Der Kleingarten 🌶🌽 จากเพจ : หัดเยอรมัน

📣วันนี้สวนผักคนเมืองมีเรื่องเล่าดีๆ จากเพจ : หัดเยอรมัน ที่แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับ 🌱🌿Der Kleingarten 🌶🌽 มาเล่าให้ฟังนะคะ .คิดไว้นานแล้วว่าจะเล่าเรื่องการทำสวนผักของคนเมืองในเยอรมนีให้ฟังกัน แต่ก็ผลัดมาเรื่อย ๆ จนมาถึงช่วงนี้ล่ะ แต่ละสวนกำลังสวยฝุด ๆ เราเลยจะได้มีรูปมาประกอบโพสต์ซักที ✨🌾🌻

ขอเกริ่นสักนิดว่า เพื่อนๆ น่าจะนึกภาพออกใช่มั้ย ที่เมืองไทย หากเรามีใจรักการปลูกต้นไม้ ทำสวน อยากปลูกต้นนี้ ต้นนั้น แต่มีข้อจำกัดด้วยว่าเราอาศัยอยู่ในเมือง บนตึกอพาร์ตเมนต์ คอนโด หรือหอพัก เราคงทำได้อย่างมากแค่ปลูกต้นไม้ในกระถางวางไว้ที่ระเบียงห้องซึ่งส่วนใหญ่มักจะแคบๆ ใช่มั้ย ตอนเราอยู่ไทย เราก็ต้องทนปลูกอยู่แบบนั้นแหละ อึดอัดใจเหลือเกิน 🏦😞

ตัดภาพมาที่หลายประเทศในยุโรปรวมถึงเยอรมนี คนเมืองผู้มีใจรักการทำสวนที่นี่โชคดีมากเลย ที่พวกเค้าไม่ต้องทนเก็บกดกับข้อจำกัดเรื่องพื้นที่เหมือนอย่างเราๆ เมื่อหลายปีก่อนที่ประเทศเดนมาร์ก เราได้เห็นสวนผักคนเมืองของแถบนี้เป็นครั้งแรก สวนผักนี้เกิดจากการแบ่งสรรที่ดินผืนใหญ่ (คิดว่าเป็นที่ดินของรัฐ) ออกเป็นผืนเล็กๆ แล้วให้ประชาชนได้เข้ามาเช่าใช้พื้นที่ปลูกนี่ ปลูกนั่น อะไรก็ได้ตามใจต้องการ และด้วยภาพลักษณ์ที่น่ารักมากๆ ของสวนที่เราเห็น เราเลยมโนอยากมีสวนสวยๆ แบบนี้บ้าง 🏡😇

สวนขนาดเล็กลักษณะนี้คนที่พูดภาษาอังกฤษเค้าเรียกกันว่า Allotment garden ส่วนในภาษาเยอรมันจะเรียกกันว่า Der Kleingarten (แดร์ ไคลน์การ์เท่น) ซึ่งแปลตรงตัวว่า สวนเล็ก ๆ (the small garden) หรือบางทีก็เรียกว่า Schrebergarten (อ่านออกเสียงว่าไงไม่รู้) แต่ในเมืองที่เราอาศัยอยู่นี้ เรามักจะเห็นเค้าใช้คำว่า Kleingarten กันเป็นส่วนมาก ซึ่งส่วนใหญ่สวนที่เราเห็นมักจะดำเนินการกันผ่านรูปแบบของชมรมหรือสมาคม และสมาชิกของชมรม ก็จะได้สิทธิ์เข้ามาใช้พื้นที่ที่จัดสรรไว้ แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนะแจ๊ะ.โชคดีของเราอย่างหนึ่งคือ ละแวกบ้านเรามีชมรม Kleingärten รายล้อมอยู่เยอะมาก อาจเป็นเพราะว่าเป็นพื้นที่แถวชานเมืองละมั้ง แต่ถึงมันจะเป็นพื้นที่บ้านนอก เราก็ไม่ได้เสียใจหรือน้อยใจอะไร ตรงกันข้ามกลับรู้สึกดี ทีมีพื้นที่ให้ไปเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์อยู่บ่อยๆ ดังนั้นแต่ละครั้งที่เราได้ออกไปเดินหรือปั่นจักรยานเล่น ไม่ว่าจะไปเส้นทางไหน ก็จะมีชมรมสวนเล็ก ๆ นี้อยู่ให้เราผ่านตลอด ๆ🏡🏡

เมื่อตอนช่วงแรกๆ ที่ย้ายมาอยู่ ด้วยความที่เคยมโนไว้ว่าอยากมีสวนแบบนี้ มีอยู่วันหนึ่งเราไปเดินเล่นและเห็นป้ายประกาศติดที่ประตูทางเข้าของชมรมว่า Freie Gärten ซึ่งหากเราแปลเองก็ได้ความหมายว่า Free gardens เรากับ จล. (แฟน) ก็ดีใจคิดว่าได้พื้นที่ทำสวนฟรีแน่ๆ เลยพากันไปถามคนดูแลเรื่องเช่าสวน บอกว่าอยากทำสวนมาก งู้นงี้ แบบว่ากลัวไม่ได้ที่สุดฤทธิ์ คุณลุงคนดูแลชมรมก็ใจดี บอกว่าได้เลย มีที่ว่างอยู่ แล้วก็พาเดินไปดูที่ทันที ปรากฏว่าเป็นที่ที่เคยไฟไหม้ บ้านสวนเหลือแต่ตอ คุณลุงบอกว่า หากจะเข้ามาทำคงต้องปรับปรุงทัศนียภาพของสวนให้สวยงามเพราะเป็นกฎของชมรม และต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี เราสองคนเห็นท่าว่าไม่มีปัญญาทำกระท่อมไฟไหม้ให้ดูดีขึ้นแน่นอนเลยต้องขอบาย สุดท้ายเราเพิ่งมาถึงบางอ้อตอนหลังว่า คำว่า Free gardens ที่ว่า หมายถึงว่ายังมีที่ว่างเหลือให้เข้าไปทำสวน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าให้เข้าไปทำสวนฟรี นะจ๊ะ ง่าวจริงๆ 😂

วันนี้พอเราตั้งใจว่าจะลงมือเขียนโพสต์เรื่องนี้ซะที เราเลยลงมือค้นคว้าข้อมูลสักหน่อย ปรากฏว่าข้อมูลในวิกิพีเดียบอกเราว่า …ในบรรดาประเทศทั้งหลายที่มีการทำสวนแบบ Kleingärten นี้ เยอรมนีเป็นประเทศที่มีจำนวนตัวเลขสมาชิกของชมรมเยอะที่สุด คือเกือบหนึ่งล้านคน ซึ่งหมายถึงว่าจำนวนสวนก็เยอะผกผันตามกันไปด้วย และเมืองไลพ์ซิกที่เราอาศัยอยู่นอกจากจะเป็นเมืองที่มีจำนวนของ Kleingärten ต่อประชากร 100 คนสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศแล้ว ที่สำคัญยังเป็นเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำสวนแบบนี้ในประเทศนี้ก่อนจะแพร่หลายและกระจายไปในประเทศอื่นๆในยุโรปอีกด้วย !! อืมมม ไม่ธรรมดานะจ๊ะ👍🤔

เรื่องราวความเป็นมาก็มีอยู่ว่า ราวๆ ยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนงานที่อพยพจากชนบทเพื่อเข้ามาหางานทำในเมือง ต้องมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ขาดแคลนอาหารทีดี ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ดังนัน้เพื่อแก้ไขภาวะปัญหานี้ รัฐจึงได้จัดสรรที่ดินและอนุญาตให้แรงงานเหล่านี้ได้เข้าไปปลูกพืชผักไว้บริโภคเอง ดังนั้นในช่วงแรก ๆ สวนลักษณะนี้จึงถูกเรียกว่า สวนของคนจน หรือ gardens of the poorความสำคัญของสวนยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ก็ได้สวนเล็กๆ เหล่านี้แหละที่เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับคนเมืองในสมัยนั้นให้อยู่รอดมาได้ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง 💪

ปัจจุบัน ด้วยบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป จากการสังเกตการณ์ดูจากสวนใกล้ๆ บ้านแต่ละแห่ง เราคิดว่าสวนเหล่านั้นไม่ใกล้เคียงคำว่า สวนของคนจน ที่มีเอาไว้ปลูกพืชเลี้ยงปากท้องเป็นหลักอีกต่อไป ตรงกันข้ามน่าจะกลายมาเป็น สวนของคนไม่จนซะมากกว่า เพราะในแต่ละสวนนั้น อย่างน้อยก็ต้องมีบ้านกระท่อมเล็กๆ ที่เรียกว่า Laube เอาไว้เก็บเครื่องไม้เครื่องมือ โต๊ะเก้าอี้ ซึ่งแต่ละหลังที่เค้าประกอบขายกันก็ไม่ได้ราคาถูกๆ เลย และนอกจากนี้พบว่า จุดประสงค์หลักในการทำสวนน่าจะเพื่อการสันธนาการ พักผ่อนหย่อนใจและงานอดิเรกของครอบครัวซะเป็นส่วนมาก เพราะสังเกตว่าบางสวนนิยมปลูกไม้ดอกในสัดส่วนที่มากกว่าพืชผักซะอีก และช่วงสุดสัปดาห์เค้าจะมาทำกิจกรรมกันที่สวน บ้านไหนมีเด็กเล็ก เราถือว่าเด็กบ้านนั้นโชคดี ที่ได้เติบโตใกล้ชิดธรรมชาติ ยิ่งถ้าวันไหนอากาศดี เค้าจะชอบมาสังสรรค์รวมญาติ เพื่อนฝูงมาปิ้งย่างบาร์บีคิวกินกันที่สวนเป็นประจำ (สวนหลังบ้านเราทำบ่อย)🍻🍺

แต่ถึงแม้ฟังก์ชั่นทางสังคมของสวนจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจ คือ ฟังก์ชั่นทางนิเวศวิทยาของสวนยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่การเป็นแหล่งอาหารให้กับนก แมลง หรือว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองช่วยในเรื่องของการเก็บกักคาร์บอน (carbon storage) รวมถึงการให้บริการทางระบบนิเวศ (ecosystem services) กับชุมชนเมืองอีกเยอะแยะมากมาย เพื่อนๆ ไปหางานวิจัยมาอ่านได้ตามสบาย

สุดท้ายเลยอยากบอกว่า พอเราได้มาอยู่มาเห็นอะไรแบบนี้ในชีวิตประจำวัน เราก็แอบฝันอยากให้ที่เมืองไทยมีการแบ่งที่ดินของรัฐมาทำอะไรแบบนี้บ้าง (หรือว่ามีแล้วแต่เราตกข่าว) ไม่ใช่แต่เอาไปสร้างตึกหวังกำไรจากการค้าอย่างเดียว นอกจากบ้านเมืองจะได้มีพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรในชุมชนแล้ว ที่สำคัญยิ่งช่วงนี้มีแนวโน้มว่าข้าวปลาจะขึ้นราคาไปเรื่อย ๆ คนที่ไม่มีที่ดินส่วนตัวจะได้มีโอกาสปลูกพืชปลอดสารพิษไว้กินเองบ้างอะไรบ้าง หวังว่าลุง ต. จะคืนความสุขให้ประเทศไทยในรูปแบบนี้ในสักวันเน้อ (เดวคงต้องไปนอนฝันเอาเอง)🤔

.มาร่วมสร้าง 🌱🌿Der Kleingarten 🌶🌽 กันคะ