“การเรียนรู้ของเด็ก (โดยเฉพาะในเด็กเล็ก)” เท่ากับ “การเล่น” – สวนผักสีชา

วันนี้มีโอกาสได้อ่านบทความ จากเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ที่เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า
การเล่นช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตทั้งภายในและภายนอก
.
“การเรียนรู้ของเด็ก (โดยเฉพาะในเด็กเล็ก)” เท่ากับ “การเล่น”
และ “การเล่น” เท่ากับ “การเรียนรู้”
เพราะ “การเล่น” เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ
.


ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงภาพของ เด็กหญิงตัวเล็กๆ เพียงหนึ่งเดียว ท่ามกลางวัยกลางคนและผู้สูงวัยกว่าสิบคนในวันที่เราจัดทัวร์ พื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง ทริปที่ 3 วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 64 ที่ผ่านมา ณ สวนผักบำบัดสีชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เราเห็นภาพ น้องขิม หรือ ครูขิม ซึ่ง หมอจิ๊บ ญาดา บอกกับเราว่า ในพื้นที่สวนบำบัดแห่งนี้ “ทุกคนต่างก็เป็นครูของกันและกัน” เพราะทุกคนมีศักยภาพ และสามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับคนรอบข้างได้เสมอ

.
น้องขิม เป็นหนึ่งในสมาชิกของสวนผักบำบัดแห่งนี้ เนื่องจากพ่อและแม่มาเข้าร่วมปลูกผัก ทำสวน ทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา น้องจึงมีโอกาสได้ติดตามพ่อแม่มาทำกิจกรรมด้วย และดูเหมือนว่าในตอนนี้ น้องขิมจะกลายเป็นกำลังหลักสำคัญในการช่วยเหลือการงานต่างๆ และช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับผู้คนในสวนผักแห่งนี้
.
เกือบทุกวันที่น้องขิมจะมาที่สวนตั้งแต่ช่วงเช้า ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ พบปะ ทักทายเพื่อนๆ ของเธอก่อนจะเริ่มเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ไปดูเล้าไก่ ให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ เก็บไข่ไก่ เดินสัมผัสทักทายต้นไม้ ดอกไม้ เก็บดอกไม้มาใส่แจกัน รวมถึงการช่วยเหลืองานอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องมีใครเอ่ยปาก น้องขิมก็มักจะเข้าไปช่วยเหลือทุกอย่างที่เธอจะสามารถทำได้


.
ในวันจัดทัวร์ ทีมงานจากกรุงเทพฯ มาถึงสวนผักแห่งนี้ช่วงประมาณ 11 โมง เพื่อเตรียมงานก่อนเริ่มการทัวร์จริง เราจอดรถพร้อมๆ กับรถของหมอจิ๊บ และมีเด็กหญิงคนหนึ่งกำลังช่วยยกของลงจากรถอย่างแข็งขัน เด็กคนนั้นคือ น้องขิม หมอจิ๊บบอกว่า การเตรียมงาน เตรียมสถานที่ น้องขิมมาช่วยงานตั้งแต่เมื่อวาน และวันนี้น้องก็อยากมาช่วยงานแต่เช้า น้องขิมช่วยหมอจิ๊บยกของลงจากรถเสร็จแล้ว เธอก็หยิบกระดาษออกมาเตรียมนำไปติดตามจุดต่างๆ ที่เป็นจุดเรียนรู้ในสวน ซึ่งเธอเป็นคนวาดภาพ เป็นคนลงมือเขียนด้วยตนเอง และป้ายแนะนำจุดต่างๆ ในสวนก็เป็นฝีมือของน้องขิมเกือบทั้งหมด
.


เราเฝ้ามองการเคลื่อนไหวของขิมอยู่ตลอด และพบว่า ทุกการเคลื่อนไหวนั้นเต็มไปด้วยความสดใส ความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลืองานทุกอย่างที่เธอจะสามารถทำได้ ที่สำคัญไม่ต้องมีใครร้องขอความช่วยเหลือเลย น้องขิมมักจะเอ่ยถามก่อนเสมอว่า มีอะไรให้หนูช่วยไหมคะ??


เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เราเห็นภาพน้องขิม
ช่วยหมอจิ๊บเตรียมสถานที่จัดกิจกรรม…..
ช่วยป้าพิศเตรียมอาหาร ยกจานอาหารมาให้ทีมงาน ……
ช่วยครูจิตอบขนมในครัว และช่วยยกมาเสิร์ฟทีมงานด้วยตัวเอง…….
ช่วยทำน้ำแข็งใสให้ทุกคนได้ทานในช่วงกลางวัน…….
ช่วยเก็บดอกไม้มาปักตะกร้าผักให้ครูปอ ……..
ช่วยนวดไหล่ให้ครูหนิงในขณะที่กำลังแช่เท้าด้วยสมุนไพร
.
แม้ในช่วงที่เราสัมภาษณ์ น้องขิมจะมีอาการเขินอาย ไม่กล้าพูด แต่เรามีโอกาสได้อ่านบันทึกประจำวันของเธอ ที่เธอได้บันทึกกิจกรรม ความรู้สึกของตัวเองในวันนั้นลงไป รวมถึงความรู้สึกของแม่ และคนรอบข้างที่ได้สะท้อนความรู้สึกออกมา จากการเฝ้ามองน้องขิม และสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก ครูตัวเล็กคนนี้ ซึ่งอยากชวนให้ทุกคนได้ลองอ่าน
.
“สวัสดีคะคุณแม่ เมื่อวานนี้หนูไปช่วยป้าจิตเตรียมงานของวันนี้ สนุกมากเลย ย้ายของตลอดเลยสนุกมาก แถมตอนซ้อมนะป้าจิ๊บพูดยาวมาก แล้วคิดไปคิดมาก็เปลี่ยนเป็นสนามหน้าร้านกาแฟกัน แล้วคิดแผนกันสนุกมากจนลืมเหนื่อยเลยละ หนูชอบทำมาก พอมาคุยกันก็ตกลงลงตัวแล้ว ก็เลยกลับบ้านกัน แต่ว่าก่อนกลับก็ย้ายบางอย่างไปด้วย”
.


“วันนี้สนุกมากเลยแม่ พอมาถึงสวนแล้วก็ช่วยกันยกของ แต่ครูปุ้ยมาถึงที่สวนพอดีเลย ครูปุ้ยไม่ไปที่ร้านก่อน แต่เข้าสวนก่อนเลย พอป้าจิตมาหาหนูก็ไปช่วยป้าจิตทำครัวซอง แล้วก็ดูการทำ ตอนที่อบอยู่ป้าจิ๊บกับครูปุ้ยก็มาที่ร้านก็เลยได้กินชากับครัวซอง จากนั้นก็พักกินข้าวและน้ำแข็งใสหลายถ้วยเลย พอจะเริ่มถ่ายก็คุยกัน จากนั้นซ้อมคุยกัน พอแม่มาถึงก็ถ่ายจริง แล้วก็ตามที่แม่เห็นพอมาที่ลุงตุย หนูก็เอาดอกไม้ไปปักตะกร้าให้แม่ปอ แล้วก็อยู่เงียบๆ จนมาถึงจุดแช่เท้า ก็นวดให้ครูหนิง แล้วก็เข้าไปเป็นตัวประกอบ จากนั้นก็ใกล้จบรายการ แล้วครูปุ้ยก็ถามทุกคน รวมถึงหนูซึ่งนั่งหลบซ่อน หนูเลยตอบคำถาม พอจบเราก็กินขนมปังแล้วก็เก็บของกลับบ้าน” สนุกมาก 20/08/64

.
และคุณแม่ของน้องขิม ก็ได้เขียนตอบบันทึกนั้น ว่า “ดีใจจังเลยค่ะที่เห็นหนู Happy แอบห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวาย แต่ผิดคาด ทุกคนชมว่าขิมเก่ง ช่วยงานได้เยอะ ถึงขนาดไม่กินข้าวกินปลา”
.
เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนกับหมอจิ๊บและครูจิต ซึ่งมาจากประสบการณ์และการเรียนรู้จากการทำสวนผักแห่งนี้ บนพื้นที่สวนผักแห่งนี้ พ่อแม่วางใจในตัวลูก เปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นอิสระ เชื่อในศักยภาพของเด็กๆว่ามีพลังเหลือหลาย มีความคิดสร้างสรรค์เกินกว่าเราจินตนาการได้ พลังเด็กดูเหมือนจะมากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก..เพราะการทำงานของเขา คือการเล่น เขาสนุกเขาร่าเริง เบิกบาน และสร้างสรรค์ตลอดเวลา เหนื่อยก็หยุด นั่งพัก นอนหลับ หิวก็กิน แถมยังทำอาหารกินเองในสวนแบบง่ายๆ ทอดไข่ ไปเก็บไข่จากเล้า เราเองได้แต่อิจฉาความเป็นเด็ก ความสุขของผู้ใหญ่หายไปไหนกันนะ


.
บทเรียนจากการทำงานของสวนผักคนเมือง ค้นพบว่า ความเติบโตของการเรียนรู้ของกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะการเรียนของเด็ก การสร้างการเรียนรู้ของเด็กจากการปลุกผักนั้น สัมพันธ์กับมิติที่หลากหลาย มิใช่เพียงการปลูกผักให้เติบโต แต่กลับสร้างให้เกิดความรู้ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ทักษะชีวิต และให้เด็กได้มีจินตนาการอันกว้างไกลได้อย่างเหลือเชื่อ
ความสดใส และ ธรรมชาติของเด็ก เป็นครูให้กับผู้ใหญ่อย่างเรา
.
จากบทความที่ เพจ ตามใจนักจิตวิทยา ได้เขียนอธิบายเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า การเล่นช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตทั้งภายในและภายนอก
.
“การเรียนรู้ของเด็ก (โดยเฉพาะในเด็กเล็ก)” เท่ากับ “การเล่น”
และ “การเล่น” เท่ากับ “การเรียนรู้”
เพราะ “การเล่น” เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ
.
เด็ก ๆ ควรเล่นอย่างเพียงพอ โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน (จะแบ่งเวลาเล่นเป็นครั้งละ 30 นาที-1 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น ก็ทำได้เช่นกัน)
.
เมื่อใดที่เด็ก ๆ เล่น พวกเขาได้เรียนรู้ นอกจากนี้การเล่นยังเป็นการเตรียมร่างกายทั้งสมอง และกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ให้พร้อมสำหรับการใช้งานในการเรียนรู้ขั้นต่อไป เด็กที่ได้เล่นอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับวัย ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถพัฒนาการควบคุมร่างกายภายนอกของตัวเอง และนำไปสู่การควบคุมตัวเองจากภายใน ซึ่งช่วยให้พวกเขามีสมาธิที่เพียงพอต่อการจดจ่อเพื่อเรียนรู้ในขั้นต่อ ๆ ไป
“9 รูปแบบการเล่น”
ช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตทั้งภายในและภายนอก
1.) เล่นกับธรรมชาติ
2.) เล่นเคลื่อนไหวร่างกาย
3.) เล่นกับสี
4.) เล่นของเล่นอิสระ (Free form)
5.) เล่นบทบาทสมมติ
6.) เล่นทำงานบ้าน
7.) เล่นกับพ่อแม่ และเล่นกับเพื่อน
8.) เล่นเกมตามกติกา
(9) เล่นกับดนตรี
“คำแนะนำสำหรับพ่อแม่”
.


พ่อแม่และผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องกังวลว่า เด็กๆ ต้องเล่นให้ครบทุกรูปแบบที่นำเสนอในบทความนี้ในหนึ่งวัน หรือ เด็กต้องทำให้ครบทุกอย่าง เพราะบทความต้องการแค่เพียงนำเสนอรูปแบบการเล่นที่ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ เกิดการเติบโตทั้งภายในและภายนอก
.
ดังนั้น ไม่ว่าเด็ก ๆ จะเล่นในรูปแบบใด ขอเพียงพวกเขาริเริ่มอยากที่จะเล่นด้วยตัวพวกเขาเอง โดยในช่วงแรกผู้ใหญ่อย่างเราช่วยนำเสนอการเล่นรูปแบบต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ได้รู้จัก และชวนพวกเขามาเล่น เมื่อพวกเขารู้จักการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว เด็ก ๆ หลายคนสามารถพัฒนาการเล่นในแบบของตัวเองได้เอง
การเล่นหนึ่งครั้ง อาจจะมีการเล่นหลายรูปแบบรวมกันอยู่ และการเล่นบางรูปแบบทำให้พัฒนาไปสู่การเล่นขั้นสูง ซึ่งพัฒนาเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์สะสมในตัวเด็ก ๆ ต่อไปได้
.
หัวใจสำคัญของการเล่นในเด็กเล็ก คือ การเล่นกับพวกเขา
ไม่ว่าจะเล่นอะไร ขอเพียงผู้ใหญ่เล่นด้วย เด็ก ๆ ก็มีความสุขกับการเล่นนั้นแล้ว เมื่อถึงวัยที่เขาสามารถพัฒนาไปสู่การเล่นด้วยตัวเองและเล่นกับเพื่อน ผู้ใหญ่จะค่อย ๆ ถอยบทบาทไปสู่การเป็นผู้สังเกตการณ์และผู้สนับสนุนอยู่ห่าง ๆ เท่านั้นเอง
.


.
สุดท้าย การเล่นทำให้เด็ก ๆ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้โลกภายนอก และในขณะเดียวกันการเล่นยังช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกภายในตัวเองมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
.
ทุกครั้งที่เด็ก ๆ เล่น หลายสิ่งหลายอย่างค่อย ๆ เติบโตขึ้นภายในตัวเขาอย่างเงียบ ๆ
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ ตามใจนักจิตวิทยา
และภาพจากเพจ สีชา การกาแฟ