แนวคิดเกษตรอินทรีย์ Vandana Shiva ผู้ได้ชื่อว่าเป็นมหาตมะคานธีของธัญพืช

เวลาที่คนส่วนใหญ่กล่าวถึงเกษตรอินทรีย์นั้น ผู้คนมักจะถกเถียงกันในเชิงเทคนิค วิธีการ หรือผลผลิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่เพียงแค่การทำงานด้านวิธีการเพาะปลูกพืช แต่คือการเปลี่ยนวิธีการหรือสร้างทางเลือกใหม่ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากผลกระทบจากวิธีการปลูกพืชและผลิตอาหารที่ไม่คำนึงต่อผลกระทบของระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวที่จะสร้างอาหารที่ดี สังคมที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดีทั่วโลก

“Organic farming is not just a different way of growing crops,it is a different way of thinking” -Vandana Shiva- 

วันทนา ชีวา (Vandana Shiva ) นักวิชาการชาวอินเดีย นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “มหาตมะคานธีของธัญพืช” (Gandhi of grain) ซึ่งเธอเป็นผู้สนับสนุนอธิปไตยทางอาหาร สตรีนิยมเชิงนิเวศน์ และนักเขียนต่อต้านโลกาภิวัฒน์

ในปี 1991 เธอได้ก่อตั้ง Navdanya ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวระดับชาติเพื่อปกป้องความหลากหลายและความสมบูรณ์ของทรัพยากรที่มีชีวิต โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง การส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และการค้าที่เป็นธรรม ในปี 2004 นิตยสารไทม์ได้ขนานนาม ดร.ชีวา ว่าเป็น “ฮีโร่ด้านสิ่งแวดล้อม” ในปี 2003 และ Asia Week ได้เรียกเธอว่าเป็นหนึ่งในผู้สื่อสารที่มีอิทธิพลที่สุดห้าคนในเอเชีย และนิตยสาร Forbes ในเดือนพฤศจิกายน 2010 ได้ระบุวันทนา ชีวา เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดเจ็ดคนบนโลก

วันทนา เน้นย้ำเสมอเรื่องแนวคิดของการสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และการมองว่า พืช GMOs จะสร้างผลกระทบต่อมนุษยชาติในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ ไปจนถึงโรควิบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมองธรรมชาติใน ลักษณะเชิงเดี่ยว หมายถึงการที่ไม่มองผลกระทบหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ฉะนั้น เวลาพูดถึงเกษตรอินทรีย์ จึงไม่สามารถ กล่าวเพียงแค่ “ผลผลิตเท่านั้น” แต่เราต้องมองว่าประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์ จะส่งเสริมสุขภาพดิน ลดมลพิษทางอากาศ อนุรักษ์แม่น้ำ ลำคลอง และสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ

อุปสรรคของการทำเกษตรอินทรีย์อาจจะมีความยากลำบากในการควาบคุมแมลง และโรคพืช และผลผลิตอาจมีความผันแปลเนื่องจากสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่นวัตกรรมและความรู้ปัจจุบันก็มีการแลกเปลี่ยนความรู้มากมาย

สิ่งสำคัญคือรัฐบาล และผู้บริโภคต้องเห็นความสำคัญ ว่าสิ่งที่สนับสนุนนั้นไม่ใช่แค่การได้ผลผลิต แต่คือการสร้างระบบนิเวศน์และการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถที่จะทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีตลาดรองรับ

เมื่อผู้ผลิตมีรายได้ ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารดีดี ก็เป็นหน้าที่ของความรู้และภาครัฐที่จะต้องสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ร่วมกับประชาชนให้ยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน คือ ผลลัพธ์มนุษย์ที่กระทำต่อสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นเอง

content & photo credit : https://www.beyond-growth-2023.eu/speaker/vandana-shiva/