สวนผักคนเมือง: ปลูกผักสู้ภัยโควิด-19 บนที่ร้าง แต่ไม่ห่างรัก หมู่บ้านสินสมบูรณ์

ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินมาอย่างยาวนาน หลายชีวิตต้องเผชิญกับความยากลำบาก ไม่ใช่แค่จากความเจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงความเจ็บป่วยทางจิตใจ ทั้งจากความวิตกกังกล ความเหงา ความเศร้า ความเจ็บป่วยทางเศรษฐกิจและสังคม ที่มาจากการตกงาน ขาดรายได้ ขาดอาหาร และทุนทรัพย์ในการดำเนินชีวิต หลายคนกำลังเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคง ความไม่แน่นอนของชีวิตปัจจุบัน และอนาคตข้างหน้า แต่ความไม่นอนแน่นอนนั้น หากเราสามารถเรียนรู้ ถอดบทเรียน และพยายามเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ ก็อาจจะกลายเป็นความแน่นอนได้เช่นกัน เชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงทำให้หลายคนเผชิญกับความจริงข้อนี้ แต่ใครจะรู้ว่า บางทีวิกฤตก็นำพาโอกาสมาให้เราพบกับความเติบโต งอกงามในชีวิตได้เหมือนกัน เหมือนกับชุมชนหมู่บ้านสินสมบูรณ์แห่งนี้

นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรกในช่วงต้นปี 2563 คนในชุมชนก็มีความกังวลด้านความปลอดภัย สุขภาพ และการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีความเป็นเมืองสูง พึ่งพาอาหารจากข้างนอกเป็นหลัก เพราะสมุทรสาครขับเคลื่อนด้วยงานบริการและอุตสาหกรรม จนถึงการระบาดระลอกสอง สมุทรสาครคือพื้นที่ศูนย์กลางของการระบาด จังหวัดมีคำสั่งล็อคดาวน์ตั้งแต่ 19 ธ.ค. 63 – 15 ม.ค. 64 ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากมาตรการห้ามเดินทางอออกนอกพื้นที่ ส่งผลให้การขนส่งอาหารเข้ามาในพื้นที่เป็นไปอย่างยากลำบาก พ่อค้าแม่ค้าออกไปซื้อสินค้าพืชผักนอกพื้นที่จังหวัดไม่ได้ หรือถ้าได้ก็จะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของพี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคตามวิถีชีวิตแบบคนเมือง เพราะสินค้าพวกพืชผักสวนครัว เนื้อสัตว์ต่างๆ มีราคาสูงขึ้นและเข้าถึงยากกว่าปกติ และสมาชิกในหมู่บ้านสินสมบูรณ์ก็มีบทเรียน ประสบการณ์จากความยากลำบาก และความไม่มั่นคงในชีวิตจากวิกฤตนี้เช่นกัน สมาชิกในชุมชนได้รับผลกระทบ เช่น บางคนถูกพักงาน บางคนต้อง WFH บางคนมีรายได้ลดลงจากการค้าขายและรับจ้าง โรงเรียนปิด ลานกิจกรรมต่างๆ ถูกปิด อาทิ สนามเด็กเล่น สถานที่ออกกำลังกาย ยิ่งทำให้คนในชุมชนเกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น

ในวิกฤตก็นำมาซึ่งโอกาส เมื่อนานเข้าเด็กๆ และเยาวชนก็เริ่มมองหาสถานที่วิ่งเล่น ทำกิจกรรม พอดีกับในชุมชนมีพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลร้างที่ปิดตัวลง กลายเป็นพื้นที่รกร้าง พื้นที่สุ่มเสี่ยง และอันตรายมานับ 20 ปี ในช่วงเดือนธันวาคม 63 กลุ่มสมาชิกในชุมชนประมาณ 10 คน รวมตัวกันเพื่อช่วยกันถางหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้ ต้นไม้ที่รกทึบ ทำความสะอาด จากพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่โล่ง เพื่อใช้เป็นที่ทำกิจกรรมของเด็กเยาวชน พื้นที่ปลูกผักสวนครัว เพื่อเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารในชุมชน สร้างช่องทางการเข้าถึง การพึ่งตนเองด้านอาหาร ดูแลเรื่องความมั่นคงทางอาหารด้วยตนเอง และเริ่มลงแปลงปลูกผักในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 64 ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมือง จากที่มีความรู้เพียงเล็กน้อย อาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ต และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในกลุ่ม โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้พื้นที่ที่เคยรกร้างกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวในชุมชน และเด็กและเยาวชนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่โดยมีผู้ใหญ่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

กระทั่งในเดือนเมษายน 64 สวนผักของหมู่บ้านแห่งนี้ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง ภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองฯเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในพื้นที่เมือง ด้วยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมีแกนนำ คนปลูกผักหลักๆ คือผู้สูงอายุ คณะกรรมการชุมชน เด็กๆ เยาวชนในชุมชน และมีคนวัยทำงานช่วยดูแลเรื่องการพัฒนาโครงการ การดูแลจัดการด้านเอกสาร การเงิน การเขียนรายงาน และการประสานงานต่างๆ  สวนผักบนพื้นที่รกร้างแห่งนี้ จึงไม่ห่างรักจากคนทุกกลุ่มในชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างพื้นที่ความสุขให้เติบโต งอกงามในชีวิตท่ามกลางวิกฤตได้

ความน่าสนใจของโครงการนี้ฯ คือ เป้าหมายในการสนับสนุนการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพึ่งตนเองด้านอาหาร ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ให้กับกลุ่มคน/ชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหาร จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการส่งเสริมความรู้ เทคนิคการทำเกษตรในเมือง ตลาดชุมชน การแปรรูปผลผลิต การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และความรอบรู้ด้านทักษะการเงิน เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่

ผ่านการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่สำคัญและจำเป็นในการทำเกษตรในเมือง และการสนับสนุนทีมพี่เลี้ยง วิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำเกษตรในเมืองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่เมือง ลงพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้ ตลอดจนช่วยเหลือให้สมาชิกสามารถสร้างพื้นที่อาหารของตนเองเพื่อดูแลกันได้ โดยโครงการฯนี้มีอาจารย์เติ้ล เกศศิรินทร์ แสงมณี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นพี่เลี้ยงดูแลสมาชิกทั้ง 28 โครงการในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล  ตลอดเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ทีมวิทยากรลงพื้นที่เพื่อจัดอบรมให้ความรู้กับสมาชิกโครงการอย่างต่อเนื่อง ความทุ่มเท เอาใจใส่ของทีมวิทยากรเป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรือปัจจัยเริ่มต้นของความสำเร็จเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญอีกส่วนที่ขาดไม่ได้ คือ ความทุ่มเท ความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อเรียนรู้ และลงมือทำของสมาชิกโครงการที่เป็นเจ้าของพื้นที่ผลิตอาหาร พื้นที่เกษตรกรรมตรงนั้น  คือตัวแปรสำคัญที่สุด ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ความยั่งยืน หรือแม้แต่ความล้มเหลว

แม้ว่าชุมชนแห่งนี้ จะเริ่มปลูกผักกันมาก่อน แต่พอมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมือง ได้เรียนรู้จากวิทยากร สมาชิกต่างก็สนใจ และเอาใจใส่ในการนำความรู้ วิธีการ คำแนะนำของวิทยากรไปทดลอง ค้นหาคำตอบ ปรับใช้เพื่อจะสามารถเพาะปลูกได้ดีมากขึ้น

ในวันปฐมนิเทศ อาจารย์เติ้ลให้การบ้านสมาชิก ไปดูข้อมูลเรื่องทิศทางแสง ลักษณะดิน  สมาชิกโครงการนี้ก็เก็บรายละเอียดของทิศทางแสงแต่ละช่วงเวลาส่งมาให้วิทยากร ถ่ายภาพดินแต่ละจุด แต่ละแปลงมาเป็นข้อมูลให้วิทยากร เพื่อออกแบบผังแปลง แนวทางการปรับปรุงดิน

วันจัดอบรมครั้งที่ 1 สมาชิกให้ความสนใจมาร่วมเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติกันเป็นจำนวนมาก วิทยากรก็ลงแปลงช่วยให้คำแนะนำเพิ่มเติม หลังจากนั้นสมาชิกก็ปรับเปลี่ยน พัฒนาพื้นที่ตามที่วิทยากรแนะนำ ทำปัจจัยการผลิตสำคัญเพื่อปรับปรุงดิน ดูแลพืชผักในแปลง ความกระตือรือร้น ความเอาใจใส่ ที่มาพร้อมกับความสุข ความสนุกของสมาชิกที่พร้อมจะเรียนรู้ ลงมือทำเพื่อสร้างพื้นที่อาหารของตนเองที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้พื้นที่สวนผักคนเมือง: ที่ร้าง แต่ไม่ห่างรักของหมู่บ้านสินสมบูรณ์  เติบโต งอกงาม ให้สมาชิกชุมชนได้เก็บเกี่ยวผลผลิตรอบแรก เพื่อบริโภคและแบ่งปันกันแล้ว

สวนผักคนเมือง มีโอกาส พูดคุยกับป้าลักษ์ ทับแก้ว  หนึ่งในสมาชิกของสวนผักแห่งนี้ ป้าเกริ่นกับเรามาก่อนเลยว่า

ป้าก็เล่าไม่เก่งนะคะ แต่ก็อยากเล่าค่ะ อยากเล่าจากผักแปลงที่เจ็ดก่อนนะคะ จริงๆ ผักที่โครงการ มีมากมายหลายชนิดมากค่ะ เช่น พริก มะเขือ มะละกอ สะเดา มะกรูดตำลึง มะนาว และอีกเยอะเลย  แต่ขอเข้าเรื่องแปลงที่เจ็ดก่อน เริ่มปรับปรุงดิน เตรียมปลูกผักกาดเขียว ทำแปลงยาว 4 เมตร กว้าง 1 เมตร ปรับปรุงดินด้วย (1) ปูนขาว 1 กก.  (2) ขี้ไก่ 3 กก.  (3) แกลบดิบ 2 กก.  (4) ดินปนทราย(ดินเดิมในพื้นที่) 10 บุ้งกี๋  (5) ดินถุง 6ถุง  หมักทิ้งไว้ 15 – 20 วัน  

“พอหมักดินได้แปลงเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มปลูกด้วยการยอดหลุมละ2-3 เมล็ด ปลูกได้สามวันเริ่มมีต้นเล็กๆขึ้น มารดน้ำเช้าเย็นต้นกล้าผักโตไวมาก เพราะเราใช้น้ำหมักที่ทำเอง และน้ำซาวข้าว ที่ทางกลุ่มไปขอน้ำซาวข้าวจากร้านข้าวนึ่งทุกวัน เราดูแลรดน้ำแบบนี้ ใช้เวลาประมาณ 25 – 30 วันเราเก็บแล้วคะ สาเหตุที่เราเก็บผักเร็ว ไม่เก็บตามกำหนด 40 – 45 วัน เพราะคนกินแถวนี้ชอบกินผักต้นอ่อนๆ

แต่เส้นทางของนักปลุกผักในเมืองก็ไม่ได้สวยงามนะคะ สมาชิกส่วนใหญ่ก็เจอกับปัญหาที่ต้องเรียนรู้และแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน อย่างโครงการนี้ ช่วงแรกๆ เจอปัญหาเรื่องหอยทากเยอะมาก สมาชิกก็ช่วยกันเก็บไปทิ้ง โรยขี้เถ้า โรยปูนขาวรอบแปลง ซึ่งก็ไม่ได้แก้ไขได้ทั้งหมด สมาชิกต้องลงแปลงสำรวจกันบ่อยๆ เก็บทิ้งบ่อยๆ  

ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละวัน สมาชิกจะช่วยกันชั่งน้ำหนัก จดบันทึกข้อมูลรายละเอียดชนิดผัก ผลผลิต การใช้ประโยชน์  บันทึกรับ-จ่าย ซึ่งในกลุ่มนี้บริหารจัดการผลผลิตโดยส่วนหนึ่งสำหรับบริโภคและแบ่งปันกันในกลุ่ม ชุมชน และอีกส่วนนำไปจำหน่ายในราคาถูกให้กับคนในชุมชน ร้านค้า ค้านอาหารในชุมชนนำไปปรุงอาหารขายในชุมชน ถือว่า นอกจากจะมีเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อดูแล เพาะปลูกผักอย่างต่อเนื่องแล้ว ผลผลิตในชุมชนก็เดินทางไปดูแลเรื่องการบริโภค การเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของคนในชุมชนได้มากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย  

ป้าลักษณ์ บอกว่า ตอนนี้ทุกคนในกลุ่มชอบมาที่แปลงผักมา พอตื่นเช้าตีห้าครึ่ง ก็จะเดินมาที่สวนกันแล้ว เป็นอย่างนี้ทุกวัน พอได้เห็นผักก็จะกรี้ดกร้าดกันใหญ่ ทุกคนมีความสุขที่ได้ทำ และได้กินผักที่ตัวเองปลูกเองกับมือพวกเราเอง เราภูมิใจมากคะ”

และสำหรับความฝันของสมาชิกกลุ่มปลูกผัก  คือ พวกเขาอยากแบ่งปันให้คนในชุมชนได้กินผักที่ปลอดสารพิษ ได้ไว้ให้รางวัลกับชีวิตด้วยการทำของอร่อยๆ กินกันในกลุ่ม จากผลผลิตของพวกเขาเพาะปลูกบนผืนดินที่ปล่อยทิ้งร้างมากว่า 20 ปี ผืนดินที่หลายคนเดินผ่าน แบบไม่เห็นคุณค่า และเคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง พื้นที่อันตราย แต่วันนี้เกษตรกรรม อาหาร และความทุ่มเทเอาใจใส่ ได้ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าและคุณค่าของพื้นที่นั้น ให้กลายเป็นพื้นที่ของความสุข ความรัก และความมั่นคงทางอาหาร ที่ชุมชนสามารถช่วยกันดูแลและจัดการตนเองได้ ทำให้พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาด้านอาหารในภาวะวิกฤตนี้ได้ระดับหนึ่ง ที่ไม่ต้องรอหรือตั้งคำถามว่าอนาคตจะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นอีก เพราะวันนี้พวกเขาพร้อมแล้ว

ที่มาของรูปจาก เพจ ที่ร้าง ไม่ห่างรัก ร่วมปลูกผัก เพื่อชุมชน