ปลูกผักตามนิสัยผัก : กะหล่ำปลี ไม่เก็บแบคทีเรียที่ราก

“กะหล่ำปลีมีถิ่นกำเนิดจากแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน”

 

กะหล่ำปลีเป็นพืชวงศ์ผักกาด มีอายุหลายปี มีถิ่นกำเนิดจากแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อากาศค่อนข้างอุ่นแม้ในฤดูหนาว มีช่วงแล้งไร้ฝนสุดแห้งแล้งในฤดูร้อนกับช่วงฝนตกชุกในช่วงฤดูฝนตลอดจนฤดูหนาวที่แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน กะหล่ำปลีชอบขึ้นอยู่ตามรอยแยกของผาหิน และแผ่ขยายรากไปพร้อมกับบรรดาต้นหญ้า

โดยในถิ่นดั้งเดิม กะหล่ำปลีจะออกดอกในฤดูร้อนที่แห้งแล้ง และเปลี่ยนเป็นเมล็ดในช่วงปลายฤดูร้อน เมล็ดจะร่วงหล่นตามหินผาหล่นลงดินและงอกขึ้นมาใหม่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน และจะงอกงามในช่วงฤดูหนาว

สายพันธุ์ดั้งเดิมของกะหล่ำปลีเป็นพวกเดียวกับผักเคล (Kale) จากกระบวนการคัดเลือกชนิดพันธุ์ที่มีลักษณะเป็นมาเพาะปลูก จึงกลายเป็นกะหล่ำปลีหัวกลมแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้

เคล็ดลับการปลูกกะหล่ำปลี

1.ใช้ปุ๋ยหมักที่ยังหมักไม่สมบูรณ์

กะหล่ำปลีชอบดินที่มีธาตุอาหารต่ำ ถ้าปลูกในแปลงดินอุดมสมบูรณ์ที่หลงเหลือจากการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยรองพื้น

ถ้าเป็นสวนที่ขาดสารอาหารจากการเพิ่งเริ่มเพาะปลูกหรือใช้ปุ๋ยเคมีมาก่อน จำเป็นต้องปรับปรุงดิน ขอแนะนำให้ใช้ปุ๋ยที่มีกลิ่นแอมโมเนียเล็กน้อยอย่าง ปุ๋ยคอกมูลวัวเป็นปุ๋ยรองพื้น เพราะว่ารากของกะหล่ำปลีจะมีแบคทีเรียที่มีความสามารถในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุได้ดีอาศัยอยู่ด้วย ให้ใส่ปุ๋ยหมักที่ยังหมักไม่สมบูรณ์ประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตรให้ทั่วทั้งแปลง

อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่รากของกะหล่ำปลีเป็นแบคทีเรียประเภทที่คอยกำจัดจุลินทรีย์ชนิดอื่น ดังนั้น จะไม่มีแบคทีเรียประเภทอื่นอาศัยอยู่ที่รากกะหล่ำปลีด้วย กะหล่ำปลีจึงต้องสะสมน้ำและธาตุอาหารไว้ด้วยรากของมันเอง

 

2.แนะนำให้นำลงปลูกแบบชิดกัน

สำหรับสวนครัวภายในบ้านที่ไม่ได้มีเป้าหมายจะนำผลผลิตไปจำหน่ายสามารถกำหนดระยะห่างระหว่างต้นเองได้  ถ้าต้องการหัวใหญ่ควรเว้นระยะห่างระหว่างต้นไว้กว้างสักหน่อย (ประมาณ 45 เซนติเมตร) ถ้าต้องการขนาดเล็กนำลงปลูกโดยเว้่นระยะห่างให้น้อยลง (ประมาณ 25 เซนติเมตร)

ทั้งนี้ อย่าเว้นระยะระหว่างต้นมากเกินไป เพราะยิ่่งห่างจะยิ่งปลูกยาก กะหล่ำปลีไม่มีแบคทีเรียที่รากมากพอจึงต้องเจริญเติบโตโดยพึ่งพาแต่รากของตัวเอง การปลูกชิดกันจะทำให้พวกมันผนึกกำลังช่วยเหลือกันเจริญเติบโตได้ดีกว่า

ถ้าดูจากถิ่นกำเนืดแล้ว จะพบว่าหลายต้นเกิดขึ้นเบียดกันในแต่ละรอยแยกของก้อนหิน นั่นก็เพื่อช่วยกันละลายธาตุอาหารที่อยู่ในก้อนหินให้รากดูดซึมธาตุอาหารมาใช้ได้ การปลูกในสวนก็เช่นกัน ถ้าปลูกให้ชิดกันหน่อยจะช่วยให้เพาะปลูกได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

 

3.โกยดินกลบเข้าไป 2 ครั้ง มีประสิทธิภาพเหมือนปุ๋ยเสริม

แม้กล่าวได้ว่ากะหล่ำปลีชอบดินที่มีธาตุอาหารต่ำ แต่ถ้าต้องการได้กะหล่ำปลีหัวใหญ่ จำเป็นต้องทำให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพเพียงพอในช่วงครึ่งแรกของชีวิตกะหล่ำปลี จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์อย่างเราที่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วย

การกลบดินทำให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น อันดับแรก เมื่อมีใบจริงเกิดขึ้นประมาณ 8-10 ใบให้โกยดินจากด้านข้างเพียงฝั่งเดียวกลบเข้าไปที่โคนต้นให้พอมิดใบเลี้ยง เมื่อมีใบจริงเพิ่มขึ้นมาอีกสัก 2-3 ใบให้โกยดินจากิีกฝั่งกลบเข้าไปแบบเดียวกัน

การกลบดินเข้าไปจะช่วยให้ดินกระจายตัวและอากาศเกิดไหลเวียนรวมทั้งช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาต่าง ๆ ของจุลินทรีย์ในดินซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปุ๋ยต่อไปด้วย กลบดิน 2 ครั้งจะช่วยให้เกิดจำนวนใบเท่า ๆ กันและเจริญเติบโตเป็นใบขนาดใหญ่ต่อไป พอมีใบจริงสัก 16 ใบ ใบจะเริ่มห่อเข้าและค่อย ๆ เจริญเติบโตไปตามเวลาจนกลายเป็นหัวขนาดใหญ่

(สรุป)เทคนิคสำหรับปลูกกะหล่ำปลี

1.ความสูงของแปลงเพาะปลูก : ถ้าแปลงเพาะเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดีสามารถทำแปลงปลูกแบบราบได้เลย แต่ถ้าเป็นดินเหนียวให้ยกแปลงสูงขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร

2.ปุ๋ยรองพื้น :  โดยหลักการแล้วไม่จำเป็นต้องใส่แต่ถ้าเป็นแปลงที่เพาะปลูกใหม่ให้ใส่ปุ๋ยหมักที่ยังหมักไม่สมบูรณ์ให้ทั่วแปลง ถ้าเป็นดินเหนียวให้ลดปริมาณลงร้อยละ 20 แต่ถ้าเป็นดินทรายปนดินร่วนให้เพิ่มปริมาณขึ้นร้อยละ 20

3.ปุ๋ยเสริม : เมื่อมีใบจริงเกิดขึ้นประมาณ 8-10 ใบและเพิ่มจำนวนขึ่้นอีก 2-3 ใบให้กลบดินเข้าไป จะให้ผลลัพธ์เหมือนปุ๋ยเสริม

 

พืชพันธมิตร

กะหล่ำปลีจะมีหนอนผีเสื้อชนิดต่างๆมากัดกิน วิธีรับมือคือปลูกผักกาดหอมร่วมด้วย เพราะผักกาดหอมมีสารชื่อว่า “ซิคอรีน (cichorine)” ที่ป้องกันไม่ให้บรรดาแมลงที่เป็นอันตรายต่อกะหล่ำปลีเข้ามาใกล้ ให้ลองปลูกกะหล่ำปลี 5 ต้นต่อผักกาดหอม 1 ต้นแบบไร้แบบไร้แผนดู

 

ที่มาข้อมูล :  หนังสือปลูกพืชตามนิสัยผัก เขียนโดย Toshio Kijima และแปลโดย นิพดา เขียวอุไร