ไปให้ไกลกว่าเทคนิค มองให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยง

ตลอดระยะเวลาที่มีโอกาสได้ทำงานสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้คนปลูกผักในเมือง ประกอบกับมีโอกาสได้ลงมือปลูกผักด้วยตัวเองด้วย ก็พบว่าในวิถีแห่งการปลูกผักนั้น หากเราไม่ยึดติดอยู่เพียงความรู้ในด้านเทคนิค มุ่งหวังแต่จะได้ผลผลิตที่สวยและมากไว้บริโภค แต่เปิดใจเรียนรู้ สังเกต รับฟังธรรมชาติไปด้วย ประสบการณ์ในวิถีการทำสวนนั้น ก็จะมีคุณค่า และนำพาให้เราได้เข้าใจชีวิตในมิติอื่นๆได้มากยิ่งนัก

มีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์ Craig Holdrege ผู้เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นประธานสถาบัน Nature Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ทั้งให้การศึกษา ทำงานวิจัย และเผยแพร่ การมองธรรมชาติและเทคโนโลยีในมุมใหม่ ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถมองเห็น ตระหนักถึงคุณค่า และร่วมกันดูแลปกป้องรักษาธรรมชาติอย่างไม่แยกส่วน ทว่าสามารถมองเห็นความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันของสรรพสิ่งต่างๆ  สามารถเปิดรับ และเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่างที่มันเป็น มีการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างที่มันเป็น มากกว่าจะนำเอาเทคนิค ความรู้ต่างๆที่เคยมี หรือเคยร่ำเรียนมา มาใช้ในการมอง

 Craig Holdrege ได้แบ่งปันหลายประเด็นที่น่าสนใจ เขาเล่าถึงประสบการณ์ในชีวิตเขาที่มีโอกาสได้เรียนรู้วิชา Goethean phenomenological science และได้พบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในสายตาการมองสิ่งต่างๆ หลังจากที่เขามีโอกาสได้สังเกตวัชพืชชนิดหนึ่งอย่างใกล้ชิด และได้พบว่าแม้จะเป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่หากเติบโตในที่ต่างกัน สิ่งแวดล้อมต่างกัน พืชก็มีลักษณะการเติบโตที่ต่างกันด้วยเช่นกัน มันทำให้เขาพบว่าทุกอย่าง ล้วนขึ้นอยู่กับบริบท ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่มีสิ่งใดตายตัวเลย

อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นเรื่องราวของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามสายใยเครือข่ายชีวิตที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างล้วนสดใหม่ แตกต่าง และน่าสนใจ

เขายังได้พูดถึงเรื่องการทำเกษตรในปัจจุบันว่าการที่เราหันมาพึ่งพิงเทคโนโลยี หรือเชื่อให้ข้อมูล ความรู้ต่างๆที่ผ่านการศึกษาโดยบุคคลที่สาม ทำตามตำรา ทำตามสูตร อย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบท สิ่งแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ ไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของพื้นที่ตัวเอง สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายได้ เพราะสิ่งนี้ทำให้คนปลูกกับผืนดิน พืชพรรณ สัตว์ต่างๆ ขาดการสื่อสารเชื่อมโยงที่แท้จริงต่อกัน  สิ่งที่เราควรทำคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะสังเกต ให้ความสนใจกับสิ่งที่เราปลูกให้มาก มองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับบริบทที่ตัวเองอยู่ เป็นการทำงานอยู่ตรงนั้นกับสิ่งที่ตัวเองปลูกจริงๆ เปิดรับสิ่งที่ได้เห็น ได้สัมผัสจริงๆ ไม่ติดกับข้อมูลความรู้ใดๆ

ความน่าสนใจคือ เขาบอกว่า สิ่งที่เราแต่ละคนจะได้รู้ ได้มองเห็น ก็เป็นปัจเจก ไม่เหมือนกัน เรียกว่าพื้นที่ปลูกเดียวกัน แต่คนสังเกตคนละคน เราก็เห็นอะไรที่ต่างกัน แล้วแต่ว่าเราจะเชื่อมโยงกับสิ่งไหน รู้สึกพิเศษกับสิ่งไหน และก็อยากที่จะเรียนรู้ในสิ่งนั้นเพิ่มเติม มันเป็นการสื่อสารเชื่อมโยงกันระหว่างตัวเรากับธรรมชาติด้วย

Craig บอกว่า ในการเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรนั้น นอกจากเราจะเรียนรู้เรื่องเทคนิควิธีแล้ว เราต้องเรียนรู้เรื่องการสังเกตควบคู่ได้ด้วย เหมือนเป็นการเปิดอวัยวะการรับรู้ใหม่ควบคู่ไปด้วย  เรียกว่าอย่างน้อย ก่อนที่คุณจะลงมือทำสวน รีบที่จะลงกล้า ปลูกผัก เพื่อให้ทันฝน อย่างน้อยคุณก็ใช้เวลาสัก 5 นาที หรือแม้แต่สัก 10 วินาที ในการหยุดที่จะสังเกตอะไรสักอย่างอย่างเต็มที่ ก็น่าจะช่วยให้คุณเข้าใจอะไรได้มากขึ้น ได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์การแห่งชั่วเวลาที่อยู่ตรงนั้น กับพืชพรรณ หรือธรรมชาติตรงหน้าอย่างแท้จริง

ในคลาสที่ทางสถาบันจัดให้กับกลุ่มเกษตรกร ก็จะมุ่งเน้นไปที่การให้พวกเขารู้จักสังเกต เข้าใจธรรมชาติของพืช ธรรมชาติของสัตว์ และเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆ นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับการที่ให้เกษตรกรมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตตัวเอง และให้ความสัมพันธ์กับความเป็นชุมชนที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน แต่ด้วยมุมมองที่ว่า สิ่งนี้ดี เป็นประโยชน์ ใช้ได้ผลในที่ของเธอ ส่วนในที่ของฉัน ฉันต้องศึกษา และทดลองดูอีกทีว่าจะปรับอย่างไรได้บ้าง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพืช สัตว์ แสงแดด ผืนดิน ผืนน้ำ ผู้คนในแต่ละบริบทที่ต่างกัน

ตัวอย่างวิธีการเรียนรู้ที่จะฝึกสังเกตธรรมชาติอย่างที่เป็นในวิถีของเกอเธ่ที่เขาพูดถึงนี้ ก็เช่นการสังเกตพืชชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างใกล้ชิด ค่อยๆดูตั้งแต่วันที่เขาแทงเมล็ด เปลี่ยนรูป และเติบโต นอกจากสังเกตอย่างเดียว เขาก็ให้วาดรูปพืชนั้นด้วย โดยให้วาดทุกวัน และก็ให้นึกในใจย้อนดูถึงการเติบโตของพืชนั้นในจินตนาการควบคู่ไปด้วย  จากนั้นก็เรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น เรียนรู้ถึงความแตกต่างของรูปทรง และลักษณะการเติบโต จากนั้นก็เรียนรู้ถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับถิ่นที่อยู่ที่พืชเติบโต ว่าเขาเติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมแบบไหน และเมื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เขาเป็นอย่างไร การเห็นความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายของพืชพรรณเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสิ่งต่างที่เรามองก็ไม่ได้มีความตายตัวอีกต่อไป มันไหลลื่น เปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน ซึ่งมุมมองวิธีคิดแบบนี้แหละที่จะมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจชีวิต และโลกใบนี้มากขึ้น ดังที่เกอเธ่กล่าวไว้ว่า

“If we want to attain a living understanding of nature, we must become as flexible and mobile as nature herself.”

“ถ้าเราอยากเข้าใจธรรมชาติ เราต้องสามารถที่จะมีความยืดหยุ่น และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ดั่งที่ธรรมชาติเป็น”

และบางทีการมองเห็นโลกแบบนี้ ก็อาจเป็นทางออกที่ช่วยเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาหลายอย่างที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

https://static1.squarespace.com/static/5d41f82684370e0001f5df35/t/5ffe08eeedfa210959b421d1/1610483977589/AcresUSA_October_2020-web.pdf

https://www.natureinstitute.org/article/craig-holdrege/learning-to-see-life

https://www.natureinstitute.org/about

https://web.facebook.com/The-Nature-Institute-151918991519832/photos/?ref=page_internal

ใครสนใจก็สามารถเข้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม และศึกษาเรียนรู้เรื่องราว วิชา ของสถาบัน Nature institute กันดูนะคะ มีข้อมูลเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายจริงๆ