผลิดอกออกผลให้ทยอยเก็บกินอย่างปลอดภัยแล้ว
- พัฒนาจากปัญหา
ชุมชนเทพารักษ์ 5 เป็นหนึ่งในเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนโนนชัย 1 ที่ต้องทำทั้งเรื่องการจัดการขยะและสวนผักคนเมืองควบคู่กันไป โดยมีสุทธาทิพย์ แลหน้า อดีตข้าราชการสาธารณสุขชุมชน ทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้คำปรึกษา
สุทธาทิพย์เล่าว่า ชุมชนเทพารักษ์ 5 จัดเป็นชุมชนแออัด มีสมาชิกเกือบร้อยครัวเรือน โดยเช่าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย สำหรับอยู่อาศัยเป็นรายปี ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดมาเช่าบ้านราคาถูกและหาที่อยู่อาศัยใกล้กับที่ทำงาน อาชีพของคนส่วนใหญ่คือรับจ้างทั่วไปตามโรงงาน ปัญหาในชุมชนนับว่ามีหลายด้าน
“เราขอจัดการเรื่องขยะก่อน เนื่องจากชุมชนที่นี่มีขยะเกลื่อนกลาด คนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ประชาชนก็ไม่ใส่ใจ เป็นปัญหาที่หนักกว่าเรื่องอื่น ซึ่งชุมชนจัดการได้ดีมาก มีการรณรงค์นัดเวลาทิ้ง และนัดเวลาเก็บ เพราะในชุมชนจะไม่มีถังขยะ หลังจัดการพื้นที่ให้สะอาดแล้ว ก็เริ่มให้ความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย และสารเคมีตกค้างในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนอยากปลูกผักไว้กินเอง”
สุทธาทิพย์ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่ตัวเธอเองรับราชการก็ทำงานด้านอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว และมีประสบการณ์ตรงในเรื่องปัญหา เนื่องจากเวลาลงพื้นที่ตรวจผักมักพบสารเคมีและยาฆ่าแมลงตลอด
- ผ่านการเริ่มต้นแบบไม่ได้ผลนัก
สุทธาทิพย์เริ่มดำเนินการสนับสนุนชุมชนเทพารักษ์ 5 ให้ปลูกผักตั้งแต่ในช่วงที่ยังรับราชการ
“เราใช้สูตรหมักดิน หมักปุ๋ย เป็นสูตรที่ได้จากนักวิชาการของทางเทศบาลที่เชิญมาอบรมให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการปลูกผัก แต่พบปัญหาดินแข็ง ผักไม่งาม และต้นแคระแกร็น คือไม่ได้จริง ๆ ตลอด 5 ปีที่ทำใช้สูตรของเทศบาล เลยได้ผลน้อย หรือเราจะทำผิดสูตรก็ไม่รู้ เราเลยต้องขวนขวายหาประสบการณ์ หาความรู้เรื่องดิน เรื่องปุ๋ย”
ด้วยความตั้งใจที่จะให้ชุมชนเกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าพืชผักที่ปลูกจะงอกงาม เมื่อมีคนมาชักชวนให้เข้าร่วมอบรมสวนผักคนเมืองที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ที่ศูนย์ประชุมบ้านชุมแซง จังหวัดมหาสารคาม สุทธาทิพย์จึงเข้ารับการอบรมครั้งนั้น และนำความรู้มาทดลองปลูกเองที่บ้านด้วย เป็นการทดลองทำพร้อม ๆ กับชุมชน ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีมาก
สิ่งที่ปลูก อาทิ ชะพลู ว่านหางจระเข้ พริก มะเขือพวง ข่า มะนาว กระชาย ขิง กะเพรา เป็นต้น
“เป็นการอบรมสวนผักคนเมืองเรื่องฮอร์โมน การหมักดินจากดินเหนียวแล้วมันร่วน ได้มะเขือมา 4 ต้น กับดิน 1 ถุงทดลองปลูกที่บ้าน ผลคืองามมาก เรารู้สึกตื่นเต้น เริ่มจัดอบรมให้กับกรรมการสภาชุมชน 20 คนก่อน รับรองกับเขาว่าได้ผลแน่นอน”
ตัวสุทธาทิพย์เองชัดเจนว่า เมื่อหันมาใช้สูตรที่ไปอบรมสวนผักคนเมืองแล้วก็เห็นผลมากขึ้น แต่ประเด็นก็คือ ชุมชนยังคงไม่มีความมั่นใจว่า แล้วผักที่ปลูกจะเติบโตงอกงามหรือไม่
“ช่วงแรกที่บ้านใช้ประชุมคณะกรรมการเพื่อให้เขาเห็น มาสักครั้งสองครั้ง นอกนั้นเราลงพื้นที่ เป็นกุศโลบายทำให้เขาดู ไม่อย่างนั้นจะสอนคนไม่ได้ ต้องมีประสบการณ์ เขาเกิดความมั่นใจอยากทำ ซึ่งปีที่แล้วปลูกมันงามได้ระยะหนึ่ง” สุทธาทิพย์เล่าถึงวิธีสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิกชุมชนเทพารักษ์ 5
- ประสบปัญหาแปลงถูกทำลาย
กระทั่งต่อมา การรถไฟฯ อนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่บริเวณรางรถไฟใต้ทางยกระดับเพื่อทำแปลงปลูกผักได้ สวนผักของชุมชนเทพารักษ์ 5 จึงเกิดขึ้น แต่แล้วกลับเกิดปัญหาที่ทำให้ชาวชุมชนหมดกำลังใจอีกครั้ง จากการมีคนจรจัดมาทำลายแปลงผักเสียหาย แต่สุทธาทิพย์แนะนำให้ชุมชนแก้ปัญหาด้วยการใช้พื้นที่ชิดริมรั้วรถไฟฝั่งบ้านเรือนของชุมชนทำแปลงปลูกผักแทน
“แรก ๆ เขาทำแปลง ทำเป็นแปลงๆ สวยงาม แต่ปัญหามีคนจรจัดเวลาเมายา-เมาเหล้า เข้าไปทำลายแปลง พังรั้วเข้าไป เอาผักไป เราก็แนะนำให้ปลูกที่รั้ว ใช้รั้วด้านในบ้านเลย เขาก็โอเค ไปซื้ออิฐ ซื้อดินมาประกอบ ส่วนกระถางให้ปลูกตามบ้าน หน้าบ้าน ข้างบ้าน เพราะเขาไม่มีที่ดิน พื้นที่จำกัดมากๆ ต้องใช้รั้วรถไฟก่ออิฐ หมักดิน ผสมดิน”
- ตั้งเป้าเป็นต้นแบบการปลูกผักของชุมชนแออัด
เมื่อมาถึงวันนี้ที่สวนผักคนเมืองในชุมชนเทพารักษ์ 5 ให้ผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวมาใช้ประโยชน์ได้ ความเหนื่อยยากและอุปสรรคที่เคยเผชิญก็เหมือนจะกลายเป็นเรื่องถูกลืมและมองข้ามไปได้ ซึ่งสุทธาทิพย์ยืนยันว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนมากขึ้นด้วย
“มันได้ผลดี อะไรก็งามไปหมด เขาก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้น เขาตื่นเต้นและดีใจ จะถ่ายรูปส่งมาให้เราดู บางทีออกดอกงาม เขาจะบอกกันว่า อย่าเพิ่งเก็บ ให้หมอทิพย์มาถ่ายรูปก่อน”
นอกเหนือจากการเป็นพี่เลี้ยงชุมชนเทพารักษ์ 5 สุทธาทิพย์ยังเป็นพี่เลี้ยงของชุมชนบะขาม ซึ่งเป็นชุมชนเมืองอีกแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยที่ชุมชนบะขามมีความเป็นชุมชนเมืองลักษณะที่มีทั้งอพาร์ตเมนต์และบ้านเช่า
สุทธาทิพย์บอกเล่าว่า ในผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับชุมชนเทพารักษ์ 5 จึงมีชุมชนบะขามเฝ้ามองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและรอคอยที่จะทำโครงการในปีหน้า
ส่วนชุมชนเทพารักษ์ 5 เองกำลังมีแผนจะขยายไปในระดับครัวเรือนให้มากขึ้น ปลูกผักให้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งขยายแปลงปลูกผักบริเวณรางรถไฟขึ้นใหม่อีกรอบ ซึ่งชุมชนเริ่มถางหญ้า ทำแปลง และทำรั้วไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงผัก ตัวเธอเองได้แนะนำให้ชุมชนหาวิธีป้องกันตัวเอง กรณีที่มีคนเมายาไปทำลายรั้ว ทั้งนี้ สุทธาทิพย์คาดหวังให้ชุมชนเทพารักษ์ 5 เป็นต้นแบบให้กับชุมชนแออัดอื่น ๆ ต่อไป
“อยากให้เขาเป็นต้นแบบการปลูกผักของชุมชนแออัด ชุมชนในเมืองที่ทำยาก ๆ คนเขาไม่อยากจะทำกัน ก็คุยกับประธานชุมชนอยู่ ประธานบอกเป็นไปได้ ต้องคุยกับทีมงานก่อน เพราะว่าปีนี้เราเริ่มต้นดีแล้ว แนวรางรถไฟยาวเลย ประมาณ 6-7 ชุมชน อยากให้เขาทำไปยาวๆ เลย ตลอดรางรถไฟจะสวยมาก”









