คนเมืองผู้สูงวัยกับพื้นที่สวนผัก ณ สวนผักชุมชนบูรพา 7

ชุมชนบูรพา 7 ชุมชนประเภทจัดสรร ได้  จำนวน 300 ครัวเรือน ในพื้นเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร มีแนวคิดที่จะดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ในชุมขนให้ดูดีไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ตลอดจนพื้นที่ว่างเปล่า พื้นที่รกร้างในชุมชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ป้องกันไม่ให้ประชาชนนำขยะมาทิ้ง และทำให้ประชาชนในชุมขนมีส่วนร่วม โดยประธานชุมชนและคณะกรรมชุมชนในปี  2553  ซึ่งเป็นที่มาของการทำสวนผักชุมชนบูรพา 7 ดำเนินการปลูกโดยความร่วมของคนในชุมชน  และในปี 2554 ชุมชนบูรพา 7 ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยปี 2554 และเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกปี ซึ่งโดยปกติเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันพื้นที่นั้นจึงเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลต่อการปลูกผักของสวนผักชุมชนบูรพา 7

ต่อมาในปี 2559 – 2560 ทางชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการจากโครงการสวนผักคนเมือง ให้ดำเนินการกิจกรรมการปลูกผัก การทำเกษตรในเมือง เพื่อมุ่งสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ร่วมกับชุมชนอื่นๆ ในเขตดอนเมืองอีก 4 ชุมชน  ซึ่งทางสมาชิกในชุมชนได้ลงแรงพัฒนาพื้นที่ร้างในชุมชน ขนาด 400 ตารางเมตร ซึ่งก็เป็นพื้นที่เดิมที่ได้มีการทำสวนผักอยู่แล้วและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

โดยเป็นพื้นที่ของประธานชุมชนที่ได้เปิดพื้นที่ให้สมาชิกในชุมชนบูรพา 7 ใช้พื้นที่ในการปลูกผักและเป็นพื้นที่สวนผักชุมชน ซึ่งได้รวมกลุ่มกันในชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ถางพื้นที่รกร้าง เปลี่ยนมาเป็นแปลงผักและบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ และต้องการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์กับสมาชิกในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งปัจจุบันสวนผักชุมชนบูรพา 7 เป็นหนึ่งในโครงการสวนผักคนเมืองในปี 2562 – 2563 เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ “Land Sharing” แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต

นอกจากการสร้างให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ สวนผักชุมชนบูรพา 7 ยังได้มีการรับมื้อและมีวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซึ่งส่งผลกระทบต่อการปลูกผัก โดยการทำแปลงผักยกพื้นซึ่งทำมาจากโครงเหล็กยกพื้นและทำเป็นแปลงผักที่มีระดับความสูงที่พอดีต่อระดับความสูงของคนที่จะปลูก 2 แปลงสำหรับผู้ชาย 2 แปลงสำหรับผู้หญิง โดยเป็นแปลงที่สมาชิกในกลุ่มประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เพื่อความสะดวกในการปลูกผักต่อสมาชิกผู้สูงอายุ และยังช่วยให้สามารถปลูกผักไว้กินในช่วงเวลาที่น้ำท่วม 3 เดือนได้อีกด้วย

การปลูกผักยังสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจ และแรงบันดาลใจอีกมากทั้งต่อคนในชุมชนที่มีโอกาสได้เรียนรู้ และคนภายนอก  สมาชิกโครงการและสมาชิกในชุมชน ช่วยกันคนละไม้คนละมือร่วมแรงร่วมใจกันทำจากป่ารกเป็นสวนผัก คนเมือง น่ามอง น่าพักผ่อน ซึ่งสมาชิกกลุ่มปลูกผักหรือสวนผักชุมชนบูรพา 7 ส่วนใหญ่ที่ได้ร่วมกันปลูกเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ โดยลุงศักดิ์ หนึ่งในสมาชิกสวนผักชุมชนบูรพา 7 ได้กล่าวถึงการปลูกและการทำสวนว่า

“เป็นการอยู่กับธรรมชาติ ได้เห็นการเจริญเติบโตของผักและได้ร่วมกันดูแลตั้งแต่ก็ก่อนปลูกจนวันเก็บเกี่ยว มันเป็นอะไรที่มีความสุขมาก เพราะเราได้ผักกินจากการปลูกเอง”

ทำให้เห็นถึงข้อดีและความสำคัญของการปลูกผักของสวนผักชุมชนบูรพา 7 การปลูกผักที่ได้มากกว่าการแบ่งปันอาหาร คือ “การแบ่งปันความสุข”

นอกจากความสุขจากการแบ่งปันผลผลิตหรือการแบ่งปันอาหารให้กันสมาชิกและคนในชุมชน ลุงศักดิ์ได้กล่าวถึงการทำสวนของตนเองว่า

“มันเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองได้ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ ที่สามารถปลูกเพื่อสร้างอาหาร ได้อยู่กับธรรมชาติ ทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น”

จากที่ลุงศักดิ์ได้กล่าวถึงการปลูกผักหรือการทำสวนผักของตนเองเป็นอะไรที่มากกว่าการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ โดยเป็นการสร้างคุณค่าต่อตนเอง ต่อสมาชิก ต่อชุมชน และการได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับบรรยากาศที่ดีก็เป็นสิ่งที่คนทุกต้องการ

เป็นสิ่งที่น่าสนใจกับการสร้างความสุขของคนเมืองผู้สูงวัยหรือผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและสภาพความอาการที่ไม่เติมใจแต่ต่อผู้สูงอายุหรือแม้กระทั่งวัยอื่นๆ ก็ตาม ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยจากสถิติจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (จัดทำโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ)

 

ได้เปิดเผยสถิติผู้สูงอายุของประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 พบว่าโดยจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ 66 กว่าล้านคน มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.73% เป็นจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และเรียงลำดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้อายุมากที่สุด 5 จังหวัด พบว่ากรุงเทพมหานคร อยู่ในลำดับที่หนึ่ง โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.78% จากจำนวนประชากรทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร 5.6 ล้านกว่าคน

จากข้อมูลดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดูแลหรือการสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อจำนวนผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มเติมขึ้นทุกวัน

สวนผักชุมชนบูรพา 7 อาจเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความน่าสนใจ ต่อการศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมการปลูกผักของสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุที่ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อธรรมชาติและต่อเพื่อนสมาชิกในชุมชนทุกวัย การแบ่งปันการสร้างแหล่งอาหารของชุมชน เป็นการสร้างคุณค่าให้ตนเองและผู้อื่น

การใช้ชีวิตกับธรรมชาติกับบรรยากาศที่ดีที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีของผู้สูงอายุและต่อทุกวัย เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการปลูกผักหรือการทำสวนสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นนิยมและได้การส่งเสริมและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาดังตัวอย่างในบทความ `ปลูกผักกินเอง` เทรนด์วัยเกษียณ โดย Patcharee Bonkham (วันที่ 09 กันยายน 2559) ได้เขียนเรื่องราวการปลูกผักเองกินของผู้สูงอายุซึ่งมีประโยชน์หนึ่งในบทความที่แสดงให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการปลูกผักและการทำสวนของผู้สูงอายุ ดังนี้

“การปลูกผักกินเองที่บ้าน ไม่ใช่แค่คุณตาคุณยายจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว แต่ยังทำให้ท่านได้มีกิจวัตรประจำวันทำ โดยไม่รู้สึกเหงา ที่สำคัญยังทำให้คนสูงวัยได้บริโภคผักปลอดสารพิษด้วยค่ะ อีกทั้งการปลูกผักยังช่วยเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นได้ด้วย เพราะคุณตาคุณยายสามารถเด็ดผักที่ปลูกมาปรุงเป็นเมนูอาหารเพื่อทำให้ลูกหลานรับประทานได้ และผักที่ปลูกเองยังทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสามารถตกแต่งบ้านให้ร่มรื่นได้ด้วยค่ะ ที่กล่าวมาคือประโยชน์ของการปลูกผักกินเองค่ะ” พรพรรณ กล่าว (สามารถอ่านบทความได้ที่ https://www.thaihealth.or.th)

ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยในต่างประเทศ แบคทีเรียในดินช่วยสร้างสุข ต้านเศร้า และความวิตกกังวล

งานวิจัยที่พบว่าในดินมีแบคทีเรียที่ชื่อว่า Mycobacterium vaccae ซึ่งมีผลช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเราหลั่งสารเซราโตนิน serotonin สารที่ทำให้คนรู้สึกมีความสุข และช่วยลดความวิตกกังวล นอกจากนี้เขายังพบว่าเจ้าสารตัวนี้ ยังมีส่วนช่วยพัฒนาการทำงานของร่างกาย และมีส่วนช่วยเยียวยารักษาโรคภัยต่างๆ อย่างโรคมะเร็งได้ด้วย ซึ่งการที่เราจะได้รับเจ้าMycobacterium vaccae นี้ ก็คือการที่เราได้จับหรือสัมผัสดินนั่นเอง

Mary O’Brien จาก Royal Marsden Hospital in London เขาก็ได้นำข้อค้นพบนี้ไปทดลองต่อ โดยนำMycobacterium vaccae ที่ได้จากดิน ไปฉีดให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด แล้วสังเกตดูอาการ ซึ่งก็พบว่า อาการป่วยจากโรคมะเร็งลดน้อยลง ที่สำคัญเขาพบว่าคนไข้มีสุขภาพจิตดีขึ้น มีพลัง และการรับรู้ที่ดีขึ้นด้วย

ทาง Dr. Chris Lowry จาก Bristol University ก็ได้ทำการศึกษาทดลองต่อ เขาตั้งสมมติฐานว่า ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายน่าจะทำปฏิกิริยากับ Mycobacterium vaccae และส่งผลให้ร่างกายผลิตสารสร้างสุขหรือ เซราโตนินออกมา

จากการค้นพบเหล่านี้ ก็ทำให้มีนักวิจัยหลายคนพยายามที่จะหาคำตอบว่าเราสามารถที่จะทำ Mycobacterium vaccae ให้เป็นเหมือนวัคซีนตัวหนึ่ง ที่ช่วยรักษาโรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็ง หรือโรครูมาตอยด์ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก็มีงานศึกษาที่พบว่า การใช้วิธีฉีดเข้าไปในหนู มีผลดีต่อร่างกายของหนูเพียงระยะเวลาไม่นานเท่านั้น คือพบว่าส่งผลให้หนูทดลองมีความกังวลน้อยลง มีสมาธิมากขึ้น เพียงประมาณ 3 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งงานวิจัยนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่าคงไม่มีอะไรดีเท่ากับการที่เราได้สัมผัส จับดินโดยตรงทุกวัน เพื่อที่จะได้รับ Mycobacterium vaccae เข้าไปในร่างกาย นอกจากนี้ คนทำสวนยังได้รับ Mycobacterium vaccae เข้าไปผ่านการหายใจระหว่างที่ขุดดิน ร่วมถึงอาจได้รับจากพืชผักที่ปลูกกับดินด้วย

ถึงแม้จะยังไม่มีการพบว่า เราควรจะได้รับสารตัวนี้เท่าไหร่ถึงจะพอ แต่อย่างน้อย เรื่องราวของงานวิจัยเหล่านี้ ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการที่เราออกมาปลูกผัก ทำสวน สัมผัสดิน สัมผัสธรรมชาตินี้ มีส่วนช่วยสร้างสุข ต้านเศร้า ช่วยลดความวิตกกังวลต่างๆ และช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้นได้อย่างดีทีเดียว Mycobacterium vaccae นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้คนทำสวน นอกจากจะได้ปลูกผักแล้ว ยังได้ปลูกความสุขไปในตัวด้วยนั่นเอง