“เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน” บทที่ 2 : เกษตรในเมืองกับการยกระดับความมั่นคงทางอาหารในเมือง (Urban food security)

–แนวคิดนี้มองเกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะหนุนเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในเมือง กล่าวคือ

(1) การมีแหล่งอาหารอยู่ (food available) ซึ่งโยงถึงเรื่องการมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางอาหารทั้งยามปกติและยามวิกฤติ
.

(2) การเข้าถึงอาหาร (food accessibility) ซึ่งโยงถึงเรื่องการกระจายอาหาร
.

(3) การมีอาหารให้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ (food stability)
.

(4) การใช้ประโยชน์ในอาหาร (food utility) หรือ การได้บริโภคอาหารที่มีโภชนาการ เช่น สด ปลอดภัย มีคุณภาพที่ดี มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี และรู้แหล่งที่มา
.

ความ(ไม่)มั่นคงทางอาหารของคนในเมือง

–จากการประชุมแสดงความคิดเห็นเรื่อง “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารจากชุมชนสู่ระดับชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 มีประเด็นสำคัญที่คิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังมากเป็นพิเศษ ก็น่าจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงต่างๆที่จะนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหาร
.

–ด้วยความที่เป็นคนในเมือง หลายคนอาจจะคิดไม่ออกว่าเราจะเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารได้อย่างไร เรียกว่าขอแค่มีสตางค์ จะเดินเข้าห้าง หรือเดินไปในตลาด ก็มีสารพัดพืชผัก สารพันเมนูอาหารให้เลือกจับจ่ายกันอย่างเพลิดเพลินแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมา อาจจะทำให้หลายคนเริ่มตระหนักได้ว่า ถึงจะรวยล้นฟ้าเพียงใด ก็ใช่จะหาอาหารกินได้เสมอไป เพราะชั้นวางของตามห้างสรรพสินค้าที่ตัวเองเคยฝากท้องไว้ กลับว่างเปล่าอย่างน่าใจหาย จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ใครหลายคนหันมาสนใจเรื่องการปลูกผักกินเอง เรียกว่าหันมาหวังพึ่งตนเองก่อนจะไปพึ่งคนอื่นมากขึ้น
.

— สิ่งที่เราควรจะตระหนักและรับรู้กันมากขึ้นก็คือ แม้ว่าจะมหาอุทกภัยจะผ่านพ้นไป แต่ใช่ว่าความเสี่ยงจะหมด และความเสี่ยงที่ว่านี้ก็ใช่จะมีเพียงเรื่องของภัยธรรมชาติอย่างเดียว  เราเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างไรบ้างลองมาดูกัน

(1)จากการสำรวจพบว่า อายุเกษตรกรโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น คืออยู่ที่ระหว่าง 48-50 ปี และที่สำคัญคือดูเหมือนว่าเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะสนใจที่จะทำเกษตรกันสักเท่าไหร่แล้ว
.
(2) พื้นที่เกษตรลดน้อยลง น้ำก็จะเริ่มขาดแคลนมากขึ้น ในขณะที่ประชากรก็จะเพิ่มสูงขึ้น
.
(3) มีการนำพืชอาหารไปผลิตเป็นพืชพลังงานมากขึ้น
.
(4) มีการใช้สารเคมีในการผลิตสูง นำไปสู่อาหารที่ไม่ปลอดภัย
.
(5) ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม พันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิดกำลังสูญพันธุ์ไป
.
(6) สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติต่างจะรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิต
.

–นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ดินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่เกษตรซึ่งเป็นพื้นที่อาหารเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในท้องทะเล ตลอดจนการแย่งยึดที่ดิน หรือการเข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวต่างชาติ ซึ่งกำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่นับเรื่องภัยคุกคามจากระบบการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครอบของบรรษัทขนาดใหญ่ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ หรือนโยบายการตลาดเช่นการเปิดเสรี ซึ่งล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ทั้งสิ้น
.

รูปธรรมของแนวคิดเกษตรในเมือง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมือง

–พัฒนาการของการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมืองเริ่มชัดเจนขึ้นในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างชนบทและเมืองถูกสร้างขึ้นอย่างชัดเจนขึ้นมาก พื้นที่ๆ มีโรงงานกลายเป็นพื้นที่เมืองที่ชัดเจน จากที่กิจกรรมด้านการเกษตรถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ประชากรในพื้นที่เหล่านั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ของผู้ใช้แรงงาน การเพิ่มขึ้นของประชากรในเมือง ทำให้เกิดการแย่งกันกินแย่งกันใช้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ในยุโรป และเกิดคนจนเมืองที่ขาดแคลนอาหารขึ้นมากมายในที่สุด เกษตรในเมืองจึงเกิดขึ้นชัดเจนมากในช่วงนั้น หลังจากมีการแจกพื้นที่เล็กๆ เท่ากับโลงศพเรียกว่า ‘Allotment’ ให้คนจนเมืองได้ปลูกอาหารกินเองในพื้นที่เมืองที่อังกฤษและเยอรมัน
.

–Corona Victory Garden เครือข่ายสร้างอาหารยามวิกฤต Victory Garden คือคำเรียกสวนเกษตรในเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรียกข้าวยากหมากแพง และเพื่อป้องกันปัญหาความอดอยากหิวโหยของประชาชน พื้นที่ว่างของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ทางหนีไฟ ระเบียง สวนหลังบ้าน ที่ว่างหน้าบ้าน ข้างบ้าน ที่ว่างของโรงเรียน ของชุมชน หรือของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ล้วนถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อาหารทั้งสิ้น เหมือนว่าการปลูกผัก สร้างอาหารให้ตัวเองนั้น เป็นหน้าที่หนึ่งของประชาชนที่ต้องช่วยกันทำ เรียกว่าตอนนั้นในสหรัฐอเมริกามีสวนเกษตรเกิดขึ้นราว 20 ล้านแห่งทั่วประเทศเลยทีเดียว
.

–เกษตรในเมืองกับการยกระดับความมั่นคงทางอาหารของเมืองฮาวาน่า ประเทศคิวบา คิวบาเป็นประเทศสังคมนิยม ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่เขาถูกบีบให้จำใจต้องพึ่งตนเอง ด้วยการกีดกันทางการค้าโดยประเทศต่างๆ พอคนอดอยาก ก็เลยเกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ และเกิดเกษตรกรรมในเมืองขึ้น จากเดิมที่เน้นปลูกอ้อย ก็เปลี่ยนมาปลูกปลูกสิ่งที่กิน กินสิ่งที่ปลูก จนเกิดความหลากหลายขึ้น คนทั้งนอกทั้งในเมืองหันมาปลูกสารพัดอย่าง โดยรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่มอบที่ดินให้ประชาชนทำกิน โดยไม่คิดค่าเช่า แต่เน้นที่ความคุ้มค่าสูงสุดของการใช้ที่ดิน แนวทางนี้ นำไปสู่การรวมกลุ่มกันของประชาชนเพื่อทำกินในพื้นที่ของรัฐ ทั้งในรูปกลุ่มเกษตรกร กลุ่มคนงาน หรือสหกรณ์ ส่วนเอกชนก็ถูกจูงใจสารพัดในการหันมาทำเรื่องนี้ เช่น มีการลดหย่อนภาษี ในขณะที่ รัฐเองก็ลงทุนด้านการเกษตรเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเป็นบริษัทของรัฐ และก็ให้หน่วยงานต่างๆ ปลูกผักในพื้นที่ส่วนราชการของตนเองด้วย จนแทบจะกลายเป็นเมืองผักไปก็ว่าได้
.
–ที่ฮาวาน่า ประชาชนถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ หลังจากที่รัฐบาลกระจายอำนาจมาให้ โดยเฉพาะผ่านหน่วยการบริหารจัดการระดับท้องถิ่นที่เล็กๆ ชื่อว่าสภาประชาชน และในเทศบาลของเขาก็มีการตั้งแผนกเกษตรกรรมในเมืองขึ้นมาโดยเฉพาะเลย เพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ โดยรัฐบาลมีการจัดประกวดผลงานระหว่างเทศบาลด้วย ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้แต่ละแห่งจริงจังกับการผลักดันเรื่องนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องมาทำเกษตร มีทั้งแบบที่อาสามาทำ เพื่อปากท้องของตน และกรณีที่ถูกจ้างโดยรัฐให้มาทำ(รัฐบาลให้เงินเดือนเกษตรกร) ซึ่งกรณีหลังก็จะไปไกลกว่าเรื่องปากท้องตนเอง แต่ต้องทำงานหนัก เพื่อให้เกิดการกระจายอาหารมากที่สุด ประชาสังคมก็เกิดขึ้นเยอะมาก โดยกลุ่มผู้หญิงก็จะมีบทบาทโดดเด่น สื่อก็ทำหน้าที่ด้านการให้ข้อมูลและความรู้ต่างๆเรื่องการทำเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในตอนหลัง เอกชนก็มีบทบาทมากเช่นกัน หลังจากที่เปิดให้เกิดการลงทุน และมีการเชื่อมโยงเรื่องเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สำหรับเกษตรกรที่อยากทำเชิงพาณิชย์ก็สามารถเช่าที่รัฐลงทุนได้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เป้าหมายการทำเกษตรในเมืองของฮาวาน่าก็ไปไกลขึ้น มากกว่าเรื่องปากท้องหรือการพึ่งตนเองอย่างเดียว มีการทำเกษตรในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ด้วยความที่คนนอกสนใจเยอะ โดยนักท่องเที่ยวก็กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ในขณะเดียวกัน เป้าหมายในเชิงสิ่งแวดล้อมก็ได้รับความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน
.

ทั้งนี้ เมื่อตัดภาพมาที่ปัจจุบัน เรื่องเกษตรในเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในเชิงแนวคิดและแนวปฏิบัติดังที่ได้เกริ่นนำไปตั้งแต่ตอนต้น วันนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป ทั้งเมืองขนาดเล็กหรือขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ก็ต่างหันมาให้ความสำคัญทั้งสิ้น เพื่อการปรับตัวของเมืองและคนเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อประโยชน์อื่นๆ โดยไปโยงอยู่กับการเกิดขึ้นของกลุ่มเคลื่อนไหวทั่วทุกมุมโลกในเรื่องระบบอาหารใกล้บ้าน ระบบอาหารทางเลือก ความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่น การลดการเดินทางของอาหาร ห่วงโซ่อาหารที่เป็นธรรม ความเกื้อกูลและรับผิดชอบต่อกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค และแนวคิดอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งเกี่ยวโยงและเชื่อมร้อยกันทั้งสิ้น

 

เรียบเรียงจากบทความต่างๆ ของ www.thaicityfarm.com
.

โปรดติดตาม
บทที่ 3 : เกษตรในเมืองกับการยกระดับอธิปไตยทางอาหาร (food sovereignty)