กลุ่มคนเย็บผ้า 92 คลองบางพราน เขตบางบอน

#เกษตรกร ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากราคาผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ (คนจนชนบท)

#กลุ่มคนเย็บผ้า ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ถูกเลิกจ้าง (คนจนเมือง)


กลุ่มคนเย็บผ้า 92 คลองบางพราน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นผู้ที่มีอาชีพเกษตรกรในต่างจังหวัด (ทำนา) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ประสบปัญหาจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ  มีรายได้ไม่มากพอสำหรับการดูแลครอบครัว จึงต้องย้ายถิ่นเข้ามาหารายได้ในเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยการรับเย็บผ้าจากตลาดโบเบ้ที่มีราคาถูก ซึ่งบางช่วงก็มีงาน และบางช่วงก็ไม่มีงาน (ไม่มีรายได้) ทำให้สมาชิกต้องหางานอื่นเข้ามาเสริม แต่อย่างไรก็ตาม บางคนช่วงหน้าทำนาก็กลับไปทำนาได้ข้าวก็เอามาไว้กินที่ในเมือง

.

ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดเสื้อผ้ามีการแข่งขันสูง ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้โรงงานเย็บผ้าทยอยปิดตัวลงคนงานตกงานเป็นจำนวนมากในพื้นที่คลองบางพราน ทั้งคนงานไทยและคนงานข้ามชาติ  เมื่อต้องออกจากโรงงาน (ถูกเลิกจ้าง) ก็มารวมกลุ่มกันรับงานเอง (จนเกิดกลุ่มคนเย็บผ้า 92 คลองบางพราน) ซึ่งทำให้งานลดน้อยลง  ราคาก็ต่ำลง คนเย็บผ้าประสบปัญหามากขึ้น ทำให้ไม่มีทางเลือก (ต้องหารายได้) จำเป็นต้องรับมาทำ  เพื่อให้มีรายได้มากพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

.

คนเย็บผ้าจึงต้องมี ชั่วโมงการทำงานมากกว่า 10 – 12 ชม. ต่อวัน เพื่อให้ได้ค่าจ้างมากพอที่จะเป็น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ของกลุ่ม และเป็นค่าอาหาร ค่าโรงเรียน ลูก ๆ ของสมาชิก นั้นหมายถึงคนเย็บผ้าจะมีเวลาในการดูแลสุขภาพน้อยลง เมื่อป่วยก็ต้องซื้อยากินเอง เพราะถ้าเข้าโรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องขาดรายได้ (ต้องพักรักษา)

.

เนื่องจากสมาชิกยังไม่มีการย้ายสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ  และระบบประกันสังคมก็ต้องใช้สิทธิการรักษาสุขภาพตามโรงพยาบาลต้นสังคม คือ ต่างจังหวัด  คนเย็บผ้าที่มาจากต่างจังหวัด จึงมีค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพสูง และยังเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะไม่ใช่คนพื้นที่ กรุงเทพมหานคร

 

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐมากเท่าทีควรจะได้รับ จึงทำให้สมาชิกมีความต้องการในการทำโครงการปลูกผัก เนื่องจากมองเห็นว่าเป็นโอกาสในการลดค่าใช้จ่าย แล้วยังได้กินผักที่ปลอดสาร และถือเป็นช่องทางในการดูแลสุขภาพของคนเย็บผ้า โดยมีสมาชิกจากกลุ่มเย็บผ้า 92 จำนวน 5 คน และกลุ่มโต๊ะตัด อีกจำนวน 5 คน จึงรวมกันเสนอโครงการกับทาง โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ด้วยหวังว่าการทำโครงการสวนผักและจะเป็นการต่อยอดการปลูกผักในเมือง ในพื้นที่จำกัด (บนดาดฟ้า) ที่ถูกต้องและยั่งยืน (ชื่อโครงการกลุ่มสวนผักผู้รับงานมาทำที่บ้าน)

.

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเย็บผ้า 92 คลองบางพราน ก็ต้องปิดตัวลงไปในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด (โควิด – 19) โดยที่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือแก้ไขช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ จึงทำให้กลุ่มคนเย็บผ้า 92 คลองบางพราน ต้องปิดกิจการและสมาชิกแยกย้ายกันไป เพื่อหาอาชีพดูแลตัวเองและครอบครัวต่อไป

.

ในปัจจุบันโครงการปลูกผัก ของกลุ่มคนเย็บผ้า 92 คลองบางพราน ยังไม่ได้ถูกย้ายออกจากแปลงปลูกเดิม ที่อยู่บนดาดฟ้าของตึก และได้รับการดูแลแปลงปลูกผักต่อโดยกลุ่มเย็บผ้าบางบอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการขนาดเล็กของ โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เข้ามาดูแลแปลงปลูกผักต่อจากกลุ่มคนเย็บผ้า 92 คลองบางพราน เพื่อจะรักษาพื้นที่แหล่งอาหาร และเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการผลิตอาหาร และแสดงในเห็นถึงระบบการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ยังไม่ทั่วถึงประชาชนอย่างแท้จริง

.

#สวนผักคนเมือง

#ปลูกเมืองปลูกชีวิต

#มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนประเทศไทย