ผลผลิต GI การกินอย่างรู้ที่มา เพื่อสร้างมูลค่าด้วยความแตกต่าง

ใครที่ติดตามวงการอาหาร จะพบว่าระยะหลังเริ่มมีกระแสการกินอาหารตามมาตรฐาน GI ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ และหลายครั้งก็ชวนให้อยากรู้ว่าผลผลิตลักษณะนี้มีรายละเอียดน่าสนใจอย่างไร ทำไมคนในวงการอาหารไทย รวมถึงวงอาหารอาหารระดับนานาชาติ ถึงให้ความสำคัญขึ้นทุกขณะ


.
แนะนำอย่างรวบรัด มาตรฐาน GI คือ Geographical Indications หรือข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผลผลิตที่เติบโตขึ้นในพื้นที่แห่งนั้นมีจุดเด่นที่แตกต่างทั้งในมิติของคุณภาพ รสชาติ รวมถึงเรื่องราวต้นทางที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านั้นได้อย่างดี แต่มากกว่ามิติของการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด แนวคิดตั้งต้นของมาตรฐาน GI ยังครอบคลุมถึงความพยายามผลักดันการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้เติบโตในระดับสากล ด้วยต้องยอมรับว่าความต้องการบริโภคสินค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะอาหารท้องถิ่นนั้น มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ข้ออ่อนของการผลิตในสเกลเล็กก็อยู่ตรงความคงที่ของคุณภาพ และความชัดเจนของรายละเอียดในแต่ละแหล่งปลูก
.
ปัจจุบันเราจึงเห็นผักผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ทุเรียน สาลิกา จากจังหวัดพังงา ส้มโอทับทิมสยาม จากปากพนัง มะขามหวาน จากเพชรบูรณ์ มะพร้าวน้ำหอม จากราชบุรี ฯลฯ โดยผลผลิตท้องถิ่นเหล่านี้นอกจากจะมีคุณภาพที่โดดเด่นจากสภาพภูมิศาสตร์ ยังเกี่ยวโยงกับเรื่องฤดูกาลผลิตที่ส่งผลต่อคุณภาพไม่น้อยกว่ากัน ดังนั้นการกินสินค้าตามมาตรฐาน GI จึงเท่ากับการกินตามฤดูกาลด้วย
.
การเกิดขึ้นของ GI จึงคือการวางเป้าหมายการพัฒนาอาหารท้องถิ่นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับการยกระดับสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดระดับประเทศหรือระดับสากล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าอาหารท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนมาตรฐาน GI จะเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและอาศัยต้นทุนพอสมควรในการเข้าถึงมาตรฐานการตรวจสอบ
.
ผลผลิตท้องถิ่นหลายๆ แหล่งที่มีคุณภาพดีจึงไม่ได้มีมาตรฐานทางการอะไรรับรอง ทว่าใจความสำคัญของ ‘อาหารที่ดี’ ทั้งมิติของคุณภาพและความใส่ใจในกระบวนการผลิตย่อมเป็นมาตรฐานรับรองในตัวของมันเอง ที่สร้างมูลค่าให้กับอาหารท้องถิ่นได้ไม่น้อยกว่ากัน

.
.
#สวนผักคนเมือง #ปลูกเมืองปลูกชีวิต