วันนี้เราจะมาแนะนำการปลูกมะเขือเทศตามถิ่นกำเนิดกันนะคะ โดยเราได้อ้างอิงจากหนังสือ “ปลูกพืชตามนิสัยผัก” ซึ่งเขียนโดย Toshio Kijima โดยถ้าเราจะปลูกผักตามนิสัย ก่อนจะปลูกมะเขือเทศเราต้องรู้ก่อนว่า มะเขือเทศเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากที่ราบสูงบริเวณเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งแห้งแล้งและฝนตกน้อย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ แสงแดดร้อนระอุตลอดวัน โดยมะเขือเทศสายพันธุ์ดั้งเดิมจะเป็นพืชเลื้อยไปตามพื้นดินที่มีกรวดหิน มีรากตื้น และเมื่อถึงเวลากลางคืนที่อุณหภูมิลดต่ำลง ขนเล็กๆตามใบและก้านของมะเขือเทศ จะดักจับน้ำค้างตอนกลางคืนเพื่อใช้ประทังชีวิต และมะเขือเทศยังเป็นพืชที่ชอบเจริญเติบโตแบบโดดเดี่ยว มะเขือเทศจึงปล่อยสารพิษรุนแรงเพื่อทำลายพืชชนิดอื่น (allelopathy) เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่แร้นแค้น
รูปต้นมะเขือเทศในถิ่นกำเนิด
จากนิสัยและถิ่นกำเนิดของมะเขือเทศ ผู้เขียนได้สรุปเป็นเคล็ดลับ 3 ข้อสำหรับการปลูกมะเขือเทศ ได้แก่
1.ระบายน้ำให้ดีและจำกัดการใส่ปุ๋ย
เนื่องจากถิ่นกำเนิดของมะเขือเทศเป็นพื้นที่แห้งแล้งและขาดธาตุอาหาร การเพาะปลูกในพื้นที่ซึ่งเป็นดินทรายที่มีธาตุอาหารน้อยและระบายน้ำได้ดีจึงเหมาะสมที่สุด ถ้าแปลงปลูกเป็นดินทราย ไม่จำเป็นต้องใส่ใจทำอะไรกับมัน มะเขือเทศก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี
สำหรับพื้นที่ที่เป็นดินทรายปนดินร่วนที่มีลักษณะเหนียวเล็กน้อย ก่อนเริ่มปลูกเพียงไถพรวน มะเขือเทศก็เจริญเติบโตโดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าใช้ดินชนิดใดก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยรองพื้นควรทำแปลงแนวราบ
สำหรับแปลงที่เป็นดินเหนียวจำเป็นต้องปรับพื้นที่ก่อน โดยทำคันดินสูงประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น ให้ขุดดินในจุดที่จะตั้งแปลงลึกลงไปประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วใส่ใบไม้แห้งหรือหญ้าแห้งลงไปก่อนย่ำอัดให้แน่น จะช่วยเรื่องการระบายน้ำไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยรองพื้น
2. ทำไมต้องปลูกต้นเดี่ยว
สำหรับมะเขือเทศ ญี่ปุ่นมีแสงแดดไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับถิ่นกำเนิดของมัน ในอดีตมะเขือเทศเป็นพืชไม้เลื้อย แต่ปัจจุบันมะเขือเทศที่ปลูกในสวนเจริญเติบโตขึ้นด้านบน เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ามันพยายามเข้าหาแสงแดด ดังนั้นควรพยายามปลูกในที่แสงแดดส่องถึงได้ดี
วิธีปักชำกิ่งที่แตกใหม่เพียงกิ่งเดียวเป็นวิธีเพาะปลูกปกติทั่วไป ซึ่งทำให้ใบได้รับแสงแดดเพียงพอ ไม่ว่าจะปลูกชิดกันแค่ไหน แถมอากาศถ่ายเทได้ดีช่วยลดความชื้นในอากาศ สภาพแวดล้อมเช่นนี้เหมาะกับมะเขือเทศ ซึ่งชอบความแห้งแล้ง อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมีฝนตกชุกในหน้าร้อนจึงไม่เหมาะกับมะเขือเทศ การปลูกมะเขือเทศให้มีคุณภาพดีต้องเลี่ยงฝน
3. ปลูกเดี่ยวเพื่อให้กิ่งก้านแผ่ขยายได้
การปลูกแบบต้นเดี่ยวขอให้ปลูกชิดกันเพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพทำให้เก็บผลผลิตจำนวนมากได้ในระยะสั้น แต่ไม่ได้กำหนดระยะห่างระหว่างต้นว่าจะต้องเป็นเท่าไร จะปลูกห่างกัน 1 เมตร หรือถ้าจะทำแบบสุดโต่งปลูกมะเขือเทศต้นเดียวไว้กลางสวนก็ได้ จากนั้นก็ปล่อยให้เติบโตโดยไม่ต้องดูแล รากจะแผ่ขยายและกิ่งก้านจะแตกออกไปทั่วสวน
ที่ผ่านมามะเขือเทศเป็นพืชไม้เลื้อยไปตามแนวพื้นดินไม่มีที่สิ้นสุด การปลูกแบบแนวตั้ง ถ้าปลูกโดยเว้นระยะห่างระหว่างโดยเว้นระยะห่างระหว่างต้นไว้กว้างสักหน่อยเพื่อให้กิ่งก้านได้แผ่ขยาย ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
เกล็ดความรู้เพิ่มเติมจากผู้เขียน
การควบคุมปริมาณและธาตุอาหาร
ความสูงของแปลงเพาะปลูก : แปลงที่เป็นดินทรายหรือดินทรายปนดินร่วนให้ทำแปลงปลูกแบบราบ ถ้าเป็นดินเหนียวให้เตรียมแปลงปลูกสูงประมาณ 20 เซนติเมตร
ปุ๋ยรองพื้น : ไม่ต้องการปุ๋ยรองพื้น เมื่อทำความสะอาดอแปลงเพาะปลูกที่มีการใช้งานก่อนหน้านี้แล้ว ให้พรวนดินเตรียมแปลงไว้
ปุ๋ยเสริม : ไม่จำเป็น ปลูกให้ห่างกันไว้รากจะแผ่ขยายและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่อง
พืชพันธมิตร
มะเขือเทศเป็นพืชจอมทำลายล้าง พืชที่ปลูกร่วมกันได้น่าจะมีเพียงกุยช่ายกับโหระพาเท่านั้น การปลูกกุยช่ายร่วมกับต้นกล้าของมะเขือเทศช่วยป้องกันโรคพืชที่มากับดินได้ มะเขือเทศจะปล่อยสารทำลายต้นไม้รอบข้างรุนแรง จึงอาจปลูกพืชหัวหรือพืชในวงศ์ผักกาดที่ทนทานต่อสารนั้นได้ เช่น ถั่วลันเตา หอมหัวใหญ่ ถั่วปากอ้า บร็อกโคลี แต่ถ้าปลูกผักกาดขาวปลีมันจะไม่เจริญเติบโต
ที่มาข้อมูล :
- หนังสือ “ปลูกพืชตามนิสัยผัก” เขียนโดย Toshio Kijima และแปลโดย นิพดา เขียวอุไร
ที่มาของรูป :
- https://quatr.us/south-america/tomatoes-history-south-america.htm
- https://www.thaikasetsart.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AA/
- https://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/68