Covid-19 ที่ส่งผลให้คนเมืองเลือกสวนผักบำบัดใจ

ชีวิตเราพอมาปลูกผักมันเปลี่ยนไปเลย มีความสุขมากขึ้น เวลาเครียดเราชอบมาดูต้นไม้ ระหว่างเราดูเราก็พรวนดินไปด้วย แล้วก็ตกแต่งใบ ถอนหญ้าไปด้วยพื้นที่เกษตรเมืองมัน ไม่ได้เยอะจนถึงขั้นทำไม่ไหว


คุณพัชรินทร์ ณ เชียงใหม่ หรือคุณใหม่ อายุ 35 ปี เจ้าของร้าน ฟาร์มล้านผัก ผักอินทรีย์ ใน ตลาดยายถม ต.ไทรม้า อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เธอเป็นเกษตรกรในพื้นที่เมือง โดยเริ่มต้นปลูกผักอินทรีย์หลังจาก สถานการณ์covid-19 ซึ่งเธอมีเป้าหมายที่ปลูกผักอินทรีย์เพื่อบริโภคและขายสร้างรายได้ โดยใช้พื้นที่ว่างในบริเวณ บ้านทาวน์โฮม เพียง 4 x 5 ตารางเมตร และเน้นปลูกผักที่ได้รับความนิยมซึ่งเธอเองก็ชอบด้วย เธอเน้นผักเคล หลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่ 1.เคลใบหยิก 2.เคลไดโนเสาร์ 3.เคลยัก 4.เคลรัสเซี่ยน 5.เคลแดชลิ่งบลู และยังมีผักอื่นๆ เช่น สวิทช์ชาร์จ โรสแมรี่ ใบงาญี่ปุ่น วอเตอเคส บีทรูท ฯลฯ

“แต่ก่อนเราอยู่คอนโด ชอบปลูกต้นไม้ ปลูกที่ระเบียงเล็กๆ ตอนนั้นเราปลูกแค่สวยงาม แต่พอช่วงโควิดมีการโยกย้ายเปลี่ยนงานจนต้องมาเริ่มชีวิตใหม่ที่นนทบุรี ทีนี้เราขนต้นไม้มาด้วย เราเลยคิดว่าจะปลูกอะไรเพิ่มที่มันกินได้ มีประโยชน์ด้วย เรามีโอกาสเปลี่ยนอาชีพมาขายผักสลัดอินทรีย์ที่รับมาจากภาคเหนือ จึงเป็นสิ่งที่เรามาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเริ่มปลูกผักเคลขายให้คนเมืองกิน”

จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คุณใหม่ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบต้องเปลี่ยนแปลงงานซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิต จากเดิมใช้ชีวิตในคอนโด เป็นพนักงานออฟฟิศ ทำงานแถวสุขุมวิท ต้องย้ายมาอยู่ทาวน์โฮมชานเมืองบริเวณนนทบุรี และตัดสินใจเริ่มต้นอาชีพเป็นแม่ค้าขายสลัด ซึ่งเกิดจากการที่คนรู้จักได้ขายกิจการร้านผักสลัดออแกนิกส์ที่รับผลผลิตมาจากไร่สวนในหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือ

คุณใหม่เริ่มต้นอาชีพใหม่ด้วยการขายผักอินทรีย์ที่ปลูกในดิน และมาเปิดขายในตลาดสดในราคาที่ถูกกว่าห้างถือว่าไปได้ดี เพราะมีผู้บริโภคในพื้นที่ที่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวมาซื้อและกลายเป็นลูกค้าประจำ เวลาสั่งก็จะสั้งทีละจำนวนมาก การขายผักอินทรีย์ทำให้คุณใหม่มีความสุขที่ได้ขายผักให้คนที่ต้องการรักษาตัวเอง บางคนไม่สามารถทานเนื้อสัตว์ได้ หรือมีความต้องการผักจำนวนมากเพื่อรักษาร่างกาย ซึ่ง #ผักเคล กลายเป็นผักที่ลูกค้าเมืองนิยมมาก และทำให้คุณใหม่ได้พบว่าการสั่งผักอินทรีย์ที่ไกลจากผู้บริโภคทำให้มีต้นทุนสูงมาก จึงทำให้เริ่มที่จะปลูกผักในพื้นที่บ้านทาวน์โฮมเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มาสั่งจากร้านของตน

“มีวันหนึ่งลูกค้าโทรมาถามว่ามีเคลไหม ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักเคลมากนัก แต่ลูกค้าอยากได้เคลเพราะเขาป่วยมากเดินไม่ได้ เป็นผู้สูงอายุล้มแล้วกระดูกหัก แต่ลูกค้ามีความรู้ ก็มาบอกเราถึงสรรพคุณของผักเคลอินทรีย์ บอกว่า #ผักเคล มันช่วยเรื่องการดูแลกระดูกนะ แล้วก็มี #แคลเซียมที่สูงมากกว่านม เพราะเขากินนมไม่ได้ เราก็สนใจเราจึงไปสรรหาแต่การจัดหาเคลสั่งจากพื้นที่สูงจากดอยภูดาวขนส่งราคาแพงมากแต่ก็ยังต้องสั่งมาในราคาสูง จึงทำให้เราสนใจที่จะลองปลูกเองเพื่อกินเอง จนมันสำเร็จเหลือขายให้ลูกค้าได้”

การปลูกไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องชอบ เราต้องรู้จักเค้าในแต่ละชนิด

“การปลูกผักเหมือนเราเลี้ยงแมว เลี้ยงหมา เราต้องมีเวลาให้เค้า ต้นไม้เค้าทำให้เราผ่อนคลาย เวลาเราเลี้ยงเค้าเราต้องให้เวลาเค้า ใส่ปุ่ยบ้าง ดินบ้าง รดน้ำตอนเช้า ดูตอนเย็น ต้องดูแลกัน”

ตอนเริ่มปลูกแรกๆก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทันที เราเริ่มเดินทางไปตามแปลงเกษตรอินทรีย์ที่เขาทำสำเร็จ ศึกษาจาก youtube ลองเมล็ดพันธุ์หลายที่หลายแหล่ง จนเราเห็นว่า ผักที่เราปลูกเขามีความชอบดินแบบไหน แดดแบบไหน น้ำแค่ไหน อย่างเคลเรามาศึกษาว่าพันธุ์ไหนทนต่อสภาพอากาศในบ้านเรา บางครั้งหนอนเค้าลงเราก็ต้องไปหยิบออกเอาไปทิ้งที่อื่น เราไม่ฆ่านะ หลังๆเราก็เริ่มทำ #จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสีแดง หลังๆเราก็ทำดินผสมเอง เรามีเศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร เราก็เอาเศษผักมาทำปุ๋ย เคลเป็นอะไรที่ไม่ชอบน้ำเขาใส่ตระกร้าใหญ่หน่อย หลังๆทำดินเองผักเราก็สวยงาม เคลเขาไม่ใช่พืชล้มลุกเราตัดใบขายได้ 2-3 ปี ตัดไปเรื่อยกินไปเรื่อยๆ เราเลยเลือกเคล อย่าง สวิทช์ชาร์จ มีทั้งประโยชน์ สวยงาม เราก็ปลูกเป็นไม้ประดับด้วย ปลูกกินด้วย เค้ามีสีแดง สีเหลือง สีส้ม สีชมพู เห็นแล้วมีความสุขในตลาดก็ไม่มีขายด้วย ทุกวันนี้เวลาผักเราโตก็มีคนจองมาขอซื้อ รอที่จะซื้อเวลาเราตัด เรามีความสุขมาก

“การที่เราขายสิ่งที่มีประโยชน์ให้คนอื่นเรามีความสุขค่ะ การปลูกผักที่ยั่งยืน คือ 1.อย่าปลูกผักเพียงเพราะทำตามคนอื่น 2.ปลูกที่เราชอบ 3.ปลูกแล้วเห็นประโยชน์ หลายครั้งปลูกแล้วตายก็ไม่ไร ปลูกแล้วหนอนลงมันแทะไงผักเราอร่อยไงไม่มีสารเคมี”

คุณใหม่แจก สูตรปั่นน้ำผัก เพื่อสุขภาพสูตรนี้สำหรับให้คนเปิดใจยอมทานผักมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในครอบครัว 1.ผักเคล + 2.สัปปะรด+3.อะโวคาโด+4.น้ำเปล่าสะอาด

สุดท้าย คุณใหม่อยากให้คนที่อ่านลองปลูกผักเพื่อค้นพบว่าตัวเองชอบรึเปล่า อย่าเห็นเพียงความสำเร็จคนอื่น และไม่แนะนำให้ลาออกมาเพื่อทำเกษตรทันที ควรเริ่มจากการดูแลในพื้นที่เล็กๆ ดูว่าตัวเรากับผักเค้าเป็นอย่างไรไปด้วยกันได้ไหม ถ้าเรามีความสุข เรามีความชอบ เราอยู่กับเค้าได้ดีก็จะพบคำตอบในตัวเองค่ะ

สวนผักคนเมือง #ทาวน์โฮม #เคล #kale