การระบาดของโควิด – 19 ทำให้พวกเขาหลังชนฝา การรอรับเพียงอาหารบริจาค อาจไม่ใช่ทางรอดของอนาคต แต่การเข้าถึงอาหาร ด้วยการมีพื้นที่อาหารของตนเองต่างหาก คือการยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารที่แท้จริง!!
.
เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือทางสังคมและกฏหมายให้กับแรงงานข้ามชาติที่เปราะบาง สำนักงานของ MWRN ที่ปกติเป็นบ้านให้กับแรงงานข้ามชาติที่เปราะบางอยู่แล้ว แต่หลังจากวิกฤติโควิด – 19 มันยังกลายมาเป็นแหล่งอาหารที่ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
.
สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานของ MWRN กล่าวว่า “ช่วงโควิด แรงงานไม่มีงานทำ เราเริ่มเห็นปัญหาความอดอยากที่กำลังก่อตัวขึ้น ฉันสังเกตเห็นผู้คนเริ่มอดอยาก พวกเขาต้องตัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะพวกเขาโดนพักงานหรือสูญเสียงาน พวกเขาต้องทำยังไงก็ได้เพื่อประหยัดเงิน พวกเขามาบอกเราว่าเราอยากปลูกผักลดค่าใช้จ่าย”
.
และหลังจากได้รับการช่วยเหลือด้านอาหารจาก “ปันอาหาร ปันชีวิต” ซึ่งเป็นโปรเจคช่วยเหลือคนเปราะบางที่สวนผักคนเมืองมีส่วนร่วมด้วย MWRN ได้เข้าร่วมโครงการ “แปลง.ปลูก.ปัน” โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
.



เป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดพื้นที่อาหารในชุมชนกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ซึ่งทำให้พวกเขาตกงาน ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้และการเข้าถึงอาหาร โดยการสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนนี้ มุ่งเน้นให้สมาชิกในชุมชนได้ลงมือปลูกผัก รวมถึงปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง ร่วมกันสร้างพื้นที่อาหารเพื่อดูแลกันและกันในชุมชน เน้นการลงมือทำ เรียนรู้ พึ่งตนเองด้านอาหาร เพื่อการบริโภค แบ่งปันและดูแลกันในชุมชน โครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตในเบื้องต้น ชุดความรู้ วิทยากรพี่เลี้ยง และทีมประสานงาน ดูแล ให้คำแนะนำเพื่อให้ทุกชุมชนสามารถสร้างแหล่งอาหารของตนเองได้ในระยะเวลาเร่งด่วน
.
ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีแรงงานข้ามชาติกว่า 30 ชีวิตที่มาร่วมกันดูแลสวน รดน้ำ ปรุงดิน และใช้ประโยชน์เป็นอาหารในชีวิตประจำวัน “ใครก็ตามก็สามารถมาเก็บผักได้ พวกเราไม่ได้แยกว่าใครจะช่วยหรือไม่ช่วย ถ้าพวกเขามาที่สวนนี้ พวกเขาจะมีผักกิน”
.
พื้นที่ดาดฟ้าโล่งๆ ของสำนักงาน MWRN เริ่มเปลี่ยนแปลง ทำความสะอาด ทาน้ำยากันซึม ทาสี ทำแปลงผัก วางกระถางปลูกผัก ติดตั้งกระถางแขวน วางระบบตามคำแนะนำของทีมวิทยากร พร้อมกับการเตรียมดิน เตรียมต้นกล้า พืชผักเติบโตอย่างแข็งแรง รสชาติดี ด้วยการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีของคนปลูกผัก
.
วันนี้นอกจากสวนผักดาดฟ้าจะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพี่น้องแรงงานข้ามชาติในพื้นที่แล้ว สวนผักแห่งนี้ยังทำหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ รูปธรรมของการพึ่งตนเองด้านอาหารให้กับพี่น้องเครือข่ายแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ แบ่งปันผลผลิต และแรงบันดาลใจของกลุ่มคนที่เคยต้องพึ่งอาหารบริจาค แต่วันนี้พวกเขาสามารถเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย ด้วยมือของพวกเขาเอง