


เมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2564 ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ได้จัดกิจกรรมปฐมนิเทศสมาชิกโครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองฯ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 30 โครงการ ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และชลบุรี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.)



เรามีแนวคิด และเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน สร้างการเรียนรู้ ฟื้นฟูทักษะพื้นฐานของชีวิตในด้านความรู้ เทคนิคการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง การแปรรูป ถนอมอาหาร การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร รวมถึงการจัดตลาดชุมชน ตลาดอาหารของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพึ่งตนเองด้านอาหาร และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง ความรอบรู้ด้านทักษะการเงิน และการดูแลสุขภาพแบบธรรมชาติผ่านการเชื่อมโยงผู้คน เกษตรกรรม อาหาร และสิ่งแวดล้อม ให้กับกลุ่มคน ชุมชน โรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับกลุ่มคนด้อยโอกาส ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่




ในวันแรกพบนี้ พวกเราได้ทำความรู้จักกัน ได้เรียนรู้ประสบการณ์ของรุ่นพี่สมาชิกสวนผักคนเมืองผ่านเรื่องเล่า รูปธรรมของหลายๆ พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สวนผักคนเมองชุมชนบูรพา 7,สวนผักชุมชน กสบ.พัฒนา, สวนผักคนเมืองต้านมะเร็ง คลอง 12 เป็นต้น ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวการทำเกษตรในเมืองที่สามารถนำไปสู่การพึ่งตนเองด้านอาหาร ความมั่นคงทางอาหารที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการเผชิญหน้า รับมือกับวิกฤตด้านอาหาร ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของสมาชิกแล้ว พืชผักจากแปลงเกษตรในเมืองยังสามารถแบ่งปันไปดูแลกลุ่มคนเปราะบางในชุมชน ทั้งคนตกงาน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ได้อีกด้วย ทำให้เพื่อนๆ มีมุมมองและตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรในเมืองกับความมั่นคงทางอาหารของเมือง
แนวทางของการสร้างพื้นที่ผลิตอาหาร ด้วยเกษตรในเมืองของเพื่อนสมาชิก
การปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีใดๆ
ต้องรวมกลุ่มกัน 10 ครอบครัวขึ้นไป
ใช้พื้นที่ส่วนกลาง/พื้นที่สาธารณะ เน้นการมีส่วนร่วม และการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน
ปลูกพืชผักหลากหลาย โดยเพาะผักยืนต้นเพราะประหยัดเวลา ดูแลน้อย เก็บกินได้นาน เหมาะกับคนเมือง
ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์
ปรับประยุกต์ใช้ของเหลือใช้ที่มีอยู่
พึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิต ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ฯลฯ
ปลูกเพื่อบริโภค และแบ่งปัน
เก็บข้อมูลผลผลิต และการพึ่งตนเองด้านอาหาร
ที่สำคัญคือ ค่อยๆเรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุง เพราะการทำเกษตรกรรม คือ การทำงานกับธรรมชาติ


ช่วงที่สอง โครงการสวนผักคนเมือง ได้เชิญหมอนัท ณัฐพล วาสิกดิลก จากใครไม่ป่วยยกมือขึ้น มาแลกเปลี่ยนเรื่องการดูแลสุขภาพแบบทางเลือก ด้วยผักพื้นบ้านและการทำสวน ซึ่งพูดถึงแนวคิดการอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล โดยนำหลักการของการแพทย์ทางเลือก “๕ ธาตุ กับผักพื้นบ้าน” มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการอธิบายลักษณะธาตุทั้ง ๕ ที่อยู่ในตัวเรา ผ่านการทำงานของอวัยะสำคัญของร่างกาย ความรู้สึกไม่สบายตัว อาการเจ็บป่วย ที่เกิดจากความไม่สมดุลของร่างกาย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากอาหารการกิน และการใช้ชีวิต และยังได้แนะนำพืชผักสมุนไพร และผักยืนต้นสำคัญๆ ที่ควรปลูกไว้ในสวน สำหรับการดูแลสุขภาพ
ธาตุไฟ : การไหลเวียน การส่งกำลัง แรงผลักดัน เกี่ยวข้องกับ อวัยวะส่วน หัวใจ และลำไส้เล็ก พืชผักที่ดูแลส่วนนี้ คือ พริกไทย กระเพรา รวมถึงการนำผักมาหมักดองด้วย
ธาตุดิน : การย่อยอาหาร การสะสม เกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วน ม้าม และกระเพาะอาหาร พืชผักที่ดูแลส่วนนี้ คือ ช้าพลู ขิง ขมิ้นชัน
ธาตุโลหะ : ป้องกันของเสีย ทำให้บริสุทธิ์ เกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วน ปอด และลำไส้ใหญ่ พืชผักที่ดูแลส่วนนี้ คือ สะระแหน่ กระเจี๊ยบเขียว ผักปลัง
ธาตุน้ำ : ขับส่วนเกิน สร้างพลังชีวิต เกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วน ไต และ กระเพาะปัสสาวะ พืชผักที่ดูแลส่วนนี้ คือ กระชาย ตะไคร้ บวบ แตงกวา
ธาตุไม้ : ซ่อมบำรุง การเกาะเกี่ยว เกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วน ตับ และถุงน้ำดี พืชผักที่ดูแลส่วนนี้ คือ สมอไทย ผักติ้ว มะระขี้นก


ช่วงที่สาม อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรในเมือง และการปรับปรุงดิน ได้มา Workshop ภาพรวมพื้นฐานเกษตรในเมือง การออกแบบพื้นที่ และโปรแกรมเรียนรู้ 5 ครั้ง ซึ่งโครงการสวนผักคนเมืองได้สนับสนุนทีมพี่เลี้ยงในการลงพื้นที่จัดอบรม ให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้สมาชิกสามารถสร้างพื้นที่ผลิตอาหารของกลุ่ม ชุมชนได้ ในวันนี้อาจารย์เติ้ล ได้แนะนำหลักการเบื้องต้นของการทำเกษตรกรรมในพื้นที่เมือง โดยเฉพาะเรื่องการรู้จักพื้นที่ของตนเอง ว่ามีลักษณะพื้นที่แบบไหน ทิศทางแสงแดดเป็นอย่างไร ดินแบบไหน และสมาชิกมีชื่นชอบการกินผักอะไรบ้าง เพื่อนำมาออกแบบพื้นที่ วิธีการปรับปรุงดินทีเหมาะสม และพืชผักที่จะปลูกในพื้นที่ โดยพี่เลี้ยงได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้หลัก 3 หลักสูตร ได้แก่ (1) การออกแบบพื้นที่ ออกแบบแปลง การปรับปรุงดิน และเตรียมปัจจัยการผลิต (2) การทำวัสดุเพาะ การเพาะกล้า การขยายพันธุ์พืช การย้ายกล้า (3) การดูแล บำรุงพืชผัก และการเก็บเกี่ยว และมีอีก 2 หลักสูตรที่สมาชิกสามารถเลือกอบรมได้ตามความชอบ และเป้าหมายของกลุ่ม ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการพึ่งตนเองด้านอาหารที่มากขึ้น และการยกระดับไปสู่การสร้างเศรษฐกิจจากการทำเกษตรในเมือง ไม่ว่าจะเป็น การเพาะเห็ด การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาดุก การแปรรูปผลผลิต และการทำดินหมัก ปุ๋ยหมัก เป็นต้น





ทั้งนี้อาจารย์เติ้ล ได้ให้การบ้านสมาชิกโครงการ ในการลงไปสำรวจพื้นที่ที่จะทำเกษตรของกลุ่ม สังเกตลักษณะดิน ทิศทางแสง แหล่งน้ำ และสภาพพื้นที่โดยรอบ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งสมาชิกก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก กลับจากการปฐมนิเทศก็ส่งภาพถ่าย รายงานข้อมูลมายังกลุ่มอย่างรวดเร็ว



ในช่วงสุดท้าย เป็นการเรียนรู้เรื่องหลักการบริหารจัดการโครงการย่อย การเงิน การบัญชีให้กับสมาชิกโครงการ เพื่อให้สมาชิกสามารถบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ตรวจสอบได้ พร้อมกับลงนามในสัญญาโครงการย่อย ถือเป็นฤกษ์งามยามดี ของการเริ่มต้นปฎิบัติการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในเมืองด้วยเกษตรในเมือง พวกเราเริ่มต้นขึ้นแล้ว……….

.
รอติดตามเรื่องราวของเหล่าคนปลูกผักในเมือง บนเส้นทางเกษตรในเมืองเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในเมือง ได้ที่ www.thaicityfarm.com
#สวนผักคนเมือง
#ปฎิบัติการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากด้วยเกษตรในเมือง
#มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
#สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ