เมื่อน้ำมาอย่างไม่ทันตั้งตัว จะรับมืออย่างไร?

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมทอด”ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ช่วยน้ำท่วม” และเวทีเสวนา โสเหล่ “เมล็ดพันธุ์กับความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์ภัยพิบัติ”  ดำเนินรายการโดย คุณนาตยา แวววีรคุปต์ ไทยพีบีเอส และคุณกมล หอมกลิ่น ที่มาช่วยสะท้อนบทเรียนในครั้งนี้ เริ่มที่ คุณพ่อนิยม เจริญ ตัวแทนเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ได้แจ้งสถานการณ์น้ำท่วม ณ ตอนนี้ว่า หลายพื้นที่น้ำได้แห้งลงแล้ว และมีบางแห่งที่น้ำยังท่วมขังอยู่ ความเสียหายในปีนี้ถือว่ารุนแรงมากกว่าปีก่อนๆ พี่น้องเกษตรกรคาดไม่ถึงมาก่อนว่าจะเกิดวิกฤตน้ำท่วมขึ้น เพราะฤดูกาลที่ผ่านมาประสบกับภัยแล้งมาตลอด จึงเตรียมกับมือกับปัญหาภัยแล้ง และไม่คาดคิดว่าน้ำมาเร็วขนาดนี้ ชาวนาหลายรายในพื้นที่แถบสิ้นเนื้อประดาตัว อีกทั้งเกษตรกรหลายรายแทบไม่มีเมล็ดพันธุ์สำรอง บางรายมีเมล็ดพันธุ์ไว้ทำนาแค่ 1 กระสอบเท่านั้นเอง จากการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่อย่างหนัก ลุงช้าง หรือ คุณสรภพ พูลเพิ่ม เครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนอุบลราชธานีและภาคีหลายภาคส่วนจึงจัดกิจกรรม “ทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์” ครั้งนี้ขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ และเกิดเวทีแลกเปลี่ยนบทเรียนที่น่าสนใจในหลายมิติ ซึ่งเวทีนี้ คุณสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราธานี ได้เข้ามาร่วมรับฟังปัญหาของพี่น้องเกษตรกรในครั้งนี้ด้วย

การพัฒนาและความเจริญไม่ได้เป็นคุณประโยชน์เสมอไป

บทเรียนนี้สะท้อนโดย คุณหนูเดือน แก้วบัวขาว ผู้ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก เครือข่ายคปสม.จังหวัดอุบลราชธานี ได้สะท้อนว่า แผนการพัฒนาเมืองและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลายโครงการเน้นที่บรรเทาปัญหาของเมืองเป็นหลัก บางแผนการจัดการทำให้ทางเดินน้ำเปลี่ยนแปลงไปและเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เกษตรนอกเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น

สอดคล้องกับที่สุพรรณบุรี โดย พี่เล้ (กนกพร ดิษฐกระจันทร์) กลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ได้กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ของตนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ก่อนน้ำท่วมจะเป็นลักษณะน้ำหลาก คือ น้ำท่วมในระยะเวลาไม่นานมาก ประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ต่อมาเกิดการสร้างถนนหรือยกระดับถนนให้สูงขึ้น จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ในปีที่รุนแรง นากลายเป็นทะเลสาปนานถึง 7 เดือน เครือข่ายเกษตรจึงต้องรับมือกับภาวะน้ำท่วมขัง เริ่มตั้งแต่เรียนรู้และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง แม้ว่าเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเองจะมีอัตราการงอกต่ำกว่า แต่ก็ช่วยให้เกษตรกรไม่ประสบปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ในฤดูทำนา จนสามารถรับมือกับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ได้ เพราะมีเมล็ดพันธุ์ของตนเองไว้เพาะปลูก แม้ว่าช่วงน้ำขังนานจะทำนาไม่ได้ก็ตาม

อีกวิธีการที่ทางสุพรรณบุรี คือ การปรับเปลี่ยนฤดูการผลิต เดิมทีจะทำนาปีนาปีละ 3-4 รอบ และเก็บเกี่ยวก่อนที่น้ำหลากจะมาในเดือนตุลา ปัจจุบัน ต้องปรับเปลี่ยนเป็นทำนาปีละ 2 รอบ คือ เริ่มดำนาหลังน้ำท่วมขังในเดือนธันวาและเก็บเกี่ยวภายในเดือนมีนา อีกช่วงคือ เริ่มดำนาในช่วงพฤษภา และเก็บเกี่ยวภายในเดือนสิงหาก่อนที่น้ำท่วมขังจะมา

เมื่อความหวังดีอาจกลับกลายเป็นภาระ

เมื่อเกิดวิกฤต เราก็จะเห็นน้ำใจของคนไทยอยู่เสมอ กิจกรรมทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ก็เช่นกัน แต่การช่วยเหลือก็ต้องมาพร้อมกับการให้ความรู้ ไม่เช่นนั้นความช่วยเหลืออาจกลายเป็นภาระ ปัญหานี้สะท้อนโดย คุณอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร ที่พบว่า เมล็ดพันธุ์บางส่วนที่บริจาคมาไม่เหมาะต่อสภาพอากาศในพื้นที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มีการบริจาคเมล็ดพันธุ์ข้าวนาปรังที่ต้องอาศัยน้ำปริมาณมากในการออกรวง และบางพื้นที่จะมีน้ำท่วมขังอยู่ ก็ปลูกข้าวนาปรังภายใน 15 วัน ก่อนที่ลมหนาวจะพัดมาพร้อมภัยแล้ง ดังนั้น ในระยะสั้น การให้ความรู้เรื่องพันธุกรรมพืชแก่ผู้บริจาคและเกษตรกรจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

ภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปจากเดิม วิถีการทำเกษตรต้องเปลี่ยน

คุณพรรณี เสมอภาค ที่ปรึกษาสหกรณ์เกษตรอินทรีย์จำกัด ได้สะท้อนว่า ต่อไปสภาพอากาศจะแปรปรวนและภัยพิบัติจะเกิดถี่มากขึ้นมากกว่าแต่ก่อน มีการคาดการณ์ว่า ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลงไม่ต่ำกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ ทางอีสานมีแนวโน้มไปในทิศทาง ฝนจะตกไม่นาน แต่ปริมาณน้ำฝนเท่าเดิมและฝนตกลงกระจุกในบางพื้นที่ ปัญหาน้ำหลากก็จะตามมา ส่วนหน้าแล้งกลับนานขึ้น สรุปง่ายๆ คือ ฝนตกสั้น แต่แล้งนานขึ้น พี่อุบลจึงเสนอวิธีการรับมือปัญหาไว้อีก 2 ระยะ ได้แก่ ระยะกลาง ภาครัฐจำเป็นต้องเก็บและทำฐานข้อมูลประวัติการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นระดับความสูงของน้ำ การทำแผนที่ดาวเทียม เป็นต้น จากนั้นฐานข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถพัฒนาเป็นระบบแจ้งเตือนและการรับมือภัยพิบัติในระยะยาวได้

ส่วนด้านเมล็ดพันธุ์ พี่อุบลได้ให้ความเห็นว่า การเกิดวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์เป็นหัวใจหลักที่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ใน จ.อุบลฯ เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นหลังผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วม การเก็บเมล็ดพันธุ์ให้มีพันธุกรรมให้หลากหลาย ทำให้เกษตรกรสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ทนแล้งหรือทนน้ำขังได้ จนเกษตรกรพัฒนาทักษะและความเชียวชาญจนเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ได้ในอนาคต

สิ่งที่พี่อุบลได้กล่าว ก็สอดคล้องกับพี่โจน จันได ที่เน้นย่ำว่า เมล็ดพันธุ์คือ อำนาจ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบอาหาร อีกทั้งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นเรื่องน่าอาย หากเมืองไทยไม่มีแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง โดยแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ควรตั้งอยู่บนพื้นที่สูงไม่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม และเสริมอีกว่า เมล็ดพันธุ์ควรมีการผลิตเพื่อการค้า เพราะการค้าจะช่วยให้เกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์มีรายได้และอยู่ได้ด้วยตนเอง และเป็นแหล่งเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ขายในยามวิกฤต

ในด้านการปรับตัวกับวิกฤตน้ำท่วม พี่โจนแนะนำว่า ควรหันมาปลูกพืชหลังน้ำท่วมแทน เช่น ถั่ว งา ฟักทอง แตงโม เพราะหลังน้ำท่วม ดินจะมีความชื้นอยู่มากและมีสารอาหารอยู่มากจากตะกอนที่พัดพามากับน้ำ เราสามารถปลูกพืชเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรดน้ำเลย ภายใน 2 เดือนหลังน้ำท่วมก็จะออกผลผลิตให้เก็บเกี่ยว สร้างรายได้ให้ไม่ยาก และลดความเสี่ยงจากภาวะราคาข้าวตกต่ำได้

พี่โจนยังแนะนำ “โคก หนอง นา” โมเดล ไว้สำหรับรับมือวิกฤตน้ำท่วม โดยเริ่มจากการขุดบ่อเก็บน้ำให้ลึก และนำดินที่ขุดสระมาทำเป็นโคก หรือ เนินดินสูง ไว้สำหรับปลูกผัก ส่วนบ่อที่ขุดก็เป็นอ่างเก็บน้ำและเลี้ยงป่า หรือ อาจนำเศษกระดุกสัตว์ยัดใส่กระสอบโยนลงก้นสระ เมื่อน้ำท่วมก็พัดพาปลาชะโดให้เข้ามาแทะเล็มกระดูกสัตว์ในบ่อ และจับปลามาขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

ฟัง Live ได้ที่ page – Ubon Connect อุบลคอนเนก ได้ใน link ด้านล่าง

https://www.facebook.com/UbonConnect/videos/746550249142842/