พระ เณร ปลูกผัก รับมืออาหารขาดแคลน ท่ามกลางโควิด 19

ถ้าไม่ได้ฟังกับหู ก็คงนึกไปไม่ถึงว่า พระและเณรในวัด ก็คือหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบเรื่องการขาดแคลนอาหารจากสถานการณ์โควิด 19

มีโอกาสได้ไปเยือนวัดทรายมูลเมือง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน และมีหอพระไตรปิฎกอันเก่าแก่และงดงามที่เจ้าอาวาสได้บูรณะขึ้นมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เราอย่างมากเมื่อเข้าไปถึงวัด ซึ่งอยู่ท่ามกลางเมือง และมีบริเวณไม่มากนักแห่งนี้ ก็คือ พืชผักมากมายที่เติบโต งอกงาม อยู่แทบจะทุกมุมของวัด

ตอนแรกคิดว่า ท่านเจ้าอาวาสมีนโยบายที่อยากจะทำให้พื้นที่วัดเป็นพื้นที่ต้นแบบ ให้ชาวบ้านแถวนั้นได้เรียนรู้เรื่องการปลูกผัก แต่พอมีโอกาสได้พูดคุยกับท่าน จึงได้รู้ว่า สวนผักแห่งนี้ ก่อเกิดขึ้นตอนช่วงที่มีโควิด 19 ระบาด ด้วยเหตุที่ ประสบกับปัญหาข้าวปลาอาหารไม่เพียงพอกับการฉันของพระและเณรที่อยู่ที่นี่ เจ้าอาวาสท่านเล่าให้ฟังว่า ปกติพระกับเณรก็จะออกบิณฑบาต หรือมีคนมาทำบุญเลี้ยงอาหารที่วัด แต่พอช่วงโควิด 19 ชาวบ้านใส่บาตรกันน้อยลง นอกจากจำนวนคนใส่น้อยลงแล้ว ปริมาณอาหารที่ชาวบ้านใส่ให้แต่ละครั้งก็ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ทำให้อาหารไม่เพียงพอ เลยมีความคิดว่า วัดน่าจะหาทางพึ่งตนเองด้านอาหารให้ได้ จึงลองปลูกผักไว้ทำอาหารกินกัน

ก่อนจะมาเป็นพืชผักที่เติบโตงอกงามในภาชนะหลากหลายรูปแบบตามจุด ตามมุมต่างๆของวัดแห่งนี้ ทั้งพระและเณรก็ได้ทดลองปลูกผักบนพื้นที่แปลงเล็กๆที่พอจะมีอยู่ก่อน ถามว่าเอาความรู้เรื่องการปลูกมาจากไหน ท่านก็ว่าศึกษาเองจากในอินเตอร์เนท และก็ลองทำ พอเห็นได้ผลผลิตดี จึงขยับขยายออกมา ท่านบอกว่าผลผลิตที่ได้นี้สามารถนำไปทำอาหารเช้า และเพล เลี้ยงพระ เณรที่อยู่ในวัดประมาณ 12-15 รูป ได้อย่างเพียงพอเลยทีเดียว จะมีต้องซื้อก็เฉพาะที่เป็นพวกเนื้อสัตว์

 

 

เมื่อถามเรื่องการบริหารจัดการว่างบประมาณที่นำมาปลูกผักนี้มาจากไหน ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า ทางวัดที่กองบุญวัดทรายมูลเมือง ที่แบ่งใช้สำหรับเป็นค่าอาหารเช้าและเพล ค่าพัฒนาสิ่งแวดล้อม และก็ค่าทำแปลงปลูกผัก ซึ่งก็ไม่ได้ลงทุนอะไรมากมายนัก ท่านบอกว่า ล้อยางก็ได้รับบริจาคมาจากร้านขายยางหน้าวัด ส่วนดิน ปุ๋ยคอก ต้นกล้า ส่วนหนึ่งก็ซื้อหามา เมื่อซื้อบ่อย ทางร้านก็ร่วมบุญบริจาคให้มาส่วนหนึ่งด้วย ส่วนแรงงานที่ช่วยกันทำ ก็คือบรรดาเณรที่อยู่ในวัดทั้งหลาย ซึ่งท่านบอกว่า พวกเณรต่างก็รู้สึกสนุกที่ได้ปลูกผัก และก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ฉันผลผลิตที่ตัวเองเป็นคนปลูก

 

 

ตอนนี้ เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหน ก็จะเห็นพืชผักหลากหลายชนิดเติบโตงอกงามอยู่ บ้างปลูกในล้อยาง บ้างปลูกร่วมกับไม้ประดับที่มีอยู่ บ้างปลูกในกะละมัง ปลูกในตะกร้า หรือภาชนะเหลือใช้ต่างๆ ที่สำคัญยังตกแต่งจัดวางอย่างสวยงาม และก็มีป้ายความรู้บอกด้วยว่าตรงนี้คือผักอะไร มีประโยชน์อย่างไร เรียกว่านอกจากวัดจะได้ผักไว้กินแล้ว ใครเข้ามาเห็นก็ได้ทั้งชื่นชมความงามของพืชผัก และก็ได้ความรู้ แถมด้วยแรงบันดาลใจกลับไปด้วย

 

 

 

ท่านบอกว่า ช่วงหลังนี้ คนเริ่มมาทำบุญที่วัดได้มากขึ้น ก่อนจะกลับ ท่านก็มักจะตัดพืชผักที่ปลูกแบ่งให้ บางส่วนก็ทำใส่กระถางเล็กๆไว้ แบ่งปันให้คนที่สนใจกลับไปปลูกต่อด้วย เหมือนเป็นของที่ระลึกเล็กๆน้อยให้กับญาติโยมที่มาทำบุญ

 

 

วันนั้น นอกจากจะได้สนทนากับท่านถึงแรงบันดาลใจและเรื่องราวการเติบโตของสวนผักในวัดทรายมูลเมืองแห่งนี้แล้ว ยังมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของวัดแห่งนี้ด้วย

 

 

ท่านเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ท่านเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆ วัดแห่งนี้เหมือนเป็นวัดร้าง ที่ชาวบ้านเอาขยะ หรือของที่ไม่ใช้แล้วมาทิ้งระเกะระกะไปหมด แต่ท่ามกลางซากสิ่งของเหล่านั้น ท่านมองเห็นคุณค่าและความงามที่ซ่อนอยู่ ณ ที่แห่งนี้มากมาย ท่านจึงค่อยๆฟื้นฟู บูรณะซ่อมแซม และคืนชีวิตให้กับวัดแห่งนี้ขึ้นมา โดยเริ่มจากปลูกต้นไม้ 4 ต้น และค่อยๆพัฒนาสิ่งอื่นๆขึ้นตามมาทีละเล็กละน้อย จนเป็นวัดทรายมูลเมืองที่มีทั้งคุณค่า และความงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ท่านบอกว่า การจะทำการงานเหล่านี้สำเร็จได้ เราต้องมีความชอบ และมีความอดทน

 

 

ฟังเรื่องราวการทำงานอันกอปรด้วยความชอบ และความอดทนของท่านแล้ว ก็อดรู้สึกประทับใจไม่ได้  ภาพที่เห็นวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของท่านจริงๆ ที่สำคัญ ความเติบโตของสวนผักที่นี่ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว รับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างดี โดยไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากใครด้วย