สวนผักคนเมืองมหาสารคาม ปักหมุดสร้างศูนย์การเรียนรู้สวนผักคนเมือง ชุมชนตักสิลา 1

“อยากมีพื้นที่สำหรับคนในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ได้มาพบปะพูดคุยกันเรื่องการปลูกต้นไม้ และมีส่วนร่วมทำกิจกรรมในชุมชน รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง 3-4 หลังที่อาศัยอยู่ท้ายๆ ชุมชนก็อยากจะดึงเข้ามาร่วมทำกิจกรรม เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการมั่วสุมไปในทางที่ไม่เหมาะสม” พลฤทธิ์ ระภาพันธ์ ประธานชุมชนตักสิลา 1 บอกเล่าถึงเป้าประสงค์ในการที่จะผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้สวนผักคนเมือง ภายในชุมชนตักสิลา 1 ภายหลังจากที่ได้เข้าร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง ชุมชนเมืองมหาสารคาม มาระยะหนึ่งแล้ว

คำพูดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การปลูกผักนั้นได้ผลประโยชน์ตอบกลับกว้างขวางมากกว่าผักไปไกลมากมายนัก…

ทั้งนี้ สภาพของชุมชนตักสิลา 1 มีความเป็นเมืองสูง เต็มไปด้วยกิจการหอพัก ร้านถ่ายเอกสาร บ้านเรือน และอาคารพาณิชย์ ซึ่งต่างก็มีพื้นที่จำกัด ทำให้ชุมชนนี้ไม่มีการทำกิจกรรมด้านการเกษตร อย่างไรก็ตาม ภายในพื้นที่ชุมชนมีที่รกร้างว่างเปล่าอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงแต่ไม่ได้เป็นของคนที่อาศัยในชุมชน

ประธานชุมชนตักสิลา 1 เล่าถึงประเด็นนี้ว่า “ส่วนใหญ่ซื้อทิ้งไว้ไม่ได้อยู่ หลักๆ เป็นของลูกหลานอาจารย์ เพราะที่แถวนี้อยู่ระหว่างวิทยาลัยพลศึกษากับราชภัฏมหาสารคาม เจ้าของที่ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ และส่วนใหญ่ทำธุรกิจหอพัก ไม่มีใครทำไร่ทำสวน”

ส่วนชัยสิทธิ์ แนวน้อย ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมือง ชุมชนเมืองมหาสารคาม บอกเล่าว่า เป็นความตั้งใจของคณะทำงานชุมชนตักสิลา 1 และในฐานะคณะกรรมการชุมชนตักสิลา 1 ต้องการจะผลักดันศูนย์การเรียนรู้สวนผักคนเมือง เพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์และเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้นจุดเริ่มต้นจึงได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่ที่สามารถทำแปลงปลูกผัก จนในที่สุดก็ได้ตกลงเลือกที่ดินรกร้างติดกับศาลาอเนกประสงค์ เพื่อทำศูนย์การเรียนรู้สวนผักคนเมือง

พลฤทธิ์เล่าถึงเหตุผลในการเลือกพื้นที่ดังกล่าวว่า เนื่องจากน้ำสำหรับรดต้นไม้ต้องเป็นน้ำประปา กรรมการชุมชนที่ดูแลกองทุนเงินล้าน จึงเสนอพื้นที่รกร้างติดกับศาลาอเนกประสงค์ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้น้ำประปาจากศาลาอเนกประสงค์ได้

“หากใช้พื้นที่อื่นจะเป็นการลำบากในการขอใช้น้ำประปา สำหรับค่าใช้จ่ายน้ำประปามาจากเงินกองทุนเงินล้าน เป็นกำไรจากการให้ยืมอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนที่รกร้างนี้มีพื้นที่ประมาณ 90 กว่าตารางวา เดิมเป็นสวนมะนาวเก่าถูกปล่อยทิ้งร้าง เจ้าของต้องการขาย โดยติดประกาศขายไว้นานแล้ว เข้าใจว่าไม่มีเวลามาดูแล และปล่อยให้หลานที่อายุ 60 กว่าปีแล้วเป็นผู้ดูแล”

เมื่อเลือกพื้นที่กันแล้ว จากนั้นจึงได้เจรจากับเจ้าของที่ดิน ผลคือเจ้าของอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้

“จากการพูดคุยเจ้าของที่ อนุญาตให้ทำได้เต็มที่ เพราะอยากเปิดพื้นที่ให้โล่ง เผื่อว่าจะประกาศขาย เพราะเจ้าของยังมีความคิดที่จะขาย ศูนย์ฯ ก็อาจจะไม่ถาวร แต่ก็น่าจะทำได้เป็นปี ก่อนขายเราขอทำศูนย์ฯ ก่อน ถึงแม้จะขายที่ได้ก็ไม่รู้สึกกังวล เพราะในชุมชนยังมีที่แปลงอื่นที่รกร้างอยู่อีกมาก” พลฤทธิ์กล่าว

สำหรับการปรับสภาพพื้นที่รกร้าง พลฤทธิ์บอกเล่าว่ามีความจำเป็นต้องปรับใหม่พอสมควร เนื่องจากพื้นที่เดิมยกร่องเป็นแถวยาวๆ ปลูกต้นมะนาว “ซึ่งแปลงจะอยู่แนวขวางทางตะวันออก วันก่อนได้ถางที่เข้าไปลึกจาก 10 กว่าเมตร เป็น 20 กว่าเมตรแล้ว ต้องถอนต้นมะนาวออกบางส่วนด้วย”

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา เมื่อมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อบรมฝึกการเป็นวิทยากรโครงการสวนผักคนเมือง ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาอเนกประสงค์ของชุมชนตักสิลา 1 กิจกรรมหนึ่งที่ได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมกันดำเนินการก็คือการออกแบบแปลงผักในพื้นที่ดังกล่าว

ชัยสิทธิ์เล่าถึงกิจกรรมในวันนั้นว่า “เราชวนคนที่เข้าอบรมลงไปดูพื้นที่จริง แล้วแบ่งกลุ่มพูดคุย นำความรู้ที่ได้จากวิทยากรมานั่งวิเคราะห์ คำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่เรียนมา และช่วยกันออกแบบ เสนอกันดูว่า แปลงที่ควรจะมีในพื้นที่ควรจะเป็นอย่างไร เช่น หลายกลุ่มแนะนำว่า ควรทำโรงเรือน หรือโรงเก็บปุ๋ยไว้ด้านในสุด อีกทีมก็บอกว่าควรเอาไว้ด้านนอกหรือด้านหน้า ก็อภิปรายกันว่า ระหว่างไว้ด้านในกับด้านนอกดีหรือไม่ดียังไง เช่น ด้านในไม่ดีคือ เขาต้องเหนื่อยมากในการแบกปุ๋ยเดินผ่านแปลงตลอด แต่ถ้าไว้ด้านนอกก็มีโอกาสหายได้ หรือทางเดินจะอยู่ตรงกลางหรือรอบแปลง ก็อภิปรายกัน แต่พอทำจริงๆ อยู่ที่คณะทำงานชุมชนตักสิลา 1 ตัดสินว่าแบบไหนเหมาะ ส่วนเรื่องการปลูกผักก็อาศัยความรู้จากที่อบรม ว่า ถ้าเป็นผักกินใบไม่ต้องการแสงมากควรจะอยู่กับต้นมะนาวที่มีอยู่ เช่น ต้นผักชีฝรั่ง ชะพลู”

ทางด้านพลฤทธิ์เล่าถึงผลการออกแบบว่า “รูปแบบแปลงที่ผู้เข้าอบรมร่วมกันเสนอคือทำแปลงทั้งสองฝั่งเหนือใต้ ฝั่งละ 5 แปลง เว้นที่ไว้ตรงกลางสำหรับทางเดิน เราก็เลือกทำแปลงด้านหน้ากว้าง 8 เมตร ลึก 10 เมตร ทางเดินตรงกลางเหมือนกับเดินทะลุ ด้านหน้าจะปลูกต้นไม้เตี้ยๆ โล่ง ๆ เป็นการโชว์สวน พื้นที่อีกด้านจะติดกับหอพัก โชคดีที่เจ้าของหอพักเป็นกรรมการชุมชน ช่วงเช้าก็จะช่วยดูแลรดน้ำต้นไม้ให้ หลังจากทำแปลงเสร็จจะเริ่มวางระบบน้ำ โดยต่อน้ำประปาที่อยู่ตรงกำแพงศาลาอเนกประสงค์ ช่วงนี้ใช้วิธีเวียนให้กรรมการชุมชนผลัดเวรกันมาช่วยกันรดน้ำไปก่อน ด้านแปลงผักที่ติดกับศาลาอเนกประสงค์ ซึ่งในวันอบรมช่วยกันปลูกต้นผักชีฝรั่งในกระถาง แต่เนื่องจากแดดแรงมาก จึงทำการย้ายลงมาปลูกบนแปลงที่พื้นร่วมกับต้นสะระแหน่ และปลูกต้นกล้าผักชีธรรมดาในกระถางแทน”

ส่วนพืชผักที่จะนำมาปลูกในแปลงพื้นที่รกร้างนี้ พลฤทธิ์เผยว่า ตั้งใจปลูกผักที่นำมารับประทานได้เลย เช่น คะน้า ผักกาดขาว เนื่องจากผักประเภททำเครื่องปรุง อย่างเช่นต้นหอม ผักชี ปลูกกันมากแล้ว ทั้งนี้ คาดว่า เมื่อมีการจัดอบรมรอบ 2 ของชุมชนตักสิลา 1 ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ทั้งเรื่องการออกแบบแปลงและการปรับพื้นที่น่าจะทำเสร็จแล้ว รวมทั้งคิดเรื่องการวางระบบน้ำแบบติดตั้งเวลา และโรงผสมดินทำปุ๋ยไว้ใช้เอง

“ถึงวันนั้น ศูนย์ฯ น่าจะเป็นรูปธรรม และจะมีชาวบ้านมาร่วมอบรมด้วย และอยากจะนำโครงการบริโภคเน้นปลูกพืชผักสวนครัวปลอดภัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจะทำกิจกรรมให้ชาวบ้านปลูกผักตามบ้าน มาผสมผสานกับโครงการสวนผักคนเมือง” พลฤทธิ์อธิบายถึงแผนการที่วางไว้และคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น

“อยากจะให้ชาวบ้านมาช่วยทดลองปลูกในศูนย์ฯ ด้วย เราจะนำ 2 โครงการมาผสมผสานกัน เราเน้นความเป็นศูนย์ฯ อนาคตถ้าปลูกได้มากถึงขนาดขายได้ก็ขาย เนื่องจากชุมชนข้างๆ หน้าโรงเรียนศรีสวัสดิ์ ทุกวันอาทิตย์กับวันพุธมีตลาดเขียว เป็นกลุ่มพี่ๆ จากบ้านหนองโจก เขาขนมาตั้งไกล แต่ของเราขี่มอเตอร์ไซด์ ปั่นจักรยานไปขายได้เลย คือเวลาที่เทศบาลจัดงานทีก็จะถามว่าชุมชนมีอะไรมาขาย ทำสิ ทำผลิตภัณฑ์ในชุมชน เราก็อยากมีของเรา แต่แทบไม่มี เพราะต่างคนต่างก็ประกอบอาชีพอยู่แล้ว ยังไม่มีเวลาทำ ยังไม่มีความรู้ พอเจอแมลง เดี๋ยวฝนตก ทำไมใบมันหงิกงอก็ท้อแล้ว ขนาดหาแดดต้องยกไปยกมาจนคนที่บ้านบอกจะย้ายอะไรนักหนา”

แม้ภาพฝันข้างต้นยังต้องรอลุ้น แต่ก็ใช้เวลาอีกเพียงไม่นาน อีกทั้งก้าวแรกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และมีแผนการต่อเนื่องอย่างชัดเจน ดังนั้น เชื่อได้ว่า ศูนย์การเรียนรู้สวนผักคนเมือง ชุมชนตักสิลา 1 จะเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างแน่นอน