ฟาร์มของคนเมือง ฟาร์มของความสุข (ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้วฉันเขียนแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับฟาร์มเกษตรชานเมืองในบทบาทของการผลิต ระบบ ผลิตอาหารของครือข่ายเกษตรกรรายย่อยใน Beijing farmer’s market ที่ฉันมีโอกาสไปเยี่ยมมา 6 – 7 แห่ง  ต่อไปฉันจะชวนคุณไปเรียนรู้ระบบตลาดและการกระจายผลผลิตจากฟาร์ม ว่าพวกเขามีรูปแบบการกระจายผลผลิตอย่างไรบ้าง รับรองว่าพวกคุณต้องทึ่งกับพลังผู้บริโภคและพลังของเกษตรกรรายย่อยในปักกิ่งแน่นอน

อย่างที่บอกไป ฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยที่ฉันได้ไปเรียนรู้ พวกเขาเพาะปลูกผักตามความต้องการของผู้บริโภค และตลาดที่เขาเชื่อมโยงโดยตรง พวกเขาขายผลผลิตโดยตรงกับผู้บริโภค ร้านค้า ร้านอาหารด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางเลย ซึ่งฉันจะขอสรุปรายละเอียดสำคัญๆของการกระจายผลผลิต ดังนี้

ผลผลิตทั้งหมดในฟาร์ม จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ร้อยละ 80 กระจายสู่ผู้บริโภคในเมืองในตลาดรูปแบบต่างๆ ส่วนอีกร้อยละ 20 พวกเขาใช้บริโภคภายในฟาร์ม ประกอบด้วย ผลผลิตสำหรับทำอาหาร 3 มื้อให้กับพนักงาน คนงาน และอาสาสมัครที่เข้ามาอยู่ในฟาร์ม ผลผลติสำหรับใช้ทำอาหารเวลามีกิจกรรมพิเศษในฟาร์ม เช่น อบรม มีคนเข้ามาศึกษาดูงาน และผลผลิตสำหรับขายตรงให้กับผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่รอบๆฟาร์ม หากใครสนใจก็สามารถเข้ามาซื้อโดยตรงกับฟาร์มได้เลย  ซึ่งฉันคิดว่านอกจากพวกเขาจะมีเสถียรภาพเรื่องจำนวนผลผลิตแล้ว พวกเขายังมีเสถียรภาพ ความมั่นคง และความมั่นใจในตลาดของพวกเขาด้วย อย่างไรนะหรือ

ผลผลผลิตร้อยละ 80 ในฟาร์ม พวกเขามีตลาดสำหรับการกระจายผลผลิตที่หลากหลาย เป็นตลาดที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคในเมืองขนาดใหญ่ ฉันขอเล่าเรียงตามลำดับการกระจายผลผลิตจากมากไปน้อย ดังนี้

CSA (Community Supported Agriculture)

  • การกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภค ในระบบ CSA ซึ่งเป็นระบบที่เติบโตมากและเติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองปักกิ่ง ในแต่ละฟาร์มจะเปิดรับสมัครผู้บริโภค ที่สนใจสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อย ในระบบ CSA นี้ทางอินเตอร์เน็ตและรับสมัครตรงผ่านการจัดตลาดในแต่ละครั้ง CSA ที่นี่ค่อนข้างยืดหยุ่น ฉันมีโอกาสสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาที่ผู้บริโภคต้องสมัครเป็นสมาชิก คือ การที่ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อภาระความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นจากผลิตให้กับเกษตรกรก่อน ด้วยการสนับสนุนเงินเพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ในการเพาะปลูกก่อน  อย่างในเมืองไทยฉันพอรู้มาว่า พวกเขามีระยะเวลาที่กำหนดไว้ชัดเจน เช่น ต้อง 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี  แต่ที่ปักกิ่งพวกเขาเปิดรับสมาชิกที่มีตั้งแต่ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน จนถึง 1 ปี ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ตามความสนใจ  และความพร้อมของตนเอง
  • ยกตัวอย่าง Little donkey farm ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างมากในปักกิ่งและจีน พวกเขาเปิดฟาร์มตั้งแต่ปี 2008 มีสมาชิกในระบบ CSA ประมาณ 300 ครอบครัว มันเป็นกลุ่มสมาชิกที่ใหญ่มาก มากจนพวกเขาต้องเปิดฟาร์มอีก 1 แห่ง เพื่อปลูกผักส่งสมาชิก CSA เพียงอย่างเดียว  แต่ละสัปดาห์พวกเขาจะจัดผลผลิต(ผัก)ลงกล่องส่งให้กับสมาชิก ครอบครัวละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์  และโดยส่วนมากผู้บริโภคต้องการให้จัดส่งผักในช่วงปลายสัปดาห์มากที่สุด เพราะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์คนอยู่บ้าน ทำอาหารกินเยอะ ผู้บริโภคสามารถเลือกน้ำหนักได้ 2 ขนาด  คือ ขนาด S น้ำหนัก 9.5 กก. และ ขนาด M น้ำหนัก 14.5 กก./สัปดาห์ พืชผักมีความหลากหลายประมาณ 9 – 15 ชนิด/สัปดาห์ นอกจากนั้นผู้บริโภคยังสามารถสมัคร CSA ที่เป็นผลผลิตประเภท ไข่ไก่ ไข่เป็ด เนื้อหมู เนื้อไก่จากฟาร์มอีกด้วย
  • พวกเขาจะเริ่มเก็บผลผลิตจากแปลง ในช่วงสายและบ่ายของแต่ละวัน จัดผักเป็นมัดๆ ตามน้ำหนัก ชนิดละ 0.8 – 1.5 กก.  จากนั้นนำผักเก็บในห้องเย็นรอจัดลงกล่อง เวลา 15.00 น. พนักงาน อาสาสมัคร และ Intern จะมาช่วยกันทำความสะอาดกล่อง คือ ทำความสะอาดจริงๆ ใส่ใจทุกรายละเอียด หลังจากนั้นพวกเราก็จะช่วยกันจัดผักลงกล่อง ประมาณ 16.30 น. วันแรกเราช่วยพวกเขาจัด 50 กล่อง วันที่ 2 ประมาณ 100 กล่อง พวกเขาทำทุกอย่างให้มันง่าย ช่วยกันจัดผักลงกล่องทีละชนิด และจะมีคนเดินดูความเรียบร้อยว่าใส่ครบหรือไม่ พอทุกอย่างเสร็จ เขาจะมาดูว่าผู้บริโภครายไหนที่ต้องการเลือกผักเป็นพิเศษพวกเขาก็จะคัดเข้าคัดออก แต่ก็มีไม่ถึง 10 กล่องที่ต้องทำแบบนั้น จากนั้นก็จะใส่รายละเอียดของชนิดผัก น้ำหนักของผักแต่ละชนิดลงกล่อง ปิดฝา ติดสติ๊กเกอร์พื้นที่การจัดส่ง และนำกล่องที่ต้องจัดส่งในพื้นที่ใกล้เคียงกันมาไว้ด้วยกัน รอแผนกจัดส่งมาขนขึ้นรถและนำส่งในช่วงเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น การจัดผักลงกล่องใช้เวลาประมาณ 1 – 1.30 ชม. ทำงานกันเร็วมาก หรือเพราะว่ามีแรงงานต่างด้าวชาวไทยช่วยถึง 3 คน ฉันคิดว่ามันเป็นงานที่สนุกและมีความสุข เพราะเราเห็นสายพานการผลิตและการจัดส่งผลผลิตที่สร้างทั้งความสุของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ต่างร่วมสนับสนุนกันและกัน
  • ส่วนเรื่องราคานั้น ฉันแอบถามผู้จัดการฟาร์มมา เขาบอกว่า ขนาด M น้ำหนัก 14.5 กก./สัปดาห์ ราคา 150 หยวน ประมาณ 780 – 800 บาท ขนาด S น้ำหนัก 9.5 กก./สัปดาห์ ราคา 120 หยวน ประมาณ 630 – 650 บาท ฉันลองนั่งคำนวณดู มันไม่แพงนะ แถมยังส่งถึงบ้านอีก ผักก็ไม่ค่อยเสียหาย แทบไม่ต้องทิ้งอะไรเลย
  • ส่วนผู้บริโภคทั้งหมดเป็นคนในเมืองปักกิ่ง และรู้มาว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และระบบ CSA ในปักกิ่ง เป็นคนทำงานในหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐบาล  พวกเขาสนใจประเด็นเรื่องความปลอดภัยเรื่องอาหาร และพยายามหาช่องทางเพื่อช่วยพัฒนานโยบาย และงานด้านนี้ให้เติบโตจากงานของพวกเขา พอได้ยินอย่างนี้ฉันก็แอบคิดในใจว่า ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีการเอื้อประโยชน์และผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งนั้น แต่ที่ปักกิ่งดีหน่อยที่พวกเขาเอื้อประโยชน์ในเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

Beijing Farmer’s Market  ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ฉันไปร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ ที่นี่มีความน่าสนใจมากมายที่ฉันอยากจะบอกเล่าแก่พวกคุณ แต่ในตอนนี้ฉันขอเล่ามันในบทบาทของตลาดกระจายผลผลิตจากฟาร์มของเกษตรกรรายย่อย Beijing Farmer’s Market  เป็นเหมือนตลาดสินค้าออร์แกนิคในเมือง เหมือนตลาดเขียวในบ้านเรา  เครือข่ายนี้จัดให้มีตลาดอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 3 – 5 ครั้ง/สัปดาห์ ตลาดแต่ละครั้งจะมีผู้ผลิตประมาณ 15 – 30 ร้านค้า มีทั้งพืชผัก ผลไม้ ไข่ เนื้อสัตว์ ข้าว ธัญพืช อาหารแปรรูป มากมายหลายอย่าง เปลี่ยนสถานที่จัดหมุนเวียนกันไปแต่ละวัน ตลาดแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสผู้บริโภคในเมืองที่ต้องการอาหารดี มีคุณภาพ ผลิตในระบบที่ดีต่อสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค และดีต่อสิงแวดล้อม มาเจอกับเกษตรกรรายย่อยตัวจริงที่เป็นผู้ผลิตอาหารที่ดีอย่างที่พวกเขาต้องการ ต้องย้ำว่าพวกเขาคือเกษตรตัวจริงที่เพาะปลูกอยู่ในฟาร์ม หมุนเวียนกันมาขายผลผลิตที่ตลาด พวกเขาได้พูดคุย พบปะ แลกเปลี่ยน ซื้อขายกันโดยตรง เป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศการซื้อขายที่น่ารัก สนุก และเรียบง่ายมาก

พวกเขาเปิดตลาดประมาณ 10.00 น. ซื้อขายกันอย่างครึกครื้น และคึกคัก ผู้บริโภคมาสนับสนุนผลผลิตเป็นจำนวนมาก ต้องย้ำอีกครั้งว่า พลังของผู้บริโภคที่นี่ยิ่งใหญ่จริงๆ พวกเขาซื้อของกันเหมือนว่าราคามันบาทสองบาท บางรายซื้อของกันจนแทบหอบหิ้วกลับไม่ไหว บางรายขนกลับขึ้นรถกันหลายรอบ คงเพราะ 1 สัปดาห์จะได้จับจ่ายซื้ออาหารที่ดีเพียง 1 ครั้ง  พวกเขาพูดคุยกันด้วยมิตรภาพ ถามไถ่ข้อมูลที่อยากรู้ เกษตรกรก็ยินดีให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ เข้าขั้นว่าพูดเก่งและขยันพูดกันเลยทีเดียว ประมาณ 13.30 ตลาดก็เริ่มวายแล้ว ทุกร้านขายของหมดเกลี้ยง เป็นแบบนี้ทุกครั้ง ทุกวัน ทุกที่ที่มีการจัดตลาด ฉันคิดว่ามันเป็นพื้นที่การซื้อขายที่ดีมาก การจัดตลาดอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ ช่วยสร้างทั้งความมั่นใจต่อเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภคว่าพวกเขาสามารถผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคก็มั่นใจว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้อย่างแน่นอน และต่อเนื่อง

Community Market เป็นร้านค้าที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยเห็นว่า Beijing Farmer’s Market  ไม่ได้มีตลาดทุกวัน และยังหมุนเวียนสถานที่จัดไปเรื่อยๆ หากมีร้านค้าที่เปิดให้บริการทุกวัน และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย ก็น่าจะเป็นพื้นที่ให้บริการอาหารที่ดี เชื่อมโยงผลผลิตจากฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยสู่ผู้บริโภคในเมือง และช่วยสร้างระบบอาหารที่ดีแก่เมืองปักกิ่งมากขึ้น พวกคุณสามารถอ่านรายละเอียดของ Community Market  ได้ที่  https://thaicityfarm.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=696&auto_id=47&TopicPk=

อื่นๆ นอกจากรูปธรรมและพื้นที่ของการกระจายผลผลิตจากฟาร์มเกษตรชานเมืองปักกิ่ง สู่ผู้บริโภคในเมืองที่ฉันได้กล่าวถึง มันเป็น 3 พื้นที่ใหญ่ๆ ที่เชื่อมโยงระบบอาหารอินทรีย์ของเมืองปักกิ่งได้เป็นอย่างดี ฟาร์มเหล่านี้ยังมีตลาดเล็กๆ ที่พวกเขาส่งผลผลิตเข้าสู่เมืองอีกหลากหลาย เช่น ส่งผักเข้าร้านอาหาร โรงแรมในเมือง รวมถึงการเปิดครัวที่ฟาร์มในวันหยุด เพื่อให้คนเมืองเข้าไปเยี่ยมฟาร์ม ตัดผักมาทำอาหารกลางวันกินกัน

เหล่านี้คือเรื่องราวการเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยชานเมืองปักกิ่งกับผู้บริโภคในเมืองปักกิ่ง พวกเขาสร้างพื้นที่การทำงาน การเชื่อมโยงกันโดยตรง ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องผ่านมือคนกลางให้มากมาย พวกเขาช่วยกันสร้างระบบอาหารที่ดีของเมือง ผ่านการสร้างฐานผู้ผลิตที่เข้มแข็ง ฐานผู้บริโภคที่แข็งแกร่งและพร้อมจะสนับสนุนระบบอาหารที่ดี ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย จริงๆแล้วมันไม่มีใครได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แต่การลุกขึ้นมาทำบทบาทหน้าที่ที่ควรทำของตัวเองอย่างเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญ         มันสร้างประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และยังช่วยเผื่อแผ่ความรัก ความห่วงใยไปสู่สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย คงไม่ใช่เรื่องที่พูดเกินจริงไปนัก ที่ฉันบอกว่าคนปักกิ่ง พวกเขาช่วยกันสนับสนุนและรักษาไว้ซึ่งพื้นที่อาหารใกล้มือ ใกล้เมืองของตนเอง และไม่เพียงแค่ปักกิ่งเท่านั้น ระบบอาหารแบบนี้กำลังเติบโตในเมืองอื่นๆ ของจีนอีกหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็น  เซี่ยงไฮ้ เฉินตู กานซู    เซิ่นเจิน เทียนจินและอีกหลายเมือง ฉันเองก็ฝันถึงการเติบโตอย่างเข้มแข็งของเกษตรกรรายย่อยของบ้านเรา และพลังผู้บริโภคที่จะช่วยกันสนับสนุนระบบอาหารที่ดีร่วมกันของบ้านเรา คงต้องช่วยกัน ลงขันแรงกาย แรงใจกันอีกเยอะนะคะ