ชวนกันออกแบบพื้นที่ และออกมาเล่นนอกบ้านอย่างสร้างสรรค์

ช่วงนี้เด็กๆหลายโรงเรียนคงจะเข้าใกล้การปิดเทอมกันเข้ามาทุกที ปิดเทอมคราวนี้ แทนการปล่อยให้เด็กๆอยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยม ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ หรือการพาเด็กๆไปเล่นตามคาเฟ่ หรือตามสถานที่เล่นเด็กในอาคารอย่างเดียว อยากชวนให้จูงมือกันออกมาเล่นกันนอกบ้านกันบ้าง เพราะการเล่นนอกบ้าน ได้รับสายลม แสงแดด ได้อากาศบริสุทธิ์ ได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระนั้น มีประโยชน์หลายสถานกว่าการเล่นในอาคารยิ่งนัก  ส่วนใครที่ไม่รู้ว่าจะออกแบบพื้นที่ หรือจะชวนกันเล่นยังไงได้บ้าง ลองมาดูไอเดียที่คัดสรรนำมาแบ่งปันกันค่ะ

ถามว่าเล่นนอกบ้านมีประโยชน์หลายสถานอย่างไรบ้าง ก็ขอสรุปงานวิจัยที่เขาพบมาให้ได้อ่านกันเป็นข้อๆ ว่าการออกมาเล่นนอกบ้าน จะมีประโยชน์ต่อเด็ก คือ

  • ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสายตาสั้น
  •  ช่วยให้กระดูกแข็งแรง กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น ความจำดี มีศักยภาพในการเรียนรู้มากขึ้น
  • ช่วยให้นอนหลับดี
  • ช่วยให้ได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ มีกิจกรรมทางกายที่มีชีวิตชีวา
  • ช่วยให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ผ่านรับรู้ทางกาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว หรือการสัมผัสสิ่งต่างๆรอบตัว
  • ช่วยคลายเครียด ลดความวิตกกังวล
  • ช่วยลดปัญหาเรื่องพฤติกรรม  อย่างโรคสมาธิสั้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆที่รู้ถึงข้อดีต่างๆมากมาย แต่หลายบ้านก็คงคิดจินตนาการกันไม่ค่อยออกว่าจะชวนเด็กออกมาเล่นนอกบ้านยังไงได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมือง มีพื้นที่ก็จำกัด บางคนงบประมาณก็มีไม่ได้มากนัก หรือบางคนถึงมีพื้นที่สวนกว้างๆอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนเด็กๆก็ไม่ได้สนใจอยากจะออกมาเล่นเท่าไหร่ มีโอกาสได้อ่านประสบการณ์ของคุณแม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็กอย่างคุณ Jodie Clarke เล่าถึงเรื่องราว เทคนิค วิธีการชวนลูกๆ และเด็กๆเล่น ก็รู้สึกมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ และอยากลองนำมาแบ่งปันกันค่ะ

เรื่องแรกเลยคือ การออกแบบพื้นที่เล่นนอกบ้านที่มีองค์ประกอบสำคัญๆ 5 อย่างด้วยกัน และก็เป็นการออกแบบที่ไม่น่าจะต้องใช้งบประมาณอะไรมากมายนัก แถมยังดูน่าสนุกมากๆด้วย โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กๆ องค์ประกอบที่ว่านั้น ก็มีตั้งแต่

1. ของรีไซเคิล หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ชำรุดแล้วต่างๆ : ไม่ว่าจะเป็นเครื่องครัว หม้อ ตะหลิว กระทะ แก้วน้ำ กระดุม ท่อน้ำ ถัง แผ่นไม้ต่างๆ ของเหล่านี้ สามารถกลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ในจินตนาการของเด็กๆได้หลากหลายรูปแบบ สุดแท้แต่ความสร้างสรรค์ของพวกเขา

2. น้ำ : เป็นที่รู้กันเลยว่า เด็กกับการเล่นน้ำเป็นของคู่กัน ดังนั้นในพื้นที่สำหรับเล่นของเด็กๆ ถ้ามีถังหรือกะละมังใส่น้ำไว้สักใบ สำหรับให้เด็กๆได้เล่นด้วย เด็กๆก็จะสนุกสนานกับการทดลอง การค้นพบสิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ควรทำข้อตกลง และจำกัดปริมาณการใช้น้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองมากจนเกินไป เช่นอาจจะบอกเด็กว่าสามารถใช้น้ำในถังนี้ได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าหมดแล้วคือหมดเลย จะไม่มีการเติมน้ำให้ใหม่ เด็กๆก็จะได้เรียนรู้การบริหารจัดการปริมาณน้ำที่เขาเล่นในที่ต่างๆเอง และได้เรียนรู้เรื่องการประหยัด การใช้ทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่าด้วย

3. ทราย/หิน/ก้อนกรวด/ วัสดุธรรมชาติ : ในบริเวณพื้นที่เด็กเล่น เราอาจจะหาทราย หาก้อนหิน ก้อนกรวด รวมถึงท่อนไม้ หรือลูกไม้ต่างๆมาไว้ในพื้นที่ด้วย บางคนก็อาจทำเป็นเหมือนกระบะทราย บางคนก็ทำเป็นลานทราย ให้เด็กๆได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ซึ่งระหว่างการเล่นนั้น เด็กก็ได้เปิดประสาทสัมผัสจากการหยิบจับวัสดุที่ผิวสัมผัสต่างกันไปด้วย หากใครอยากสอดแทรกการเรียนรู้ไปด้วย พวกหิน ก้อนกรวด ก็เป็นเครื่องมือที่ดี ที่จะช่วยสร้างการเรียนรู้ อย่างการนับเลข การคำนวณ ได้ เป็นต้น

4. ต้นไม้ พืชผัก ดอกไม้ นานาชนิด : แน่นอนว่าในบริเวณที่เด็กเล่น การมีต้นไม้ พืชผัก หรือดอกไม้หลากสีสันปลูกอยู่ด้วย ก็จะช่วยสร้างความมีชีวิตชีวิตให้กับพื้นที่ เด็กๆมีโอกาสได้มีส่วนช่วยรดน้ำ ดูแล และสังเกตการณ์เจริญเติบโตของพืชพรรณต่างๆ หากปลูกพืชผักก็ยังสามารถสอนเรื่องที่มาของอาหาร ให้เด็กๆได้มีส่วนช่วยเก็บ และนำไปทำอาหารด้วยกันได้อีก

5. ความท้าทาย ความเสี่ยง การผจญภัย: อีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับการจัดสรรพื้นที่เล่นให้เด็ก ก็คือ พื้นที่นั้นต้องมีความท้าทาย สร้างความรู้สึกน่าผจญภัย มีอะไรให้ทดลองทำอยู่ด้วยบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปีนป่าย การทรงตัว การกระโดด การสไลด์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรประมาท และควรคำนึงถึงอยู่เสมอด้วยเช่นกัน คือมีความเสี่ยงชวนให้ตื่นเต้น แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ความปลอดภัย

นอกจากการออกแบบพื้นที่แล้ว บางครั้งการสร้างสรรค์กิจกรรมให้น่าสนใจ และชวนกันทำไปด้วยกัน ก็น่าสนุกอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือนอกจากเด็กๆจะได้เล่นสนุกอย่างสร้างสรรค์แล้ว ยังได้สานสัมพันธ์กับครอบครัวด้วย

คุณ Jodie Clarke เธอเห็นความสำคัญของการทำสวนว่ามีส่วนช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องวงจรชีวิตในธรรมชาติ ได้เห็นการเติบโตของพืชผักจากเมล็ด เป็นต้น ผลิใบ ออกดอก ออกผล จนกลายมาเป็นอาหารให้เราได้กินกัน นอกจากนี้เธอจะบอกว่า การทำสวนมีส่วนช่วยทำให้เด็กๆรู้จักรับผิดชอบ และได้ฝึกความอดทนด้วย เรียกว่ากว่าพืชผักจะโต ก็ต้องอาศัยการดูแลรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ และต้องเรียนรู้ที่จะอดทนรอคอย ไม่ใช่ปลูกวันนี้ พรุ่งนี้ก็กินได้เลย ที่สำคัญเด็กๆยังได้ฝึกทั้งทักษะการเคลื่อนไหว การใช้มือ ใช้กล้ามเนื้อ ได้ฝึกประสารทสัมผัส ได้เรียนรู้เรื่องสี  ได้เรียนรู้เลข ผ่านการนับกลีบ ใบ ดอก ผล หรือผ่านการชั่งตวงวัด อย่างการปรุงดิน ทำปุ๋ย ได้เรียนรู้เรื่องการจำแนกประเภท รวมไปจนถึงการเคารพธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เธอไม่เพียงชวนเด็กๆออกมาปลูกผัก ทำตามเทคนิควิธีขั้นตอนต่างๆเพียงอย่างเดียว แต่เธอใช้วิธีชวนเด็กๆจำลอง และเปิดร้านขายอุปกรณ์การเกษตรในสวนหลังบ้านเธอ ด้วยความที่เธอสังเกตเห็นเด็กๆสนใจสำรวจที่ต่างๆเวลาไปเดินร้านขายอุปกรณ์ทำสวน

เธอช่วยกันกับเด็กๆจำลองร้านขึ้นมาด้วยไม้พาเลทเหลือใช้ ให้เด็กๆช่วยกันคิดวางแผนว่าในร้านจะขายอะไรบ้าง เพื่อที่จะนำมาปลูกผักได้ ซึ่งก็อาจตั้งแต่เมล็ดพันธุ์นานาชนิด ถุงมือ กระถาง บัวรดน้ำ ช้อนปลูก ดิน ปุ๋ย ต้นกล้า เป็นต้น โดยมีก้อนกรวดแทนเงินในการใช้จ่าย หลังจากเล่นขายของอุปกรณ์ทำสวนกันแล้ว เด็กๆก็จะได้อุปกรณ์ เมล็ดพันธุ์ หรือต้นกล้าที่ตัวเองต้องการปลูก และเราก็ลงมือปลูกผักไปด้วยกัน เรียกว่าระหว่างเล่นบทบาทสมมติกัน เด็กๆก็จะทั้งสนุก และก็ได้เรียนรู้หลายอย่างผ่านบทสนทนาไปด้วยในตัว เช่นเราอาจจะเป็นลูกค้า และขอซื้อเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้ เด็กๆก็จะต้องหัดดูซอง หัดอ่าน ไปด้วยในตัว หรือเวลาซื้อขาย ก็ได้หัดคิดคำนวณ ยังไม่นับตอนได้ลงมือปลูก และดูแล ซึ่งก็มีประโยชน์มากมายดังที่ได้กล่าวมา

นับเป็นไอเดียสร้างสรรค์เล็กๆน้อยๆ ที่เก็บมาแบ่งปันกันนะคะ เผื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ หรือบ้านที่มีเด็กๆ จะเกิดแรงบันดาลใจ นำไปสร้างสรรค์พื้นที่เล่นนอกบ้านให้เด็กๆเล่นกันได้มากขึ้น ด้วยความเชื่อว่า เด็กๆที่ได้เล่นนอกบ้าน ท่ามกลางธรรมชาติ จะเติบโตเป็นเด็กที่ทั้งแข็งแรง และมีความสุขกว่าเด็กที่อยู่แต่ในอาคาร ในบ้าน หรือในห้องสี่เหลี่ยมค่ะ

ขอบคุณรูปภาพและเรื่องราวจาก

https://www.parentingscience.com/benefits-of-outdoor-play.html

https://www.theempowerededucatoronline.com/2015/06/5-important-elements-to-include-in-your-natural-outdoor-play-space.html/