
“การที่ให้เด็กๆมีพื้นที่นำเสนอเมนูที่เขาชอบ ได้เล่าเรื่องอาหารแบบไม่มีถูกหรือผิด และลองทำเองผ่านการเรียนรู้วัตถุดิบในการปรุง นั้นคือการสร้างพื้นที่อาหาร สร้างพื้นที่การปลูก และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต”
ต้อนรับเปิดเทอมด้วยเรื่องราวของ คุณอาปิ โอยแม กลุ่ม Seeds Journey ที่จะมาเล่าเรื่อง “#อาหารในจานถึงสวนครัวรอบบ้าน” กับการมีส่วนร่วมของเด็กๆ ในฐานะที่อาปิก็เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ แห่งหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และสนใจการทำงานเรื่องความยั่งยืนของอาหารและการปลูกผักกับเด็กนั้น
“ต้องเริ่มต้นจากการเรียนรู้วัตถุดิบจากเมนูที่เด็กๆชอบ จนทำให้สร้างความทรงจำผ่านลิ้นและรส ก็จะสร้างการรักษาเมล็ดพันธุ์และการปลูกผักต่อไปได้”

1. เริ่มต้นให้เด็กได้ลองทำอาหารที่เขาชอบ ได้เข้าครัว และเรียนรู้จากสิ่งที่ชอบก่อน
การเริ่มต้นกิจกรรมนี้กับเด็กเกิดจากที่เราถามเด็กๆว่าอาหารที่เขาชอบกินนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ปรากฎว่าพวกเขาไม่รู้จักผัก วิธีทำ และวัตถุดิบที่พวกเขากินเป็นประจำ อาปิเลยคิดว่าทำไมแต่ก่อนพวกเรายังพอรู้บ้าง แต่คนรุ่นนี้ไม่รู้จักเลย จึงทำให้เราเริ่มทำงานกับเด็กๆเพื่อให้เขารู้ว่าอาหารที่เขาชอบกินนั้นมีอะไรเป็นส่วนประกอบ แล้วถ้าเขาอยากทำเอง ก็ให้เขาได้ลองทำ การฝึกลองทำลองหาวัตถุดิบสอนในเรื่องการเรียนรู้และการจดจำอาหารผ่านหู ตา จมูก ลิ้น เพราะการที่เราจะให้เขาปลูกผักและอนุรักษ์นั้นจะต้องไม่บังคับแต่ต้องเกิดจากการชอบและเรียนรู้ไปกับอาหารที่พวกเขาทำเอง
“การมีพื้นที่ให้เด็กนำเสนอเมนูที่เขาชอบ ได้เล่าเรื่องอาหารแบบไม่มีถูกหรือผิด แต่เริ่มจากความชอบ เล่าเรื่องอาหารที่เขาโตมา และลองทำเองผ่านการเรียนรู้วัตถุดิบแต่ละอย่าง นั้นคือการสร้างพื้นที่อาหาร สร้างพื้นที่การปลูกและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต“
2.เมนูอะไรที่ใช้วัตถุดิบหลังบ้านเราและหาในสวนครัวได้?รอบรั้วบ้านภายในชุมชนอาข่า จะชอบปลูกพวกเครื่องลาบ สะระแหน่ หอมชู ผักแพว หรือ ผักไผ่ ผักชีใบเลื่อย ผักชีต้นหอม ผักกาด กวางตุ้ง และประโยชน์ของการปลูกผักรอบบ้าน คือการที่คนในชุมชนได้กินได้ใช้ และลดค่าใช้จ่าย การปลูกผักเหล่านี้แม้ไม่ถึงกับเพิ่มรายได้มากนัก แต่เป้าหมายสำคัญคือเพื่อแลกเปลี่ยนวัตถุดิบในชุมชนและครอบครัวเราเอง
“ตัวเองชอบกิน ก่อนที่เราจะออกไปอยู่นอกพื้นที่ไปเรียน เราคุ้นชินอาหารรสมือพ่อรสมือแม่ การคิดถึงบ้านทำให้เราคิดถึงอาหารที่พ่อแม่ทำ ความคิดถึงผ่านเมนูที่ตอนเด็กเคยกิน มันทำให้เราเริ่มรุ้สึกว่าอยากจะทำอาหาร อยากจะปลูก อยากจะทำให้เรื่องเหล่านี้มันยั่งยืน”
การปลูกผักสวนครัว หรือเรื่องอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเด็กเขารู้ว่าการปรุงอาหารเกี่ยวข้องกับ “วัตถุดิบที่ดี” และการปลูกผักสวนครัว การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การสร้างดินดี สร้างอากาศดี คือ เรื่องเดียวกันกับอาหารที่เขาอยากปรุง ฉะนั้น ท้ายที่สุดการปลูกและการรักษาเมล็ดพันุ์เป็นการเริ่มมต้นอาหารที่ดี มันต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่การเก้บเมล็ดพันธุ์ การได้ลองปลูกเอง กินเอง หรือการเห็นคุณค่าของคนที่ทำการเพาะปลูกด้วย เขาก็จะภูมิใจในพื้นที่หรือคนในชุมชนของเขาด้วยที่ทำอาหารดีดีให้เขาได้กิน
3. ความทรงจำดีดีจะสามารถพาเรากลับมาหาความรู้สึกดีดีตอนวัยเด็กและอาหารพาเรากลับมาได้
ความหวังของน้องอาปิ ที่ทำกิจกรรมกับเด็กๆในชุมชนนั้น คือ การอยากให้เด็กรู้จักเมนูตัวเอง และรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบ แม้วันหนึ่งเด็กๆเหล่านี้จะเติบโตออกไปเรียนนอกชุมชน ออกไปใช้ชีวิตในเมืองก็จะได้ว่าจำว่ารสมืออาหารจากแม่หรือพ่อนั้น หรือชุมชนนั้นๆ พวกเขาสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการปลูกผักสวนครัว เขาเป็นผู้สามารถรักษาเมล็ดพันธุ์อาหารได้ และสร้างอาหารผ่านความทรงจำ และกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้พวกเขาคือเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตเรื่องการสิ่งแวดล้อมที่ดีและส่งต่อความมั่นคงอาหารในอนาคต“กับเด็กเราอาจยังไม่สามารถสอนไปลึกว่าเมนูเหล่านี้มาจากไหน? แต่เราพยายามสอนให้เขารู้ว่าเรามีสวนผักหลังบ้านเอามาใช้สิ มาทำเมนูอะไรได้ การทำกิจกรรมกับเด็กไม่จำเป็นต้องสำเร็จกับทุกคน แต่ขอให้เขามีพื้นที่คุยเรื่องนี้อยู่ แม้จะเหลือไม่กี่คนที่ชอบที่จะสนใจเรื่องอาหาร แต่การรู้ว่าสิ่งที่เขากินนั้นดีต่อเขาและโลกอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมกันในชุมชน”