ราใบไม้สีขาว จุลินทรีย์ท้องถิ่น : (3) วิธีการเก็บ เพาะเลี้ยง และทำรำหมักจากจุลินทรีย์พื้นบ้าน

ในตอนสุดท้ายของบทความ เราคิดว่าผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามมาจนถึงตอนนี้คงอยากจะรู้แล้วว่า ราใบไม้สีขาวพื้นบ้านนั้นจะสามารถนำมาใช้บำรุงดินและผักที่ของเราได้อย่างไร โดยการนำราใบไม้สีขาวมาใช้ประโยชน์จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1) การเก็บจุลินทรีย์ราใบไม้สีขาวพื้นบ้าน

  • วัตถุดิบและอุปกรณ์
    – กล่องพลาสติก
    – ช้อน (สำหรับใช้ตักข้าว)
    – ข้าวหุงกึ่งสุกกึ่งดิบ (ทิ้งไว้ให้เย็น) จำนวน 1 ส่วน
    – น้ำตาลอ้อย 1 ส่วน
    – กระดาษห่อข้าวมันไก่
    .
  • วิธีการเก็บ
    – ขั้นตอนที่ 1 นำกล่องพลาสติกและช้อนที่เตรียมไว้มาต้มหรือนึ่งฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียส
    – ขั้นตอนที่ 2 หุงข้าวเจ้าขาวให้สุก แต่ให้หุงแข็งกว่าปกติเล็กน้อย
    – ขั้นตอนที่ 3 นำข้าวที่หุงสุกแล้วข้าวลงในกล่องไม้หรือกล่องพลาสติก (กล่องอาหาร) โดยใส่ข้าวสูงไม่เกิน 7 เซนติเมตร และไม่ต้องกดข้าว หากกดข้าวแน่นจุลินทรีย์ด้านล่างจะได้รับออกซิเจนน้อย
    – ขั้นตอนที่ 4 นำกระดาษห่อข้าวมันไก่ปิดกล่อง ตามด้วยมัดด้วยเชือกไม่ให้อากาศเข้า (ไม่ควรใช้ผ้าปิดเพราะผ้าเป็นตัวอุ้มน้ำและอากาศสามารถเข้าไปได้)
    – ขั้นตอนที่ 5 นำกล่องข้าวไปไว้ในบริเวณที่มีใบไม้ทับถมหรือต้นไผ่ที่มีขุยไผ่ทับถม (ควรใช้พลาสติกคลุมทับไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันน้ำฝน และใช้ตะแกรงคลุมอีกชั้นเพื่อป้องกันหนูและสัตว์อื่น ๆ มากิน) โดยทิ้งไว้เป็นเวลา 3 วัน
    – ขั้นตอนที่ 6 เมื่อครบ 3 คืนให้เปิดฝากล่องดู เราจะสังเกตเห็นเชื้อราปุยสีขาว นั้นคือได้ราใบไม้สีขาวที่ดี จึงเก็บเอาข้าวที่มีราใบไม้สีขาวมา ถ้าหากเป็นเชื้อราสีแดง สีดำ หรือสีส้ม นั้นเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ดี ไม่ควรเก็บเอาไว้ และให้ไปเริ่มขั้นตอนตั้งแต่ต้นใหม่จนกว่าจะได้ราใบไม้สีขาว

.

2) การเพาะเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์พื้นบ้านราใบไม้สีขาว

  • นำข้าวที่มีราใบไม้สีขาวคลุมอยู่ใส่ลงไปในภาชนะทึบแสงที่มีปากกว้างพอจะใช้มือล้วงเข้าไปได้ และต้องแห้งและสะอาด จากนั้นโรยน้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลทรายแดง (น้ำหนักเท่ากับข้าว)
  • คลุกให้ข้าวกับน้ำตาลเข้ากันจะได้ของเหลวสีแดงเข้ใ เหลือพื้นที่ครึ่งหนึ่งให้จุลินทรีย์หายใจ ปิดปากภาชนะด้วยกระดาษ มัดด้วยหนังยางหรือเชือก
  • นำไปวางไว้ในที่ร่ม 5 วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์ราใบไม้สีขาวพื้นบ้านที่เป็นของเหลวสีน้ำตาลแดง เป็นเมือกสำหรับทำรำหมักต่อไป

.

3) การทำรำหมักจุลินทรีย์พื้นบ้าน

การทำรำหมักเป็นกระบวนเริ่มต้นการเลี้ยงจุลินทรีย์ด้วยรำเพื่อนำไปเป็นองค์ประกอบในการทำดินหอมต่อไป

  • วัตถุดิบและอุปกรณ์
    – รำอ่อน 2 กิโลกรัม
    – หัวเชื้อราใบไม้สีขาว 2 ช้อนโต๊ะ
    – น้ำสะอาด 10 ลิตร
    .
  • วิธีการทำ
    – ขั้นตอนที่ 1 นำรำอ่อน 2 กิโลกรัม เทใส่ภาชนะที่แห้งสนิทและสะอาด หรือใช้พื้นที่ปูรองด้วยพลาสติกใส เนื่องจากพลาสติกใสจะทำให้ไม่มีเหงื่อของไอน้ำ
    – ขั้นตอนที่ 2 นำหัวเชื้อราใบไม้สีขาวละลายน้ำในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะ (ช้อนแกง) ต่อน้ำ 10 ลิตร จากนั้นคนให้เข้ากัน
    – ขั้นตอนที่ 3 รดน้ำที่เตรียมไว้ลงบนกองรำอ่อนทีละน้อย ทีละน้อย พร้อมทั้งใช้มือคลุกเค้าให้เข้ากันจนมีความชื้นประมาณ 60 – 65 % (ทดสอบด้วยการใช้มือกำรำเบา ๆ แล้วแบมืออก หากรำยังคงรูปเป็นก้อนแต่ไม่มีน้ำไหลออกมาถือว่าเป็นอันใช้ได้)
    – ขั้นตอนที่ 4 กองรำเป็นหลังเต่าสูงประมาณ 6 นิ้วบนพลาสติกคลุมด้วยกระสอบป่าน หมักทิ้งไว้ 15 วัน (ห้ามพลิกกองเพราะจะรบกวนจุลินทรีย์) สามารถนำรำหมักที่ได้ไปใช้ทำดินหมักหรือดินหอมได้ และสามารถเก็บไว้ใช้ทีหลังด้วยการใส่ตะกร้าพลาสติก
    – ขั้นตอนที่ 5 การตรวจสอบรำหมักว่าพร้อมใช้งานได้หรือไม่ ให้วัดอุณหภูมิในกองรำหมัก หากพบว่าในกองรำหมักไม่มีความร้อนแสดงว่าสามารถนำรำหมักไปใช้ได้ รำหมักมักจะมีความร่วนซุย ไม่จับตัวกันเป็นก้อน

.

โดยรำหมักที่ได้มานั้นจะอุดมไปด้วยราใบไม้สีขาวที่มีประโยชน์ต่อทั้งดินและพืชของทุกท่านอย่างมาก ตามที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วในบทความ 2 ตอนก่อนหน้า ถ้าจุลินทรีย์นั้นมีความหลากหลายทั้งในแง่ของปริมาณและชนิด จะส่งผลให้ดินและผักของเรามีกิจกรรมหรือวัฏจักรต่าง ๆ ในการสร้างธาตุอาหาร และสะสมจนกลายมาเป็นอาหารที่ดีสุขภาพของทุกคนต่อไป …