Prof Yves Cabannes
ศาสตราจารย์เกียรติคุณและผู้เชียวชาญด้านการพัฒนาเมือง
University College London (UCL)
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เกษตรในเมืองในต่างประเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2008 เกษตรในเมืองก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด ซึ่งเมื่อมองย่อนกลับไปร้อยกว่าปีที่ยุโรป หลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนเมืองได้อพยพจากชนบทเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองกันมากขึ้น และ เพื่อลดค่าครองชีพ ค่าอาหารของประชาชน ทางเทศบาลหรือภาครัฐจึงพัฒนาที่ดินส่วนกลางให้เป็นสวนผักชุมชน (community garden) และ แปลงผักแบ่งปัน (allotment garden) เพื่อประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ ดังนั้น แผนพัฒนาเมืองและการสนับสนุนจากภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของพื้นที่เกษตรในเมือง
เกษตรในเมืองกับหัวใจ 3 ห้องแห่งการพัฒนา
เมื่อพูดถึงพื้นที่เกษตรในเมืองแล้ว จริงๆ แล้วไม่ได้หมายถึงแปลงผักสวนครัวที่มีไว้เพื่อปลูกผักไว้ทานเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง พื้นที่สวนป่า สวนผลไม้ พื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์หรือประมงก็ได้ หรือจะเรียกได้ว่าเป็น”พื้นที่ผลิตอาหารในเมือง”ก็ไม่ผิดนัก ซึ่งต่างกับพื้นที่เกษตรกรรมตามชนบท เพราะพื้นที่เกษตรในเมืองได้ถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไปโดยปริยายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการขยะ การใช้น้ำประปาเป็นแหล่งน้ำ การเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้แก่คนเมือง รวมถึงพื้นที่เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนเมือง ซึ่งเราสามารถสรุปคุณประโยชน์ของเกษตรในเมืองได้เป็น 3 มิติ
- ด้านสังคม การมีผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมีโดยปลูกผักทานเองจะช่วยให้คนเมืองมีสุขภาพที่ดีจากการบริโภคอาหารปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายจากการซื้ออาหารหรือวัตถุดิบตามท้องตลาด และการมีพื้นที่เกษตรในเมืองในชุมชนก็ช่วยดึ่งดูดให้คนเมืองเข้ามาพบปะและสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในชุมชน ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างความเข้มแข็งภายในชุมชน
- ด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากการมีอาหารปลอดภัยไว้ทานเองแล้ว พื้นที่เกษตรในเมืองช่วยให้เมืองเกิดความเขียวขจี สร้างพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่ผู้ที่เข้ามาพบเห็น ช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารผ่านการนำขยะอาหารมาทำเป็นปุ๋ยหมัก และนำปุ๋ยที่ได้มาปลูกพืช ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน และเกิดภูมิอากาศที่ร่มเย็นมากกว่าภายในตึกอาคารหรือพื้นที่เปิดโล่ง
- ด้านเศรษฐกิจ พื้นที่เกษตรในเมืองหลายแห่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำมาขายให้แก่คนเมือง สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่คนเมือง ที่ต่างประเทศ พื้นที่เกษตรสามารถพัฒนาจนเป็นกิจการ และลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากพื้นที่ชนบท
หากพูดถึงแนวคิด “สวนสาธารณะอยู่หน้าบ้านคุณ” แล้ว ฟังดูเหมือนอาจเป็นเรื่องแปลกสำหรับเมืองไทย หรือ คนกรุงเทพ ที่พอพูดถึงสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพแล้วก็จะนึกถึงแค่ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนเบญจสิริ หรือ สวนสาธารณะของชุมชนเท่านั้นเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเมืองสิงคโปร์ เมื่อก่อนก็ไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพในปัจจุบัน แต่ด้วยการนำแนวคิด “สวนสาธารณะอยู่หน้าบ้านคุณ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมืองก็ทำให้ต้นไม้มีเต็มเมืองสิงคโปร์ไปหมด อย่างไรก็ตาม ที่ยุโรป พื้นที่สีเขียวไม่ได้หมายถึงสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงพื้นที่เกษตรเมืองอีกด้วย ซึ่งแนวคิด Garden Cities ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใดในยุโรป
Community Land Trust: หัวจักรขับเคลื่อน Letchworth Garden City
เมื่อพูดถึง Garden City แห่งแรกแล้ว ก็ต้องนึกถึงเมือง Letchworth ของอังกฤษ ซึ่งมักเรียกกันติดปากว่า “Letchworth Garden City” ลักษณะเด่นของเมืองแห่งนี้ คือ การพัฒนาเมืองที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน โดยผ่าน Community Land Trust (CLT) หรือ กองทุนที่ดินชุมชน ที่เป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยคนในชุมชนที่ให้มาทำหน้าที่ในการพัฒนาและจัดการแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของเมือง เช่น พื้นที่สวนสาธารณะหรือเกษตรในเมือง ห้างสพรรพสินค้า สถานศึกษา โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน โรงงาน ไม่เว้นแม้กระทั้งสถานที่ราชการ เพื่อให้การจัดสรรที่ดินให้คนเมืองได้อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมและเข้าถึงได้ เพราะต้องยอมรับว่า เมื่อความเจริญเข้ามาสู่เมืองและที่ดินในเมืองมีอย่างจำกัด ทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นจนคนรุ่นใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยมีฐานะต้องออกไปอาศัยอยู่รอบนอกเมืองแทน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เจ้าที่ดินส่วนบุคคลในเมืองนี้มักจะมีไม่กี่ราย แต่เป็นกองทุนที่ดินชุมชนที่จะเป็นผู้ถือครองที่ดินส่วนใหญ่ของเมืองแทน
กระบวนการทำงานของกองทุนที่ดินชุมชนเมือง Letchworth (ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ Letchworth Garden City Heritage) จะทำด้วยการนำเงินบริจาคที่ได้จากผู้อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจและสถานประกอบการ ฟาร์มเกษตรเชิงพาณิชย์ และองค์ภาคเอกชนภายในเมือง มาเข้ากองทุนพัฒนาเมืองและนำเงินที่ได้มาลงทุนและพัฒนาที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ แหล่งเรียนรู้ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น เพื่อให้พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนเมือง
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเกิดโครงการพัฒนาเมืองในแต่ละครั้ง คนเมืองจะมีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกับภาครัฐหรือผู้ทำนโยบายอยู่เสมอ ทำให้เมื่อมีโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงสามารถทำได้โดยมีกระแสต่อต้านไม่มากนัก เนื่องจากกระบวนการรับฟัง ระดมความเห็นและถกแถลงของทุกฝ่ายได้เกิดขึ้นก่อนที่แผนพัฒนาจะถูกนำมาใช้นั้นเอง จึงเห็นได้ว่า ภาคประชาสังคมมีส่วนในการทำให้เกิด Garden City อยู่ไม่น้อย และการที่จะเกิด Garden City ขึ้นมาได้นั้น ต้องมีหลัก 10 ข้อดังนี้
- Residents are citizens: ผู้อยู่อาศัยของเป็นพลเมือง ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยทุกคนจะเป็นพลเมืองซึ่งเป็นบุคคลที่มีทะเบียนบ้านหรือมีภูมิลำเนาในพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยหลายคนก็อาจเป็นแรงงานหรือพนักงานที่เข้ามาอยู่ในเมืองเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองนี้ก็ได้ ดังนั้น แผนพัฒนาเมืองจึงต้องรวมคนกลุ่มนี้เข้าไปด้วย
- The garden city owns itself: นครแห่งอาหาร เป็นเจ้าของในตัวมันเอง นั้นหมายถึง คนเมืองหรือคนในท้องถิ่นมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ได้ถือครองโดยคนไม่กี่กลุ่ม (มักเรียกกันว่า Landlords) ซึ่งในทางปฏิบัติหากที่ดินถือครองโดยคนส่วนน้อย เวลาดำเนินแผนพัฒนาเมืองก็จะเกิดคำถามในหมู่ผู้อยู่อาศัยว่าโครงการที่ทำขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนไม่กี่กลุ่มหรือผู้ถือที่ดินในระแวกนั้นเพียงอย่างเดียวหรือไม่
- The garden city is energy efficient and carbon neutral: นครแห่งอาหาร มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและไร้การปล่อยคาร์บอนสู่ภายนอก นครแห่งอาหารถือเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่เต็มไปด้วยต้นไม้ที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมให้คนเมืองนิยมใช้ทางเดินเท้า ขับจักรยาน หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
- Provide access to land for living or working to all: สร้างโอกาสในการเข้าถึงที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยหรือการได้งานทำให้แก่ผู้อยู่อาศัยในเมืองทุกคน เป็นธรรมดาที่นครแห่งอาหารกับเกษตรในเมืองเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ โดยสนับสนุนให้คนเมืองให้มีสิทธิเข้ามาทำเกษตรในพื้นที่เมืองเช่นเดียวกับการมีที่ดินเพื่อเกษตรในชนบทผ่านทำสวนผักแบ่งปัน หรือ แปลงผักแบ่งปัน (allotment garden) ควบคู่ไปกับการมีสิทธิเข้าถึงที่อยู่อาศัย หรือ การทำธุรกิจในเมือง การส่งเสริมให้มีพื้นที่เกษตรในเมืองเป็นการส่งเสริมการใช้ที่ดินให้เกิดผลิตผลได้หลายแง่มุม ไม่ใช้การใช้ที่ดินไปสร้างหอพักหรือแหล่งธุรกิจเพียงอย่างเดียว
- Fair trade principles are practised: การค้าที่เป็นธรรมได้รับการนำมาปฏิบัติใช้ การนำหลักการนครแห่งอาหารมาใช้ในการพัฒนาเมืองจะไม่สามารถเลี่ยงหลักการค้าที่เป็นธรรมไปได้ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติที่ความเจริญรุ่งเรืองต้องไม่ถูกสร้างขึ้นมาจากการกดขี่หรือทิ้งผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาไว้ข้างหลัง ซึ่งหลักการนี้ไม่ใช่แต่เพียงนำมาใช้กับผู้อยู่อาศัยภายในเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสังคมภายนอกเมืองอีกด้วย
- Prosperity is shared: ความเจริญต้องมีการแบ่งปัน สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ความเจริญจะต้องไม่กระจุกตัวอยู่กับคนรวยหรือคนชั้นสูงเพียงไม่กี่กลุ่ม ดังนั้น การพัฒนาเมืองต้องคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ส่งเสริมการใช้การใช้สกุลเงินทองถิ่น อุดหนุนวิสาหกิจของชุนชน หรือ มีธนาคารชุมชน เป็นต้น
- All citizens are equal, all citizens are different: พลเมืองมีความเท่าเทียมกัน แม้ว่าจะมีแนวคิดที่ต่างกัน ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่เกี่ยวว่าจะอยู่อาศัยนานเพียงใด หรือ มีปู่ย่าตายายที่อาศัยอยู่มาก่อน ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้จะมีสิทธิมีเสียงมากกว่าคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่อาศัย ไม่มีสิทธิพิเศษอะไรใดๆ ไม่ว่าเป็นคนรวยหรือคนจน
- Fair representation and direct democracy: การเสนอความคิดเห็นอย่างเป็นกลางและการมีประชาธิปไตยทางตรง นครแห่งอาหารสามารถเกิดขึ้นในเมืองที่มีหลายชุมชนได้ โดยเปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนสามารถแสดงความต้องการหรือปัญหาแก้ชุมชนเพื่อนบ้านผ่านการจัดประชุมหรือการพบปะกันตามสมาคมต่างๆ เมื่อเมืองจะตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ผู้แทนของแต่ละชุมชนจะเข้ามาร่วมประชุม ช่วยกันการตัดสินใจ และหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนั้น บรรยากาศต่างคนต่างอยู่แถบจะไม่พบเห็นในนครแห่งอาหาร
- Garden cities are produced through partcipatory planning and design methods: นครแห่งอาหารถูกสร้างจากการวางแผนและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม นครแห่งอาหารสามารถอยู่ร่วมกับภูมิทัศน์ของเมือง แหล่งน้ำ อากาศ ธรรมชาติ และพื้นที่ชนบทรอบๆ เมือง นครแห่งอาหารจึงเน้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่คนทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุก็มีโอกาสเข้ามาใช้พื้นที่พบปะกันได้
- A city of rights that builds and defends the right to the city: เมืองที่ให้สิทธิและปกป้องสิทธิของเมืองไปพร้อมๆ กัน นครแห่งอาหารเคารพสิทธิของผู้อาศัยในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิในการเข้าถึงอากาศที่สะอาด อาหารปลอดภัย ที่อยู่อาศัย หรือ อาชีพและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เป็นต้น ไม่เพียงแต่สิทธิส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสิทธิของส่วนรวมอีกด้วย โดยสิทธิของส่วนรวมจะมีความสำคัญมากกว่าสิทธิส่วนบุคคลเพื่อให้เมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่
- Knowledge is held in common, shared and enhanced: องค์ความรู้เป็นสมบัติเพื่อสาธารณะ แบ่งปันและเผยแพร่ นครแห่งอาหารเป็นพื้นที่แห่งการอยู่อาศัยอย่างเกื้อกูลกันที่สร้างจากวัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์ การแบ่งปันและการทำงานร่วมกัน ซึ่งไม่ได้พัฒนาในแง่ความเจริญและธรรมาภิบาลเพียงอย่างเดียว จนนำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ
- Wealth and harmony measured by happiness: ความมั่งคั่งและความกลมเกลียววัดได้จากความสุข ต่างจากเมืองทั่วไปที่วัดความมั่งคั่งและความเป็นหนึ่งเดียวจากความเจริญทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งความสุขของคนเมืองนั้นต้องไม่ได้มาจากการกดขี่หรือทอดทิ้งคนกลุ่มอื่นไว้ข้างหลัง แต่ต้องเกิดจากการแบ่งปัน อยู่ดีมีสุขร่วมกัน
บทสรุปสู่ความเป็น Garden City
นครแห่งอาหารถือเป็นเมืองที่สร้างมาจากรากฐานที่ใส่ใจทุกมิติไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อมผ่าน 12 หลักการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามการพัฒนาเมืองสู่การเป็นนครแห่งอาหารได้นั้น มีความจำเป็นที่ผู้ถือครองที่ดินส่วนใหญ่ของเมืองต้องเป็นหน่วยงานกลางที่ประชาชนในพื้นที่มีส่วนช่วยกำหนดทิศทางในการพัฒนาเมืองในอนาคต กระบวนการนี้ช่วยให้คนเมืองมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและสำนึกคุณค่าของตนเองที่มีต่อชุมชนของตนเอง ในความเป็นจริงหลักการ 12 ข้อที่กล่าวมานี้ ไม่จำเป็นต้องนำทุกข้อมาใช้พร้อมๆ กันเสมอไป แต่สามารถค่อยๆ นำข้อใดข้อหนึ่งมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับเมืองนั้นๆ ได้ ซึ่งกว่านครแห่งอาหารอย่าง Letchworth จะเกิดขึ้นมาได้เช่นปัจจุบันได้นั้น จำต้องอาศัยภาคประชาชนที่มีความเข็มแข็ง และ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไปจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
ที่มาของรูปภาพ
- https://www.letchworth.com