ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา เป็นชื่อหนังสือที่เขียนโดย จอห์น เลน จิตรกร นักเขียน และนักการศึกษา ผู้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสร้างสรรค์ หนังสือเล่มนี้นอนนิ่งอยู่บนชั้นหนังสือมาเป็นเวลานานหลายปี ราวกับรอคอยช่วงเวลาอันเหมาะสม ที่จะให้เปิดออกอ่าน อย่างเช่นในห้วงยามนี้ ที่พวกเราต่างก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ในชีวิตมากมาย ในขณะเดียวกัน ก็น่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่ชวนให้เราได้หยุด พัก และกลับมาทบทวนชีวิตอย่างจริงจังกันใหม่อีกครั้ง
นอกจากความวิตกกังวลเรื่องไวรัสโควิด 19 ซึ่งกำลังระบาดอยู่ตอนนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนก็คงกำลังวิตกกังวลอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องรายได้ ธุรกิจ ห้างร้าน การงาน หลายอย่างต้องหยุดลง บางคนถูกเลิกจ้างอย่างไม่ทันตั้งตัว ความว่างที่หลายคนเคยโหยหา ในยามที่ต้องรีบเร่งทำงานอย่างไม่ได้หยุดยั้งมาโดยตลอด ตอนนี้กลับกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความเบื่อหน่ายจนเกินจะทนสำหรับใครหลายคน เพราะมิอาจออกไปท่องเที่ยว หรือ ทำกิจกรรมใดๆ ได้ตามใจปรารถนา ยิ่งไปกว่านั้น บางคนยังอาจรู้สึกว่ามีชีวิตอยู่อย่างไร้คุณค่า เมื่อไม่มีการงานให้ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ต้องยอมรับว่า วิกฤตนี้ช่างหนักหนาสาหัสนักสำหรับหลายคน อย่างไรก็ตาม ในเมื่อสถานการณ์จำกัดให้เราต้องเป็นเช่นนี้ อยากชวนให้เราลองมองมุมใหม่ แทนที่จะจมอยู่กับปัญหา เราอาจลองใช้ช่วงเวลาที่มีอยู่นี้ ให้เป็นเหมือนของขวัญอันล้ำค่า ที่ทำให้เราได้มีเวลากลับมาทบทวน และกลับมามีชีวิตที่แท้จริงกันอีกครั้ง
ในหนังสือ “ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา” จอห์น เลน ได้เล่าถึงอิทธิพลของโลกยุคบริโภคนิยม ที่ทำให้เราเข้าใจผิดว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้ และเราก็ต้องทำงานอย่างรีบเร่ง และหนักหน่วง เพื่อที่จะให้ได้เงินมา แม้ว่าบางงานจะเป็นงานที่ไร้ศักดิ์ศรี เป็นงานที่เราไม่ชอบ และส่งผลให้เกิดความทุกข์ต่อชีวิตเราก็ตาม ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ถึงแม้ว่าหลายคนจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ และมีเงินทองจำนวนมาก เเต่ก็ไม่อาจพบกับความพึงพอใจในชีวิตได้อยู่ดี
บางที ช่วงยามนี้ แทนที่เราจะอยู่หน้าจอ ติดตามข่าวสาร หรือดูความบันเทิงต่างๆ เพื่อหนีความเหงา เราอาจลองหาเวลาอยู่กับตัวเอง และลองถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่ชีวิตตัวเองต้องการอย่างแท้จริง ความสุขของตัวเองคืออะไร พรสวรรค์อะไรที่ฉันมี ที่สำคัญคือ เมื่อมีข้อจำกัดเรื่องการเงิน เราก็อาจต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่า สิ่งใดที่จำเป็นสำหรับชีวิตจริงๆ ทั้งรายจ่าย ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า บัตรเครดิต ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เนทต่างๆ เป็นต้น นับเป็นเรื่องของการลดทอนรายจ่าย ควบคุมและจัดการงบประมาณอย่างมีระเบียบวินัย
จอห์น เลน กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า “การมีชีวิตอยู่กับรายได้เท่าที่มีเป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งกว่าการแสวงหา หรือเพิ่มพูนรายได้ แต่การจะทำอย่างว่าได้ คุณอาจจำเป็นต้องตัดสิ่งที่คุณคิดว่าจำเป็น และรีบสร้างวินัยให้กับตนเอง รวมทั้งวางแผนระยะยาว …….เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตที่มีการกำหนดขีดจำกัด จัดการกับสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีที่สุด มีชีวิตด้วยดีกับสิ่งที่มีอยู่เพียงน้อยนิด รวมถึงมีการบริโภคอย่างแยบคาย ซื้อสิ่งของที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ทนทาน และฝึกที่จะซ่อมแซม เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่ช่วยให้เรายืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้อยู่เสมอ……….แท้จริงแล้ว ความสุขไม่ได้อยู่ที่วัตถุที่เราครอบครอง แต่อยู่ที่การตีความเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของเราเอง”
อีกเรื่องที่น่าสนใจ ที่จอห์น เลน กล่าวถึงไว้ก็คือ เรื่องศิลปะศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิต เขาได้นำเสนอให้เราเห็นว่าวิถีชีวิตที่เราเคยมองข้ามไปนั้น ถือเป็นศิลปะและการงานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดบ้าน การตกแต่งบ้าน การปรุงอาหาร การกินอาหารร่วมกัน การทำสวน รวมไปจนถึงงานบ้าน และวิถีชีวิตในแต่ละขณะของเราตั้งแต่ยามตื่น จนเข้านอน
สำหรับบางคนบ้านอาจเป็นเพียงที่ซุกหัวนอนยามค่ำ ก่อนออกไปทำงานแต่เช้ามืดมานาน ช่วงเวลานี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราได้อยู่บ้าน และได้ใช้เวลาค่อยๆทำความสะอาด จัดระเบียบบ้านใหม่ ลองออกแบบ ตกแต่ง ประดับประดาอย่างสร้างสรรค์ ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ ซึ่งก็อาจทำให้เราเกิดความสบายใจขึ้นมาอย่างประหลาด เขาบอกว่า สิ่งนี้คือพร คือความเป็นมงคล ….การดูแลเอาใจใส่ ทำให้ชีวิตน้อยๆได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าพอใจเป็นงานสำคัญของโลก ที่สำคัญงานบ้านที่หลายคนมักจะมองเวลาเป็นภาระ เป็นงานที่น่าเบื่อ เขาบอกว่าหาเรามองว่างานนี้เป็นเป็นเหมือนการรับใช้ เป็นแง่หนึ่งของการสร้างสรรค์ภายในบ้าน มันก็จะกลายเป็นการแสดงออกซึ่งความรัก
“การดูแลบ้านที่แท้จริงของเรา ไม่ว่ามันจะคับแคบสักแค่ไหน คือการดูแลจิตใจและวิญญาณ” โทมัส มอร์ กล่าว
ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น หลายคนอาจกินแต่อาหารจานด่วนมานาน บางคนก็แทบไม่มีเวลาได้ใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองกิน เพราะต้องรีบกิน และรีบไปทำงาน ยามนี้ อาจเป็นเวลาให้เรากลับมาเรียนรู้ที่จะกินอาหารอย่างแท้จริง คือกลับมารับรู้สิ่งที่ตัวเองกินเข้าไป รับรู้ถึงความสุข และระลึกถึงบุญคุณของสิ่งที่เราอิงอาศัย ที่ช่วยให้เรามีอาหารกิน ที่สำคัญคือ คนที่เคยแต่ออกไปกินอาหารตามร้าน อาจลองเข้าครัว และลงมือปรุงอาหารกินเองมากขึ้น จอห์น เลน กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “การจะใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะนั้น เราต้องทำตัวให้ช้าลง เรียบง่ายให้มากขึ้น และกลับไปสู่ครัว ไม่มีสิ่งใดที่มีธรรมชาติแห่งการสร้างสรรค์มากไปกว่าการปรุงอาหาร ซึ่งเกี่ยวพันกับประสาทสัมผัสทุกส่วน” ที่สำคัญคือ เราไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่มีราคาแพงแต่อย่างใด “สุนทรียศาสตร์ในการปรุงอาหารนั้น ต้องคำนึงไว้เสมอว่าอาหารที่ทำจากเครื่องปรุงอย่างง่ายๆ ก็มีคุณค่าไม่น้อย และอาจมีคุณค่ามากกว่าเครื่องปรุงที่มีราคาแพง”
และที่ขาดไม่ได้คือเรื่องการทำสวน ซึ่งเขากล่าวว่า “การทำสวนเป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างภาพฝันเกี่ยวกับโลก และการสร้างสรรค์นี้เปิดทางเลือกให้แก่เราอย่างมากมหาศาล …..การทำสวนจึงเป็นต้นธารอันสำคัญยิ่งสำหรับผู้เสาะแสวง หวังชื่นชมความงามและความศักดิ์สิทธิ์ที่สัมผัสได้อย่างแท้จริง” หลายคนอาจจะเคยบอกว่า อยากปลูกแต่ไม่มีเวลารดน้ำ ต้องไปโน่นไปนี่ตลอด เวลานี้ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เริ่มต้นลงมือทำ ใช้พื้นที่เล็กๆ กระถาง หรือภาชนะเหลือใช้ที่มีอยู่ มาสร้างสรรค์เป็นที่ปลูกผัก สร้างอาหารให้ตัวเอง ยามที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ง่ายๆ
จอห์น เลน ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการทำสวนไว้ว่า การทำสวนเป็นการงานที่มีความสำคัญ เพราะ การมีแปลงเพาะปลูกที่มีพืชผักหลายหลายชนิด แสดงให้เห็นถึงการมีสุขภาวะที่ดี ทำให้เรามีอาหารที่มีสด สะอาด มีคุณภาพ และประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้การทำงานในสวนยังทำให้เราได้สัมผัสกับดิน กับพืชพันธุ์ ได้เห็นความเติบโตงอกงาม ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และยังเปิดโอกาสให้เราสร้างสรรค์สิ่งต่างๆในสวนได้ตลอดเวลา คล้ายๆกับที่เคยนำเสนอไปแล้ว
จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เราเคยมองข้ามและละเลยไป แท้จริงแล้ว เป็นทั้งศิลปะและงานแห่งชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นชีวิตที่แท้จริงที่เราหลงลืมไปแสนนาน ด้วยคำว่าไม่มีเวลา
ความจริงแล้ว ความเรียบง่ายที่เขากล่าวถึงมาตลอดนี้ เป็นความเรียบง่ายที่มาจากความเต็มใจ เป็นการตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น หยุดวิ่งตามกระแส และหันมาใส่ใจต่อความจำเป็นในชีวิต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งชีวิต เป็นการเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น มีส่วนร่วมกับแต่ละขณะของชีวิตด้วยหัวใจ ได้ลิ้มรส และสัมผัสสิ่งต่างๆอย่างแท้จริง เป็นชีวิตที่เปี่ยมสุขจากการทำงานแห่งชีวิตอย่างสร้างสรรค์
ในเวลาแบบนี้ สำหรับหลายคน อาจไม่สามารถกล่าวได้ว่า เราเต็มใจที่จะเรียบง่าย แต่วิกฤตครั้งนี้ ก็อาจจะเป็นโอกาสให้เราได้ลองสัมผัสกับความเรียบง่ายในชีวิตที่เราเคยมองข้ามมาโดยตลอด และอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาพวกเราไปสู่การมีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างเต็มใจ และอาจนำพาให้ชีวิตพบกับของขวัญอันล้ำค่ามากมายที่รอคอยอยู่ ก็เป็นได้
เป็นข้อคิด แนวทางในการดำเนินชีวิตอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ได้มาจากหนังสือ “ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา” ของจอห์น เลน และลองนำบางส่วนมาแบ่งปัน เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้นำไปใช้กันนะคะ
ใครสนใจก็สามารถหาอ่านกันเพิ่มเติมได้นะคะ เป็นหนังสือของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา https://www.suanspirit.com/item.php?id=219#.XpbO55lS_IU
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.resurgence.org/magazine/gallery/john-lane.html
https://www.suanspirit.com/item.php?id=219#.XpbO55lS_IU
https://www.goodreads.com/book/show/864430.Timeless_Simplicity