“เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน”

เกริ่นนำ : นิยามความหมาย ความท้าทายของการขับเคลื่อนงานเกษตรในเมืองของไทย

การทำเกษตรในเมืองนั้นไม่ใช่เพียงแค่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปลูกผักไว้กินเองในครัวเรือนเท่านั้น แต่เกษตรในเมืองยังมีบทบาทและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองในอีกหลายมิติ ซึ่งในต่างประเทศมีการนำเเนวคิดเรื่องบทบาทความสำคัญของเกษตรในเมืองมาใช้ในการพัฒนาเมืองอย่างน่าสนใจ

เกษตรในเมือง คือการปลูกหรือการเลี้ยงดู การทำให้เพิ่มพูน การนำเข้าสู่กระบวนการที่เกี่ยวข้อง และการกระจายผลผลิตที่เป็นอาหารอย่างเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ รวมถึงผลผลิตที่ไม่ใช่อาหารอย่างพืชที่เป็นยาสมุนไพร รวมถึงการใช้และนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ และการบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นและมีอยู่ในและรอบๆพื้นที่เมือง กล่าวคือ พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมและย่านพาณิชย์ตั้งอยู่ หรือในขอบเขตของพื้นที่ที่ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง โดยที่กิจกรรมเหล่านั้นมุ่งเน้นดำเนินไปเพื่อตอบสนองคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นเป็นสำคัญ (ที่มา Urban Agriculture: definition, presence, potentials and risks โดย L.J.A Mougeot2000)

ในทศวรรษที่ผ่านมา “เกษตรในเมือ” (urban agriculture) ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป จากที่เรื่องนี้ถูกกลืนเข้ามาอยู่ในความรับรู้ของคนทั่วไปที่พบเห็นกันเป็นปกติ อาทิ ในรายการทีวี สารคดี ภาพยนตร์ ละคร หรือแม้แต่การ์ตูน ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเติบโตของแนวคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้าที่ผู้คนยังไม่คุ้นชินกับแนวคิดนี้เท่าใดนัก

แต่ในทางนโยบายและการวางแผนการพัฒนา เรื่องเกษตรในเมืองยังคงเป็นเรื่องที่ขยับไปได้อย่างเนิบช้า เกษตรในเมืองยังไม่อยู่ในจุดสนใจในทางนโยบายและการพัฒนา เพราะเรายังติดอยู่กับกรอบคิดแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้นึกถึงอนาคตที่มากขึ้น โดยในบริบทของไทยนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากมายาคติของสังคมไทย ก็คือ ความคิดที่ว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์มากอยู่แล้ว จะไปสนใจเรื่องเกษตรในเมืองทำไม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคำกล่าวที่ถูก แต่ถูกต้องเฉพาะอดีตกับปัจจุบัน แต่ไม่เป็นจริงสำหรับอนาคต ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากฉากทัศน์ต่างๆ ด้วยการคิดเรื่องอนาคต ดังนี้

  • ฉากทัศน์แรก ที่เด่นชัดคือ สัญญาณการเสื่อมพลังของภาคส่วนที่เรียกว่า ภาคเกษตรในชนบท จากที่ชนบทหดตัวลงและแปลงเปลี่ยนไปเป็นเมืองมากขึ้น ในขณะที่ เกษตรกรในชนบทที่เหลืออยู่มีแต่ผู้สูงอายุที่ถูกกดทับหลายชั้นจากโครงสร้างแห่งความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม และมีแนวโน้มเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารหรือเป็นเพียงอาหารสัตว์มากขึ้น กล่าวอีกอย่างคือเป็นภาคเกษตรที่กินไม่ได้
  • ฉากทัศน์ที่สอง มองอนาคตที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันคือ ในวันข้างหน้านี้เราต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (climate change) กล่าวคือ จะเกิดภัยพิบัติถี่และนานมากขึ้นราวกับเป็นความปกติแบบใหม่ (new normal) นั่นคือในปีหนึ่งๆ เราต้องเผชิญวิกฤติอะไรสักอย่างที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศแทบจะทุกเดือนหรืออาจจะเป็นรายสัปดาห์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งการผูกโยงกับภาพของความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารของประเทศและระบบกระจายอาหารที่มีประสิทธิภาพถือเป็นความงมงายในบริบทใหม่นี้ ที่ความมั่นคงทางอาหารไปเชื่อมกับความมั่นคงของทรัพยากรอื่นๆ

หลักการเกษตรในเมืองทุกวันนี้มีอยู่ 3 แบบหลักๆ

  • แบบแรก คือ เกษตรในเมืองที่ movement ในเรื่องของการพึ่งตนเองด้านอาหาร ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อที่จะบริโภคเอง เหลือจึงวางจำหน่าย ซึ่งจะเป็น scale ในระดับชุมชนเมืองเป็นหลัก นอกจากพึ่งตนเองแล้วอาจจะรวมไปถึงการผลิตเพื่อจะรับมือร่วมกับภัยพิบัติ หรือวิกฤติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย
  • แบบที่สอง เป็นแบบ social enterprise หรือผู้ประกอบการเน้นการทำ CSA มีการทำ block delivery ส่งผลผลิตไปถึงหน้าบ้าน door to door ในประเทศไทยยังมีไม่มาก แต่ก็เป็นทิศทางที่เราพยายามส่งเสริมอยู่ ในทำนองเดียวกันนี้อาจจะรวมถึงการใช้แนวทาง smart farming คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการออเดอร์ออนไลน์ รวมถึงการ contact ในระยะยาวกับผู้บริโภคเน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค
  • แบบที่สาม คือ การใช้สวนผักคนเมืองเพื่อเป็นงานอดิเรก เป็นกิจกรรมสันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ ของครัวเรือนรวมไปถึงของชุมชน ตลอดจนรวมทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ การเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นภาพรวมขอเกษตรเมืองจะมีอยู่ 3 รูปแบบใหญ่ๆ และบางรูปแบบก็ซ้อนกันเป็นหลายอย่างในคราวเดียว

จากปาฐกถา เรื่อง “เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน” ในงานสัมมนาวิชาการเกษตรในเมือง ครั้งที่ 1 “เกษตรในเมืองเพื่อเมืองอย่างยั่งยืน” 15 ก.พ. 2562

โดย ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์
สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่