#พลังของเด็กๆ รอยยิ้ม ความสดใสของพวกเขา กำลัง #เปลี่ยนแปลงโลก

โครงการสวน “สนุก” ในสวนลับ (The Secret Garden) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สวนสนุกกลางสวนผักใจกลางเมืองศรีราชา สวนผักที่ริเริ่มจากกลุ่มผู้ปกครอง ที่ต้องเลี้ยงดูแลเด็กวัยประมาณ 5-15 ปี ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ปกครองสังเกตพบว่า เด็กๆเกิดความเครียดจากการเรียนออนไลน์ บางคนเป็นเด็กบ้านเรียนแต่ไม่สามารถเดินทางออกไปไหนได้เช่นกัน

.

เด็กๆ เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ผู้ปกครองจึงรวมกลุ่มกันเพื่อทำสวนผักบำบัด จูงใจให้เด็กๆ ออกมาทำสวน ได้ใช้กล้ามเนื้อมือและตา ให้เกิดประโยชน์ รู้จักการรอคอย ใช้จินตนาการร่วมกับธรรมชาติและเห็นการเจริญเติบโตชองผักเป็นความเบิกบานทางใจก่อให้เกิดการปลูกจิตสำนึกที่ดีในใจของเด็กๆ เกิดกิจกรรมร่วมกันในสังคม เช่น ได้ใช้วัสดุธรรมชาติที่อยู่ในสวนนำมาทำเป็นของเล่นของใช้เกิดจินตนาการ หรือใช้พืชผักที่ตนเองปลูกเองนำมาประกอบอาหารทานเอง

.

แม่หมวย ผู้ร่วมริเริ่มสวนผักแห่งนี้ เล่าว่า “ตอนแรกก็ช่วยกันคิดว่าเราจะทำอะไรจากพื้นที่สวนผักนี้ได้บ้าง ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะได้อะไร แต่พอได้ขุดแปลงผักครั้งแรกเนี่ย เด็กๆทำแปลงผักเป็นลานกระโดดไกล เราก็รู้สึกว่าเด็ก ๆ เขาหาอะไรเล่นในสวนได้ตลอดเวลา เขาไม่บ่น ไม่เเบื่อ ไม่เครียด เป้าหมายของสวนผักแห่งนี้จึงเริ่มชัดเจนขึ้น”

.

เด็กๆได้สนุกในสวน เริ่มอยู่ในสวนได้นานขึ้น ดีกว่าอยู่บ้านเล่นเกมส์ อาการเครียดของแม่และเด็กก็หายไป โดยปกติจะมีเด็กมาเล่นอยู่ในสวนผัก ประมาณ 4-5 ครอบครัว แต่ละครอบครัวก็มีแม่มาด้วย มีเด็กมาหากิจกรรมทำในสวน กิจกรรมมีทุกวัน โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ ไปแล้ว เริ่มจากทำแปลงผัก ไปหาอาหารในสวน เช่น เก็บไข่ เก็บบวบ เก็บพริก มาทำน้ำพริกทานกัน มาทำไข่เจียวดอกไม้ เด็กๆ ก็ได้เริ่มหัดก่อไฟ ทำอาหาร อยู่กันจนถึงทุ่มกว่า

.

เด็กๆ ช่วยกันคิดทำใบประกาศ ออกแบบสวน ให้เด็กมีส่วนรวมในการจัดการสวน เด็กๆเขาเหมือนได้ใส่จินตนาการของตัวเองลงไปในสวนผัก ตอนแรกมันอาจจะเริ่มจากผู้ปกครองคุยกัน แล้วพวกเด็กๆ เขาก็มีความรู้สึกว่าอยากจะเติมสิ่งที่พวกเขาชอบลงไป เด็กๆ รู้สึกว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำอยู่นั้นมันดูไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น พวกเขาอยากออกแบบให้แปลงผักมันดูเหมือนชับซ้อน ทำให้เวลาเขาเข้าไปในสวน เป็นช่วงเวลาที่เขาไปเที่ยว ไปผจญภัย เขาเลยมีไอเดียว่า เวลาที่มีใครมาเดินในสวน ให้เหมือนกับการผจญภัย ผู้ที่สามารถเดินทางออกจากสวนไปได้ คือ ผู้ชนะการผจญภัยในครั้งนี้ เด็กๆช่วยกันออกแบบ วาดใบประกาศณียบัตร “คุณสำเร็จในการเดินเข้าสวนแล้วนะ”

.

มุมมองของผู้ปกครอง หลายๆ คนกำลังดูแลเด็กพิเศษ เล่าว่า “ผู้ปกครองมีความแข็งแรงมากขึ้น มีทั้งความบึกบึน คือก่อนหน้านี้เราเคยออกกำลังกาย พอโควิดระบาดก็ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เราก็มีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ง แต่เมื่อเราได้ทำสวน เราก็จะได้ใช้แรง ใช้จอบ ใช้เสียม เราได้ยืดกล้ามเนื้อ เราได้ออกกำลังกายขณะที่เราทำงาน ถึงแม้ว่าเราต้องใช้แรงในการขุดดิน เป็นเวลาค่อนข้างนาน แต่เวลาเราทำ เราทำไปเรื่อยๆ แล้วมันเพลิดเพลิน สองสามชั่วโมงติดต่อกัน พักนิดหน่อยแล้วก็ทำต่ออีก 2-3 ชั่วโมง ระหว่างทำเรารู้สึกว่ามันเหนื่อย มันล้า แต่พอเรานอนตื่นมาเรารู้สึกสดชื่น เรามองเห็นความแตกต่างของความเหนื่อยล้าได้ว่ามันไม่เหมือนตอนที่เราทำงานบริษัทที่เราตื่นนอนมาตอนเช้าแล้วรู้สึกอ่อนเพลีย แต่เวลาเราทำสวน แม้ว่าจะเหนื่อย แต่พอเช้าอีกวันเราก็อยากรีบมาทำให้เสร็จ และเรารู้สึกสดชื่น เรามีความรู้สึกว่าสวนจะเป็นยังไงต่อไป เราอยากรู้ว่าสวนเมื่อเสร็จแล้วจะหน้าตาเป็นแบบไหน”

.

แล้วเราก็เห็นว่าเด็ก ๆ มีจินตนาการกับสิ่งที่เราทำ แล้วก็ผูกพันกับสิ่งที่เราทำ เป็นลักษณะต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราคือไม่เครียด ถึงมันจะมีเรื่องที่เกิดกับชีวิตเรามากมาย เราก็มีความเครียด แต่เวลาเราทำสวน เราไม่ได้ไปคิดถึงตรงนั้น มันเลยทำให้เราผ่อนคลาย ปัญหามันก็ยังอยู่แหละ แต่มันจะกลายเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ได้

.

และใครจะคิดว่า จินตนาการ การเล่นสนุกของเด็กๆ ในสวนผักแห่งนี้ ได้ก่อร่างสร้างหัวใจแห่งการให้ บ่มเพาะความเป็นมนุษย์ที่มองเห็นความลำบากของผู้คนรอบข้าง และพร้อมแบ่งปันผลผลิตจากความภูมิใจ

.

ขอบคุณหัวใจดวงเล็กๆ พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ เติบโตท่ามกลางธรรมชาติ สร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงโลกที่ดีกว่า โลกที่พวกเขาจะขับเคลื่อนให้ดีขึ้นจากจินตนาการ ประสบการณ์ ที่หลอมรวมพวกเขากับธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

.

หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น รับรองเลยว่า เราจะไปผจญภัยในสวนลับแห่งนี้ และหวังว่าจะได้รับมอบใบประกาศนียบัตรของน้องๆ มาครอบครอง