ปลูกผักตามนิสัยผัก : ผักชี

ผักชี เป็นพืชวงศ์ผักชีและเป็นพืชปีเดียว จะขึ้นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ฝนตกชุก และอากาศอบอุ่น

ผักชี เกิดขึ้นในแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล้วแพร่พันธุ์ไปยังที่อื่น ทางด้านหนึ่งเดินทางผ่านเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ เข้ามาแพร่พันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกเส้นทางหนึ่งคือเข้าไปยังทวีปอเมริกาใต้ เป็นผักที่นิยมปลูกกันตั้งแต่โบราณ ใบใช้เป็นสมุนไพร เมล็ดถูกใช้เป็นเครื่องเทศ

พื้นที่ถิ่นกำเนิดบริเวณของผักชีเป็นที่ราบสูงภูมิอากาศอบอุ่น และขึ้นตามพื้นที่ซึ่งมีพืชชนิดอื่นอยู่อย่างหลากหลาย
ในบริเวณที่ราบสูงของประเทศไทยและประเทศเมียนมาที่อุดมไปด้วยพืชพรรณหลายชนิด เราจะสามารถเห็นผักชีป่าขึ้นเป็นหย่อม ๆ

เคล็ดลับการปลูกผักชี

1. ปรับปรุงแปลงด้วยการใส่ปุ๋ยคอกมูลวัว
   ระยะหลังมานี้ผักชีได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากปลูกขึ้นได้ง่ายจึงมีแต่คนขอให้ได้ลองปลูกในสวนดู
นอกจากใบแล้วรากผักชีก็มีรสชาติอร่อย หากมีเมล็ดก็นำไปใช้เป็นเครื่องเทศได้ด้วย
การปลูกผักชีนั้นต้องเตรียมแปลงระบายน้ำได้ดี ถ้าแปลงเป็นดินเหนียวให้ยกแปลงสูง ก่อนหว่านเมล็ด 2 อาทิตย์ให้ใส่ปุ๋ยมูลวัวที่ยังหมักไม่สมบูรณ์ดีประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร และลึกประมาณ 20 เซนติเมตรทั่วทั้งแปลง ทำแบบนี้จะทำให้รากเจริญเติบโตได้ดี และเราจะสามารถนำรากมาใช้งานได้

2. หว่านเมล็ดเป็นจุด ๆ ทำให้ต้นผักชีมีขนาดใหญ่
เตรียมแปลงกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร หว่านเมล็ดเป็นแถวจุดละ 1 เมล็ด ห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร พอเริ่มโตจนมีใบจำนวนมาก (สังเกตจากใบที่เบียดชิดกัน) ให้เริ่มถอนแยกและเก็บไปใช้ ซึ่งจะทำให้ระยะห่างระหว่างต้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จากนั้นโรยปุ๋ยโบกาฉิลงที่ช่องว่างระหว่างต้นที่ถอนออกไปแล้วสักเล็กน้อยแล้วไถพรวนดิน และรดน้ำ เว้นระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 40 เซนติเมตร เพื่อจะได้ผักชีต้นใหญ่
แม้โดยทั่วไปเราจะหว่านเมล็ดในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝน แต่จริง ๆ แล้วหว่านเมล็ดผักชีได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคมซึ่งอากาศเย็นจัด และช่วงกลางเดือนกรกฏาคม – กลางเดือนสิงหาคมซึ่งอากาศร้อนจัด ถ้าหว่านเมล็ดหลายครั้งใน 1 ปีก็จะได้ลิ้มรสผักชีสดใหม่ตลอดทั้งปี

3. ให้ปุ๋ยเสริมและรดน้ำเพื่อการเจริญเติบโต
ผักชีชอบน้ำ หากช่วงที่ปลูกรู้สึกว่าใบเริ่มมีสีซีดจาง ควรให้ปุ๋ยโบกาฉิในปริมาณน้อยและรดน้ำเพิ่ม อย่างไรก็ตามผักชีไม่ชอบความชื้นที่มากจนเกินไป จึงควรคลุมด้วยหญ้าแห้งหรือฟางบาง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ชื้นหรือแห้งจนเกินไป
ขณะเดียวกัน ผักชีก็ไม่ชอบอุณหภูมิสูง ๆ จึงไม่แนะนำให้ใช้พลาสติกคุลม ในพื้นที่เพาะปลูกในประเทศไทยช่วงที่มีฝนตกชุก จะนำใบไม้ขนาดใหญ่มาคลุมแปลงเอาไว้ ผักชีไม่สามารถปล่อยทิ้งตามยถากรรมได้
การเก็บเกี่ยวจะถอนทั้งรากหรือเด็ดแต่ใบไปใช้ก็ย่อมได้ แต่ขอให้เหลือต้นไว้จำนวนหนึ่งเพื่อให้ติดเมล็ดด้วย

การควบคุมปริมาณน้ำและธาตุอาหาร

ความสูงของแปลงเพาะปลูก : ถ้าเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดีให้ทำแปลงราบ แต่ถ้าเป็นดินเหนียวให้ยกแปลงสูงประมาณ 15 เซนติเมตร
ปุ๋ยรองพื้น : ผสมปุ๋ยมูลวัวที่หมักไม่สมบูรณ์ให้ทั่วแปลง ถ้าเป็นดินเหนียวให้ลดจำนวนลงร้อยละ 20 แต่ถ้าเป็นดินทรายให้เพิ่มปริมาณ
ร้อยละ 20
ปุ๋ยเสริม : หลังจากถอนแยกแล้วให้ใส่ปุ๋ยโบกาฉิ ปริมาณที่เหมาะสมคือ 1 หยิบมือ

พืชพันธมิตร

“ผักชีจะแพ้พ่าย ถ้าปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น”
ผักชีมักขึ้นเป็นหย่อมเล็ก ๆ กลางหญ้าในธรรมชาติ ดูเหมือนว่าผักชีจะอยู่ร่วมกับผักชนิดอื่นได้ แต่เมื่อทดลองปลูกผักชีลงในแปลง จะพบว่า
ผักชีแพ้ภัยพืชชนิดอื่น ดังนั้นผักชีจึงเป็นผักที่ต้องปลูกเดี่ยว ๆ

ที่มา :
หนังสือปลูกพืชตามนิสัยผัก
เขียนโดย Toshio Kijima แปลโดย นิพดา เขียวอุไร