Techniques in Urban Agriculture บทที่ 4: ดิน หัวใจและรากฐานของการทำเกษตรอินทรีย์

 

บทที่แล้ว เราได้เรียนรู้วิธีการเพาะต้นกล้าจากเมล็ดและหลักการกล้าย้ายลงแปลงปลูกไปแล้ว บทนี้เราจะมาว่ากันด้วย ”ดิน” ว่าดินนั้นสำคัญอย่างไรกับการเกษตร ดังที่กล่าวไปในบทที่ 2 คำว่า “เกษตร” ก็มีรากมาจากคำว่า “กษัตริย์ หรือ แผ่นดิน” หรือ คำว่า agriculture เองก็มีรากมาจาก “agri = soil หรือ ดิน” ดังนั้น ดินจึงอยู่คู่กับเกษตรกรรมมาหลายพันปี ซึ่งเมื่อก่อนเกษตรก็ไม่ได้ใช้สารเคมีในการทำเกษตรแต่อย่างใด แต่จะทำเกษตรให้สอดคล้องและเกื้อกูลกับธรรมชาติและระบบนิเวศในท้องถิ่นนั้นๆ

โครงสร้างของชั้นดิน (Soil horizons)

โดยทั่วไป ชั้นดินสามารถแบ่งออกเป็น 4 ชั้นหลัก (ภาพด้านล่าง) ได้แก่ ดินชั้นบนสุด หรือ หน้าดิน (ชั้น O และ ชั้น A) เป็นชั้นสำคัญที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์จากจุลินทรีย์สูงสุด ทำให้ปริมาณธาตุอาหารสะสมมากที่สุดเช่นกัน ดินชั้นบนจึงเป็นบริเวณที่รากพืชขยายตัวอย่างหนาแน่นเพื่อกินอาหาร นี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่การทำเกษตรธรรมชาติจะไม่สนับสนุนการไถพรวน หรือ ขุดและพลิกเอาดินเหนียวมากลบหน้าดิน จนธาตุอาหารพร้อมจุลินทรีย์บริเวณหน้าดินถูกฝังกลบและสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

นิเวศวิทยาของดิน (Soil ecology)

เมื่อดูโครงสร้างของชั้นดินแล้ว จะเห็นได้ว่า ระบบนิเวศในดิน (ecosystem) หลักๆ จะอยู่ที่หน้าดินซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ในดินหรือหน้าดิน เช่น ไส้เดือน ตัวกะปิ กิ้งกือ หนอนด้วง แมงมุม รวมถึงแบคทีเรียและเชื้อรา สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ช่วยในการย่อยสารอินทรีย์จนเกิดเป็นอินทรียวัตถุในดินและทำให้ดินมีความชุ่มชื้นและมีชีวิต ดังนั้น ดินที่มีแต่ความแห้งแล้ง ไม่มีสิ่งมีชีวิตหรือสัตว์ในดินเข้ามาอาศัย หมายถึง ดินที่ไม่มีชีวิต และเป็นดินที่ทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่และอ่อนแอต่อโรคและแมลง

 

มีหนังสือหลายเล่มที่พูดถึงนิเวศวิทยาของดิน แต่มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่พูดถึงนิเวศของดินไว้ได้หน้าสนใจ คือ The New Complete Book of Self-Sufficiency : The Classic Guide for Realists and Dreamers โดยคุณจอห์น ซีมัวร์ (John Seymour: 1914 – 2004) เป็นนักเขียนที่ขับเคลื่อนเรื่องการพึ่งพาตนเองในยุคแรกๆ ของโลกนอกจากการเป็นนักเขียนแล้ว เขายังเป็นนักสื่อสาร นักสิ่งแวดล้อม นักเกษตรกรรม และนักกิจกรรม มีแนวคิดต่อต้านการบริโภคนิยม ระบบอุตสาหกรรม การดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) วิถีชีวิตเมือง และการใช้รถยนต์ส่วนตัว มีความสนใจแนวคิดการพึ่งพาตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความพอเพียง กิจกรรมนันทนาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ศิลปะการแสดง การทำสวน ไปจนถึงการดูแลโลกและผืนดิน

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อยู่บนผืนดินย่อมเกิดมาจากดินและเมื่อตายไปก็หมุนเวียนต้องกลับเข้าสู่ดินเพื่อให้เชื้อราหรือจุลินทรีย์ย่อยสลายเศษซากให้กลายเป็นแร่ธาตุให้พืชนำมาใช้เป็นอาหารให้คนเราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้กินเป็นอาหาร เกษตรกรที่ดีจึงควรให้ความสำคัญกับดินและบำรุงดินให้มีชีวิตและเป็นผู้ให้ชีวิต จากภาพด้านบน แสดงองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ตามหน้าดินที่ดำรงอยู่และอาศัยกันอย่างเกื้อกูล

พืชผัก สิ่งมีชีวิตผู้ผลิตและให้ชีวิต (Plants)

เริ่มจากพืช สิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแสงแดด น้ำและธาตุอาหารในดินมาเป็นอาหารให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ จากภาพด้านล่าง จุดที่เปรียบเสมือนปากของพืชที่ใช้กินอาหารก็คือ ขนราก (Root hair) ซึ่งจะกระจุกหน่าแน่นบริเวณปลายรากนั้นเอง ขนรากเป็นหนึ่งในเนื้อเยื้อพืชที่มีความบางมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ดูดซับสารอาหารจากดิน นี้จึงเป็นเหตุผลที่เวลาย้ายต้นไม้แต่ละครั้งต้องให้ดินห่อหุ้มรากให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ถูกอากาศทำความเสียหายและลดการฉีกขาดของขนรากในระหว่างการขนย้าย

การแผ่ขยายรากและหยั่งลึกลงดินจะแตกต่างๆ กันในพืชแต่ละชนิด ดินที่มีพืชขึ้นอยู่หลายชนิดย่อมมีความสมบูรณ์มากกว่าดินที่มีพืชปลูกอยู่แค่ชนิดเดียว จึงมีนวัตกรรมที่ทำมาแต่ดั่งเดิมคือการปลูกพืชหลากชนิดตามความลึกของราก ดังภาพด้านล่าง โดยปลูกผักรากตื้นสลับกับผักรากลึก เช่น ปลูกแครอท (รากลึก) คู่กับกะหล่ำ (รากลึกปานกลาง) คู่กับหัวหอม (รากตื้น) เพื่อลดการแย่งธาตุอาหารและให้รากชอนใชตามหน้าดินแต่ละชั้น เพื่อให้หน้าดินเกิดความโปร่ง ช่วยระบายน้ำและอากาศได้ดี สำหรับเมืองไทย เราสามารถปลูกผัก กระเพราะ คู่กับ ต้นหอม และสลัดให้ติดกันได้

สัตว์ ผู้อาศัยและวิศวกรทางนิเวศวิทยาในดิน (Animals)

ความสลับซับซ้อนและการอาศัยอยู่ของสัตว์ในดิน ช่วยทำให้ดินเป็นต้นกำเนิดของชีวิตได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสัตว์เหล่านี้จะช่วยกินเศษซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นธาตุอาหารในดิน สร้างโพรงอากาศและพรวนดินในร่วนภายในตัว ทำให้รากพืชหยั่งลงไปในดินเพื่อหาอาหารได้ลึกมากขึ้น ร่วมทั้งอากาศที่สิ่งมีชีวิตใต้ดินใช้หายใจก็ระบายได้ดีมากขึ้นด้วย ผักที่ปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์แบบนี้จะมีลำต้นที่แข็งแรงและทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี เรามาดูกันว่ามีสิ่งมีชีวิตใดบางที่เข้ามาอาศัยอยู่ในดินบ้าง

ไส้เดือนดิน (Earthworm) แทบไม่ต้องอธิบายเลยว่า หากดินอรไรก็ตามที่มีไส้เดือน นั้นก็หมายความว่า ดินนั้นคือดินที่เหมาะแก่การปลูกผัก มีฟาร์มหลายแห่งก็เลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลมาขายเพื่อสร้างรายได้ หรือเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ตามบ้านเรือน อย่างไรก็ตามอาจต้องยกเว้นสำหรับไส้เดือนฝอยที่เป็นหนอนศัตรูพืชที่เข้าไปกัดกินรากพืชจนผลผลิตเสียหาย ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่ในดินชั้นบนและไม่ชอบแสง และเป็นผู้กินซากพืชซากสัตว์ตามหน้าดินลงมาสู่ดินในรูปของมูลไส้เดือน มีส่วนอย่างมากในการสร้างช่องว่างในดินและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในดิน มีงานวิจัยโดยทีมคุณ Sharpley พบว่า พื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ใช้ยาฆ่าแมลงจนไส้เดือนดินหายไปจากพื้นที่ อัตราการระบายน้ำในดินลดลงถึง 93 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

แมลงและสัตว์ขาข้อ (Insects and arthropods) ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่หากินบนหน้าดินและใต้ดิน และมีทั้งกลุ่มที่เป็นคุณและโทษต่อพืช โดยกลู่มที่เป็นคุณต่อพืช ได้แก่ มดแดง ปลวก กิ้งกือ ด้วงขี้ควาย รวมถึงแมงมุมและตะขาบที่จะเข้ามาล่าแมลงศัตรูพืชและหนอนที่จะเข้ามากินพืชผลในแปลงของเรา ส่วนมดดำอาจไม่เป็นคุณต่อพืชผักเท่าไรนัก เนื่องจากจะล่อเพลี้ยเข้ามากัดกินผลผลิต รวมถึงหนอนผีเสื้อชนิดต่างๆ ที่จะเข้ามากัดกินใบผักจนเสียหาย ในทางเกษตรธรรมชาติจึงปล่อยหญ้าหรือวัชพืชเพื่อให้หนอนผีเสื้อเข้ามากัดแทะ แทนที่ให้กัดกินผักเพียงอย่างเดียว และเป็นพื้นที่ให้แมงมุมเข้ามาทำรังล่าแมลงอีกทีนึง รวมทั้งปลูกไม้ดอกให้หลายชนิดเพื่อดึงดูดแมลงนักล่าให้เข้ามากินแมลงศัตรูพืชและหนอนเป็นอาหาร

เชื้อราและจุลินทรีย์ในดิน (Soil microbes) เป็นผู้สลายสารอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากสามารถย่อยซากพืชซากสัตว์ให้เล็กที่สุดจนรากพืชดูดซึมมาใช้เป็นอาหารได้ โดยทั่วไป ราขาว (กลุ่ม Actinomyces) ที่ขึ้นตามเศษใบไม้แห้ง ถือเป็นราที่มีประโยชน์ และเกษตรกรนิยมนำราชนิดนี้มาเพาะเป็นหัวเชื้อของน้ำหมักเพื่อช่วยบำรุงดินและพืช ยีสต์ (yeast) ซึ่งก็เห็ดราที่มีขนาดเล็กที่สุด และนำนิยมนำมาหมักแอลกอฮอล์และช่วยปรุงดินได้ดี แบคทีเรียและสาหร่ายบางชนิดก็มีความสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศและเปลี่ยนปุ๋ยให้แก่พืช

การตรวจสอบดินก่อนลงมือปลูก

การตรวจสอบดินก่อนการเพาะปลูกเป็นสิ่งจำเป็นที่เกษตรกรต้องทำก่อนลงมือเพาะปลูก เพราะจะได้ทราบว่า ดินของเราเหมาะกับการปลูกพืชหรือไม่ หากดินมีความเสื่อมโทรมก็จะได้รู้ว่าต้องปรับปรุงในส่วนใดเป็นพิเศษ แต่ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าดินแบบไหนเป็นดินดี ดินแบบไหนเป็นดินที่ต้องปรับปรุง มาเริ่มที่

ดินที่มีชีวิต หรือ ดินดี (Fertile soil) ซึ่งก็คือ ดินที่มีธาตุอาหารและอินทรียวัตถุครบถ้วนต่อการปลูกพืช หากมีสัตว์หน้าดิน เช่น ไส้เดือนดิน ก็หมายความว่าดินของเราเหมาะสมต่อการเพาะปลูก เป็นดินที่มีสีดำหรือน้ำตามเข้ม มีความร่วนซุยซึ่งเมื่อเอามือจับแล้ว ดินมีการจับตัวกันแน่น ไม่ติดมือ เมื่อเอาดินมาดมจะได้กลิ่นคลายไอฝน ค่ากรด-ด่าง (pH) ควรอยู่ 6.5 หรือกรดอ่อนๆ

ดินเสื่อมโทรม (Degraded soil) ก็คือ ดินที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก สาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการไถพรวนและพลิกดินที่อยู่ด้านล่างมากลบหน้าดิน การเกิดน้ำท่วมซึ่งพัดพาหน้าดินจนเหลือแต่ดินชั้นล่างไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก พื้นที่เกษตรเคมีที่ใช้ปุ๋ยเคมีมายาวนานจนดินแข็งและอัดตัวแน่น หรือ พื้นที่เพาะปลูกเป็นดินถมซึ่งเป็นดินเหนี่ยว ดินที่เหนี่ยวจะส่งผลให้รากพืชไม่สามารถชอนไชลงไปตามหน้าดินหรือใต้ดินได้ยาก การดูดซับสารอาหารจึงทำได้น้อยลง ผักจึงแคระแกรนและไม่งาม และหากดินยังมีสีเหลืองซึ่งมีธาตุเหล็กและกำมะถันสูง ซึ่งทำดินเปรี้ยวหรือเป็นกรดจัด (pH ต่ำกว่า 5) ดินที่เป็นกรดจัดจะบังคับให้พืชดูดน้ำออกจากราก จนรากดูดสารอาหารไม่ได้ และทำให้เกิดโรครากเน่าในพืชตามมา

การปรับปรุงดินเบื้องต้น (Soil restoration)

เป็นปัญหาที่เป็นปกติสำหรับคนเมืองที่อยากปลูกผักในพื้นที่ของตนเองที่มักเป็นดินถม และต้องเผชิญกับดินที่เหนี่ยวเกินไป เวลาปลูกผักในดินแบบนี้ก็จะแคระแกรน ไม่สวยงาม ซึ่งการปรับปรุงดินเหนี่ยว โดยทั่วไปเราจะเน้นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับขนาดพื้นที่และเวลาเป็นหลัก โดยทั่วไป พื้นที่รกร้าง เคยทำเกษตรมาก่อน และมีวัชพืชขึ้นหนาแน่นจะปรับปรุงดินได้ง่ายกว่าพื้นที่ดินถม เนื่องจากรากวัชพืชได้หยั่งลงตามผิวดินและพรวนดินภายในตัวอยู่แล้ว

การใช้ปุ๋ยพืชสด (Green manure)

เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ใช้เวลาในการฟื้นฟูนานเป็นปี แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้เวลาดูแลมากและต้นทุนต่ำ เริ่มจากการใช้เครื่องจักรกรีดหน้าดินให้แตกตัวเพื่อสร้างโพรงอากาศและเกิดความร่วนซุยมากขึ้น หากพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ควรทำการยกแปลงก่อน ซึ่งการยกแปลงให้สูงจะช่วยให้ดินถูกแสงแดดและลมมากขึ้นจนปริมาณน้ำหรือความชื้นในดินลดลงและเม็ดดินจับตัวกันหลวมขึ้น

เมื่อกรีดหน้าดินหรือยกแปลงเสร็จแล้วให้ทำการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดและตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุยมากขึ้น เมื่อพืชตระกูลถั่วออกดอกจนเต็มพื้นที่แล้วให้ทำการตัดให้จนลำต้นติดดินและเหลือแต่รากพืชเหล่านั้นไว้ ต้นพืชที่ถูกตัดให้คลุมแปลงไว้ให้แห้งและย่อยสลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ปล่อยรากพืชที่เหลือในดินให้ย่อยสลายจนเกิดเป็นโพรงในดิน จากนั้นสับหน้าดินให้แตกออก แต่ไม่ต้องสับดินให้ลึกมาก

 

แต่หากดินยังจับตัวกันแน่นและแข็งอยู่ ให้ปลูกพืชตระกูลถั่วซ้ำบนแปลงอีกครั้ง แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงดินในต้นฤดูฝน เนื่องจากหน้าฝนเป็นฤดูที่ผักให้ผลผลิตต่ำและมักเสียหายจากน้ำท่วมหรือเม็ดฝนที่ตกกระทบจนผักเสียหาย พืชตระกูลถั่วที่ปลูกในฤดูฝนจะโตได้ดีในฤดูฝนและไม่มีปัญหาวัชพืชเข้ามารบกวน เนื่องจากพืชตระกูลถั่วโตจนวัชพืชไม่สามารถเข้ามาแย่งชิงแหล่งอาหารได้ พืชตระกูลถั่วที่เหมาะต่อการปรับปรุงดิน ได้แก่ ปอเทือง โสน ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า ซึ่งก็ขึ้นกับสภาพพื้นที่ หากพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม เช่น ภาคกลาง ปอเทือง โสน ถั่วพุ่มจะขึ้นได้ดี แต่หากเป็นภาคเหนืออาจต้องปลูกถั่วพร้าแทนเนื่องจากเป็นพื้นที่สูง หรือ เราอาจปลูกต้นกระเจี๊ยบเพื่อช่วยพรวนดินให้ลึกขึ้นได้ เนื่องจากรากของกระเจี๊ยบแดงมีความแข็งแรงและลงดินได้ลึกกว่าปอเทือง ซึ่งรากกระเจี๊ยบแดงสามารถลงลึกได้ถึงชั้นดินดาน แต่รากจะย่อยสลายช้ากว่าปอเทือง หรืออาจปลูกถั่วมะแฮะแทนก็ได้ เพราะรากย่อยเร็วกว่ากระเจี๊ยบแดง

การสะสมอินทรีย์วัตถุจากปุ๋ยหมัก

เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับพื้นที่ทุกขนาด ใช้เวลาในการปรับปรุงไม่นาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณในการซื้อปัจจัยการผลิตของแต่ละท่าน และใช้เวลาดูแลมากกว่าการใช้ปุ๋ยพืชสด ในที่นี้จะแนะนำหลักการ 3 ส่วน ได้แก่ ปุ๋ยหมัก + น้ำหมัก + วัสดุคลุมดิน ที่จะช่วยให้ดินของเราร่วนขึ้น แต่สิ่งแรกที่ของทำคือ การยกแปลงปลูก โดยแปลงควรกว้างประมาณ 1 เมตร ซึ่งสะดวกต่อการหยิบจับ ไม่ควรยกแปลงสูงเกินไป (ความสูงควรอยู่ประมาณ 10-15 เซนติเมตร)

ปุ๋ยหมัก (Compost) หากพื้นที่เราไม่ใหญ่มากนักและสามารถขุดดินเหนี่ยวมาหมักได้ ผสมด้วยขี้วัวกับแกลบ ในสัดส่วน ดินเหนี่ยว 2 ส่วน ขี้วัว 1 ส่วน และแกลบ 1 ส่วน นำมาผสมกันพร้อมพรมน้ำให้ชุ่ม ตักใส่กระสอบหรือตั้งกอง ทิ้งไว้ให้เกิดกระบวนการหมักประมาณ 14 วัน ในกรณีที่พื้นที่ใหญ่เกินไปและไม่สามารถขุดดินเหนี่ยวมาหมักได้ ให้นำขี้วัวหมักกับเศษใบไม้แห้งผสมกันในสัดส่วนที่เท่ากัน หมักทิ้งไว้ 14 วัน (1 ตร.ม. ใช้ ขี้วัว และ เศษใบไม้อย่างละ 1 กิโล) ถ้ากองปุ๋ยไม่ร้อน มีสีเข้ม และเศษแกลบหรือเศษใบไม้ย่อยหมดแล้ว ก็ถือว่านำมาใช้ในการเพาะปลูกได้แล้ว

น้ำหมัก (Biological Extract) ใช้องค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ หน่อกล้วย (1 หน่อ สูงประมาณ 1 เมตร สับหน่อให้ละเอียด พร้อมตัดใบออกให้หมด) เป็นแหล่งให้ฮอร์โมนพืช (Auxin) เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของใบและลำต้น ยาคูลท์ (1 ขวด) เป็นแหล่งจุลินทรีย์ที่ช่วยให้เกิดการหมัก น้ำตาล (1 กิโล) และน้ำมะพร้าว (3 ลูก หากไม่มีก็ไม่เป็นไร) สำหรับเป็นแหล่งอาหารให้จุลินทรีย์  ผสมกันและหมักทิ้งไว้ 7-10 วัน ก็สามารถนำมาใช้รดผักเพื่อเร่งใบได้ น้ำหมักชนิดนี้ เหมาะสำหรับผักกินใบ ไม่เหมาะสำหรับผลไม้หรือผักกินผล

วัสดุคลุมดิน (Mulch) เมื่อเทปุ๋ยหมักลงพื้นที่ปลูกและฉีดน้ำหมักเพื่อปรับปรุงดินเรียบร้อยแล้ว ขั้นสุดท้าย คือ การคลุมดินด้วยวัสดุธรรมชาติเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและลดการขึ้นของวัชพืช จนเกิดการหมักและย่อยสลายทับถมจนเป็นหน้าดิน โดยทั่วไปจะใช้ฟางในการคลุมดิน แต่หากเป็นใบไผ่หรือดินใบก้ามปูจะให้ผลดีมาก เนื่องจากมีไนโตรเจนสูงและหมักได้ง่ายและเร็ว

 

References

  • โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย). (2557). สวนผักคนเมือง : รวมรูปแบบ เทคนิคและเคล็ดลับการปลูกผักในเมือง. ภายใต้การสนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
  • อานัฐ ตันโซ. (2556). ตำรา เกษตรกรรมธรรมชาติประยุกต์ แนวคิด หลักการ เทคนิคปฏิบัติในประเทศไทย ปี 2556. ภายใต้การสนับสนุน โดย  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • Bidlack, J.D. & Jansky, S.H. (2012). Stern’s introductory plant biology. New York: McGraw-Hill.
  • Gliessman, S.R. (2015). Agroecology : The Ecology of Sustainable Food Systems. Bosa Roca: Taylor & Francis Inc.
  • Hamilton, G. (2011). Organic Gardening. New York: Dorling Kindersley Ltd.
  • Mollison, B. (1997). Permaculture: A Designers’ Manual. Tagari Publications.
  • Bardgett, R. D. (2005). The biology of soil : a community and ecosystem approach. Oxford: Oxford University Press.
  • Seymour, J. (2019). The New Self-Sufficient Gardener. London: Dorling Kindersley Ltd.
  • Seymour, J. (2019). The New Complete Book of Self-Sufficiency : The Classic Guide for Realists and Dreamers. London: Dorling Kindersley Ltd.
  • Sharpley, A.N., Syers, J.K., and Springett, J.A. (1979). Effect of surface casting earthworms on the transport of phosphorus and nitrogen in surface runoff from pasture. Soil Biology and Biochemistry, 11, 459–462.
  • Stiling, P. (2012). Ecology: Global Insights and Investigations. New York: McGraw-Hill
  • https://home.kku.ac.th/pracha/Earthworm%20Culture.htm