Techniques in Urban Agriculture บทที่ 2: ดิน น้ำ ลม ไฟ พร้อมหลักการปลูกผักทั่วไป


ก่อนเราจะเริ่มลงมือปลูกผัก เราก็ต้องทราบปัจจัยต่างๆ ในพื้นที่ของเรา ว่าพื้นที่ของเรานั้นสามารถปลูกอะไรได้บ้าง เมื่อเราไปอ่านหนังสือหรือคู่มือปลูกผักหลายเล่มก็มีการอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นปริมาณแสง ระบบน้ำ ทิศทางลม ลักษณะดินในพื้นที่ปลูก ไปจนถึงเรื่องงบการลงทุน จำนวนแรงงาน และลักษณะอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ง่ายต่อผู้อ่าน เราจึงสรุปไล่ตามหลักโหราศาสตร์จิน คือ “ดิน น้ำ ลม ไฟ” ดังนี้

ดิน (Soil) ตัวแทนแห่งการก่อรูปร่าง

ขึ้นชื่อว่าทำเกษตรแล้ว ดินถือเป็นหัวใจหลัก เพราะ คำว่า “เกษตร” ก็มีรากมาจากคำว่า “กษัตริย์ หรือ แผ่นดิน” หรือ คำว่า agriculture เองก็มีรากมาจาก “agri = soil หรือ ดิน” นั้นเอง ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีต้นกำหนดมาจากดิน โดยพืชเป็นผู้นำธาตุอาหารในดินมาพัฒนาเป็นต้นอ่อนจนออกใบ ออกดอก และออกผลให้สัตว์ทั้งหลายกินเป็นอาหาร ซึ่งหากสัตว์ขาดพืช ก็หมายถึงการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ อีกทั้งดินเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ในดินหรือหน้าดิน เช่น ไส้เดือน ตัวกะปิ กิ้งกือ หนอนด้วง แมงมุม รวมถึงแบคทีเรียและเชื้อรา สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ช่วยในการย่อยสารอินทรีย์จนเกิดเป็นอินทรียวัตถุในดินและทำให้ดินมีความชุ่มชื้นและมีชีวิต ดังนั้น ดินที่มีแต่ความแห้งแล้ง ไม่มีสิ่งมีชีวิตหรือสัตว์ในดินเข้ามาอาศัย หมายถึง ดินที่ไม่มีชีวิต และเป็นดินที่ทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่และอ่อนแอต่อโรคและแมลง

จากภาพด้านบนเป็นลักษณะชั้นดิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ชั้นหลัก สิ่งที่นักปลูกทุกท่าน พึงระลึกไว้ว่า ดินชั้นบนสุด (ชั้น O และ ชั้น A) นั้นสำคัญที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์สูงสุด และสะสมปริมาณธาตุอาหารมากที่สุดเช่นกัน ดินชั้นบนจึงเป็นบริเวณที่รากพืชขยายตัวอย่างหนาแน่นเพื่อกินอาหาร นี้จึงเป็นเหตุหลักที่การทำเกษตรธรรมชาติไม่สนับสนุนการไถพรวน หรือ ขุดและพลิกเอาดินเหนียวมากลบหน้าดิน จนธาตุอาหารพร้อมจุลินทรีย์บริเวณหน้าดินถูกฝังกลบและสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

น้ำ (Water) ตัวแทนแห่งการหลอมรวม

น้ำเป็นวัตถุดิบหลักที่พืชต้องใช้ในการสร้างอาหารโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง น้ำเป็นอีกปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ดินยังคงมีความชุ่มชื้นและมีชีวิต น้ำจะถูกพืชดูดซึมผ่านรากไปจนถึงยอดและมีผลต่อเจริญเติบโตของยอดพืช ซึ่งมีข้อสังเกตคือ ความอวบหรือความอ้วนของลำต้นพืชจะลดลงเมื่อความสูงของลำต้นมากขึ้น ดังนั้น ยอดใบพืชจึงความอ้วนน้อยที่สุดเพื่อช่วยลดแรงดันน้ำในส่วนยอดให้น้อยที่สุดและช่วยให้น้ำลำเลี้ยงจากรากขึ้นสู่ใบได้ดีมากขึ้น ดังนั้น พืชจึงอาศัยน้ำเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโตของพืช การขาดการรดน้ำจึงส่งผลให้พืชหยุดชะงักการเจริญเติบโตได้

ในเรื่องการรดน้ำ ฤดูกาลก็มีผลต่อการให้น้ำ ในฤดูฝน อาจจะรดวันละ 1 ครั้ง หรือ ไม่รดเลยหากฝนเพิ่งตกและดินยังเปียกชื้นอยู่ ดินที่แฉะหรือเปียกชื้นเกินไป จะส่งผลให้เกิดโรครากเน่าในผักตามมาได้ ส่วนฤดูหนาวก็อาจเปลี่ยนมารดวันละ 2 ครั้ง และหน้าร้อนรถวันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น) โดยเฉพาะหากปลูกสลัดในฤดูร้อน ควรมีการพลางแสงเพื่อไม่ให้สลัดถูกแดดเผาจนเกิดการเหี่ยวเฉาและชะงักการโต

ลม (Wind) ตัวแทนแห่งการพลิ้วไหว

ลมจะเกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศโดยเริ่มต้นจากอากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้น เมื่ออากาศร้อนลอยตัวขึ้นลมก็จะพัด และอาหาศเย็นเข้ามาแทนที่ หรือบริเวณที่มีความชื้นสูงไปต่ำ ดังนั้น บริเวณที่มีความร้อนหรือความชื้นใกล้เคียงกันจึงมักไม่เกิดลม ลมเป็นสิ่งที่พืชใช้ในการขยายเผ่าพันธุ์ เช่น พืชกลุ่มหญ้า ไผ่ ข้าว หรือธัญพืชต้องใช้ลมในการกระจายละลองเกสร พืชบางชนิดใช้ลมในการพัดพากลิ่นของดอกไม้เพื่อดึงดูดให้สัตว์ เช่น ผีเสื้อ ผึ่ง แมลง นก หรือ ค้างคาว เอามาช่วยผสมเกสร หรือส่งกลิ่นของผลไม้ผ่านลมเพื่อชวนให้เข้ามากินและกระจายเมล็ดผ่านอุจจาระที่สัตว์ทิ้งในขณะไปตามพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งลมก็มีส่วนในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคพืช เมื่อฝนตกลงมากอย่างหนัก ลมจะพัดพาเชื้อราก่อโรคที่ติดอยู่ตามใบไม้ไปกับน้ำ ดังนั้น การปลูกพืชให้มีลมพัดผ่านและไม่ให้แน่นจนเกินไปจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยควบคุมการเกิดโรคพืชได้อีกทางหนึ่ง แม้ว่าลมอาจพัดพาความชื่นออกจากผิวดินก็ตาม ซึ่งเราสามารถแก้ไขได้โดยการคลุมดินด้วยฟางนั้นเอง

ในโซนเอเชีย การปลูกผักหรือทำไร่นิยมทำแบบยกแปลงปลูก เพราะการยกแปลงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีฝนตกและเกิดน้ำขัง เพราะการยกแปลงทำให้น้ำไม่ท่วมขังที่รากและถูกลมพัดพาความชื้นไปกับอากาศ อย่างไรก็ตามในดินแดนที่มีความแห้งแล้ง ไม่ค่อยเกิดน้ำท่วม เช่น ทะเลทราย เรามักจะไม่เห็นการปลูกแบบยกแปลง แต่จะใช้วิธีทำแปลงหลุมแทน ดังภาพด้านบน การเพาะเมล็ดในหลุมดิน เมื่อเมล็ดงอกออกมาจากหลุม เม็ดดินที่อยู่รอบๆ จะค่อยๆ ถูกลมพัดพามาเกาะรอบๆโคนต้นกล้าจนกลายเป็นเนินดินที่สูงขึ้นและรักษาความชื้นในดินก้นหลุมที่อยู่รอบๆ รากได้เป็นอย่างดี

ไฟ (Fire) ตัวแทนแห่งความอบอุ่นและพลัง

แสงแดดเป็นตัวแทนของธาตุไฟที่พืชใช้ในการสร้างอาหารเช่นเดียวกับน้ำ จึงไม่แปลกที่เวลาเราปลูกผักในที่ร่มหรือมีแสงแดดน้อย ผักที่เราปลูกมักเจริญเติบโตได้ไม่ดี เพราะผักต้องใช้แสงแดดในการสร้างอาหารผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง (photosysthesis) และพืชผักแต่ละชนิดก็ต้องการแสงแดดไม่เท่ากัน สำหรับมือใหม่แล้ว การจะรู้ว่าพื้นที่ของเรามีแสงมากหรือน้อยนั้น มีวิธีการดูง่ายๆ ดังนี้

  • หากพื้นที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน (ตั้งแต่ 06.00 – 16.00 น.) แสดงว่าพื้นที่ของเราได้รับแสง “เต็มวัน” แบบเราสามารถปลูกผักได้หลายชนิด ได้แก่ ผักกินใบได้เกือบทุกชนิด (สลัด คะน้า กวางตุ้ง ผักกาด กระหล่ำ ผักบุ้ง โหระพา กระเพรา แมงลัก) ผักกินผล (มะเขือ มะเขือเทศ พริก แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว หอม ถั่วฝักยาว)
  • หากพื้นที่ของท่านได้รับแสงครึ่งวัน (ตั้งแต่ 06.00 – 12.00 น. หรือ 12.00 – 16.00 น.) แสดงว่าพื้นที่ของเราได้รับแสง “ครึ่งวัน” ท่านสามารถปลูกผักกินใบ อาทิ สลัด ผักบุ้ง ผักกาด กวางตุ้ง กะหล่ำ หัวไช้เท้า สะระแหน่ ผักชี มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อย่างหนึ่ง คือ ผักส่วนใหญ่สร้างอาหารในช่วงเช้า ดังนั้น ผักที่ได้รับแสงตอนเช้าจะเจริญงอกงามดีกว่าผักที่ได้รับแสงในช่วงบ่าย
  • หากพื้นที่อยู่ในที่ร่ม หรือ รำไร ทำให้ปลูกผักได้ไม่กี่ชนิด อาทิ วอเตอร์เครส ชะพลู ตำลึง ผักกูด ผักหวานป่า ผักชีฝรั่ง ใบเตย ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ขมิ้น พื้นที่รำไรเองก็เหมาะแก่การเพาะเห็ดและถั่วงอก และทำโรงเพาะกล้าผัก

อีกทั้ง แสงแดดช่วยให้น้ำในดินที่แฉะเกินไประเหยไปในอากาศและช่วยลดความเสี่ยงในเกิดโรคพืช เพราะเชื้อราที่ก่อโรคมักชอบที่มืดและที่ชื้น รวมถึงศัตรูพืชเช่นหอยทากที่ชอบอยู่ตามหน้าดินที่มีความชุ่มชื้น แต่ไม่ชอบแดด ดังนั้น การปลูกพืชให้มีระยะห่างกัน มีแสงแดดส่องลงมาสู่พื้นดินบ้าง ก็จะช่วยให้พืชไม่ต้องเผชิญกับโรคและศัตรูพืช

นอกเหนือจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ ควรสังเกตพื้นที่ของเราด้วยว่า เวลารดน้ำ หรือ ฝนตก มีบริเวณใดที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานหรือไม่ หากแปลงปลูกเกิดน้ำขังบริเวณแปลงผัก ควรทำร่องระบายน้ำ หรือ ยกแปลงผักให้สูงขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคของเชื้อราที่มากับน้ำท่วมขัง

หลักการปลูกผักเบี้องต้นที่มือใหม่ต้องเรียนรู้

การงอกของเมล็ด (Seed germination)

การเพาะเมล็ดโดยทั่วไป เรานิยมทำ 2 รูปแบบดังนี้ 1) การหว่านหรือหยอดหลุมลงแปลงปลูกโดยตรง เป็นวิธีที่เหมาะกับเมล็ดที่มีขนาดใหญ่หรือมีราคาถูก ทำได้โดยหยอดเมล็ดลงในหลุมโดยตรงและกลบด้วยดินพร้อมรดน้ำให้ชุ่ม อาจคลุมฟางหรือวัสดุธรรมชาติเพื่อรักษาความชื่น วิธีที่ 2 คือ การเพาะต้นกล้าก่อนย้ายลงแปลงปลูก โดยทั่วไปทำได้หลายวิธี หากเมล็ดใหญ่ อย่างเมล็ดฟักทองหรือเมล็ดถั่ว เราสามารถทำวิธีเดียวกับการเพาะถั่วงอกได้ โดยนำเมล็ดมาแช่น้ำก่อนหนึ่งคืน จากนั้นนำเมล็ดวางบนกระดาษทิชชู่ที่ผ่านการชุบน้ำพร้อมปิดด้วยทิชชู่ที่เปียกน้ำอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเมล็ดงอกจนเป็นต้นกล้าแล้วค่อยย้ายลงกระถางหรือแปลงปลูกเป็นลำดับถัดไป ดังภาพด้านล่าง

การย้ายต้นกล้า (Transplanting)

การย้ายต้นกล้าเป็นขึ้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมาก ในระหว่างการย้าย รากต้นกล้าต้องมีดินห่อหุ้มอยู่ตลอดเวลา เพราะรากมีความอ่อนไหวต่ออากาศมาก แม้ว่ารากจะถูกอากาศแค่ 2-3 วินาที ก็มากเพียงพอที่อากาศจะเข้าไปทำลายขนรากหรือรากขนาดเล็กเป็นจำนวนมากได้ อีกทั้งต้นกล้าควรอยู่ใต้ร่มเงาตลอดเวลาเพราะชอบอากาศและดินที่ชื่น การย้ายต้นกล้าควรทำในตอนเย็นเพื่อไม่ให้ต้นกล้าถูกแดดเผาในตอนกลางวันและรับความชื่นจากน้ำค้างในตอนกลางคืน ยิ่งหากย้ายกล้าในวันที่เมฆปกคลุมหนาแน่นด้วยจะดีมาก หลังย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูกหรือกระถางเสร็จต้องรดน้ำให้ชุ่มทันที

การรดน้ำ (Watering)

การรดน้ำอย่างสม่ำเสมอครั้งละ 15-20 นาที เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาเช้าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เนื่องจากพืชต้องนำน้ำมาสร้างอาหารผ่านการสังเคราะห์แสงในตอนเช้า ซึ่งในช่วงบ่ายอัตราการสังเคราะห์จะลดลงเนื่องจากช่วงบ่าย อากาศจะร้อนมากที่สุด พืชต้องคายน้ำออกมาเพื่อระบายความร้อน การรดน้ำในช่วงบ่ายจึงเป็นการรดเพื่อลดความร้อนในอากาศเป็นหลัก หากรดน้ำน้อยเกินไป รากจะงอกมาอยู่บริเวณผิวดินเพื่อดูดน้ำจนรากถูกแดดเผาทำลายในตอนเที่ยง ในทางตรงกับข้าม หากรดน้ำมาเกินไปจนท่วม ธาตุอาหารบริเวณก็จะถูกน้ำชะล้างไปกับน้ำ

การให้ปุ๋ย (Fertilizers)

ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด เศษกระดูก เศษเนื้อ เศษใบไม้ เศษอาหารเป็นวัสดุบำรุงดินที่จะค่อยๆ สลายตัวและปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืชอย่างช้าๆ ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์ต่อพืชในระยะยาว พืชจะมีสุขภาพและทนโรคทนแมลงได้ดีกว่าพืชที่ได้รับอาหารอย่างรวดเร็วจากปุ๋ยเคมี

การจัดการโรคและศัตรูพืช (Disease and pest management)

โรคและศัตรูพืชถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้นักปลูกและมือใหม่หลายท่านปวดหัวอยู่ไม่น้อย เพราะในภาวะที่พืชเป็นโรคหรือถูกศัตรูพืชทำลายจนผลิตเสียหายไปแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะกรณีพืชเป็นโรคจากแมลงหรือเชื้อรา คือ ต้องเก็บผลผลิตทำลายทิ้งอย่างเดียว ดังนั้น ในหลักเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติจะเน้นที่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคและแมลงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงดินให้สมบูรณ์เพื่อลดความเสี่ยงการขาดธาตุอาหาร การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรของแมลง การปล่อยให้แปลงปลูกว่างและตากแดดให้แห้งสัก 1 สัปดาห์ก่อนลงมือเพาะปลูกเพื่อลดการสะสมของเชื้อราและเชื้อโรคต่างๆ หรือ การใช้การควบคุมทางชีววิทยา (biological control) ซึ่งหัวเรื่องนี้จะกล่าวอย่างละเอียดในหัวข้อถัดๆ ไป

References

  • โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย). (2557). สวนผักคนเมือง : รวมรูปแบบ เทคนิคและเคล็ดลับการปลูกผักในเมือง. ภายใต้การสนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
  • อานัฐ ตันโซ. (2556). ตำรา เกษตรกรรมธรรมชาติประยุกต์ แนวคิด หลักการ เทคนิคปฏิบัติในประเทศไทย ปี 2556. ภายใต้การสนับสนุน โดย  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • Bidlack, J.D. & Jansky, S.H. (2012). Stern’s introductory plant biology. New York: McGraw-Hill.
  • Gliessman, S.R. (2015). Agroecology : The Ecology of Sustainable Food Systems. Bosa Roca: Taylor & Francis Inc.
  • Mollison, B. (1997). Permaculture: A Designers’ Manual. Tagari Publications.
  • Seymour, J. (2019). The New Complete Book of Self-Sufficiency : The Classic Guide for Realists and Dreamers. London: Dorling Kindersley Ltd.
  • Stiling, P. (2012). Ecology: Global Insights and Investigations. New York: McGraw-Hill.