Techniques in Urban Agriculture บทที่ 1: รู้จักระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หลายที่ปีที่ผ่านมา โครงการสวนผักคนเมือง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ได้ส่งเสริมเทคนิคเกษตรในเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา คำถามยอดฮิตที่พบบ่อยคือ “สนใจปลูกผักไว้ทานเอง ต้องเริ่มยังไงดี?” หรือ “ปลูกผักไปแล้ว แต่ผักไม่งามเลย” ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่คนเมืองหันมาปลูกผักทานเองกันมากขึ้น ส่วนใหญ่สนใจปลูกผักที่ไม่ใช้สารเคมีและเป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

อยากทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องรู้จัก”ระบบนิเวศ”  

ระบบนิเวศ คือ พื้นที่หนึ่งที่ประกอบไปด้วยสิ่งไม่มีชีวิต (ดิน แร่ธาตุ น้ำ อากาศ แสงแดด) และสิ่งมีชีวิต เช่นพืชและสัตว์เข้ามาอาศัยในพื้นที่เดียวกันพร้อมมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในรูปของการหมุนเวียนพลังงานและธาตุอาหารที่เกิดขึ้นอย่างสมดุล ดังภาพด้านล่าง (ดัดแปลงและแปลจากหนังสือ Biology : the core โดย Eric J. Simon)

เริ่มจากกระบวนการทางธรณีวิทยา (Geological processes) ที่หมุนเวียนแร่ธาตุอาหารจากระบบนิเวศหนึ่งมาสู่อีกระบบนิเวศหนึ่งผ่านการผุกร่อนหรือกัดเซาะและการพัดพา โดยเฉพาะหินที่ผุกร่อนจนแร่ธาตุเข้าไปสะสมร่วมกับจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายและแปลงสภาพจนกลายเป็นดิน ดินก็จะถูกเก็บอยู่ในพื้นที่ในระบบนิเวศภาคพื้นดิน เช่น ระบบนิเวศป่าไม้ หรือ ระบบนิเวศเกษตร เช่นเดียวกับ น้ำที่จะไหลไปตามระบบนิเวศธารน้ำไหลจนไปสิ้นสุดที่มหาสมุทร ทรัพยากรที่ไม่มีชีวิตเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศหรือน้ำก็จะถูกพืชนำมาสร้างน้ำตาลหรือแป้งผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง รวมถึงธาตุอื่นๆ ก็ถูกนำมาสร้างโปรตีน ฮอร์โมนหรือสารภูมิคุ้มกันให้แก่ตัวพืชเอง จากนั้นสัตว์กินพืชก็กินพืชเป็นอาหารและช่วยในการเจริญเติบโต เมื่อพืชและสัตว์ตายลงกลายเป็นซาก ก็จะถูกผู้ย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น เห็ด เชื้อรา แบคทีเรีย ไส้เดือนดิน หนอนแมลง กินเป็นอาหารและเปลี่ยนเป็นธาตุอาหารกลับสู่ระบบนิเวศดังเดิม

การทำนาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มมักถูกน้ำท่วมอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งน้ำท่วมก็ถือว่าเป็นคุณในทางการเกษตร เพราะน้ำที่ท่วมก็นำพาดินและตะกอนจากภูเขามาสะสมในพื้นที่ลุ่มจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่นาในพื้นที่ภาคกลางของไทยสามารถทำได้ตลอดปี หรือ ทุเรียนนนท์ถึงมีรสชาติโดดเด่นกว่าทุเรียนภาคอื่นๆ (ภาพประกอบจากหนังสือ Essentials of geology โดย Frederick K. Lutgens, Edward J. Tarbuck และ Dennis Tasa)

ทำความรู้จักระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไปจะเน้นที่การผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด ธัญพืช ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ หรือ ประมง ที่ไม่ใชสารเคมีต่างๆ ในกระบวนการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนสังเคราะห์  ยาปฏิชีวนะ หรือ สารเร่งการเจริญเติบโต รวมถึงสิ่งมีชีวิตตัดต่อทางพันธุกรรม (GMOs) เน้นปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ตามฤดูกาลและปลูกให้หลากหลายชนิดเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในพื้นที่ เมื่อพิจารณาถึงวิธีการผลิตที่เป็นหัวใจหลักข้างต้นแล้ว ก็จะมีระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ เกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture) ได้ดังนี้

เกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable agriculture) ถือเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกับเกษตรแผนใหม่หรือเกษตรเคมีที่เน้นนำปัจจัยจากนอกพื้นที่เช่น ปุ๋ยเคมี หรือ ยาเคมี เข้ามาใช้เป็นจำนวนมากจนดินเกิดความเสื่อมโทรม แมลง ปูหรือปลาตามท้องนาที่เคยถูกจับมาเป็นอาหารก็หายไป ระบบเกษตรยั่งยืนจึงเน้นการทำเกษตรให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ เช่น ปลูกพืชผักให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ หรือ ฤดูกาล ผลผลิตที่ได้สามารถนำมาขายและเลี้ยงตัวเองได้ และเป็นมิตรต่อสุขภาพต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภคเองจนเกิดความเป็นธรรมในสังคม อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้สอดคล้องกับฤดูกาลผลิตและทราบที่มาของแหล่งอาหารอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลก ที่ผู้บริโภคสินค้าระบบเกษตรยั่งยืนส่วนใหญ่จะรู้จักเกษตรกรผู้ผลิตเป็นอย่างดี

เกษตรผสมผสาน (Integrated agriculture) การเกษตรที่มีระบบตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป อาทิ มีการแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ปลูกผักสวนครัว พื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่เลี้ยงไก่ไข่ และบ่อน้ำเลี้ยงปลา เป็นต้น ระบบการผลิตนี้จะเน้นที่ความหลากหลายของพืชและสัตว์ ไม่เพียงพืชและสัตว์ที่นำมาปลูก แต่รวมถึงไส้เดือน แมลงในดิน สัตว์ที่ช่วยผสมเกสร (ผีเสื้อ ผึ่ง หรือ นกกินน้ำหวาน) หรือสัตว์นักล่าศัตรูพืชด้วยกัน (แมลงปอ หรือ นก) เป็นต้น เกษตรผสมผสานจึงไม่เอื้อต่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยว การไถพรวนดิน และการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิต และช่วยให้เกษตรกรรับมือกับภาวะราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำได้เป็นอย่างดี

ระบบวนเกษตร (Agroforestry) เป็นการเกษตรที่ร่วมกับระบบนิเวศป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชในป่าธรรมชาติ หรือ ปลูกผักร่วมกับพื้นที่ป่าปลูก สวนผลไม้อินทรีย์หลายแห่งก็หันมาใช้ระบบวนเกษตร โดยปลูกไม้ผลแซมกับไม้ป่ายืน หลายแห่งมีการเลี้ยงสัตว์หรือทำประมงร่วมกับระบบวนเกษตรเพื่อสร้างระบบนิเวศให้ใกล้เคียงป่าไม้ในท้องถิ่นมากที่สุด ดังนั้น ไม้ยืนต้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับระบบวนเกษตร

เกษตรธรรมชาติ (Natural farming) ระบบการทำเกษตรให้สอดรับกับระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ โดยระบบการผลิตนี้จะไม่มีการไถพรวนดิน ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่กำจัดวัชพืช โดยจะเน้นการคลุมดินด้วยวัสดุธรรมชาติ และให้ความสำคัญในการบำรุงดินให้มีชีวิตให้คล้ายกับดินในป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก หรือ ฮอร์โมน) ให้น้อยที่สุด ซึ่งพื้นที่เกษตรธรรมชาติหลายแห่งแทบไม่มีการใส่ปุ๋ยหมักเลย นอกจากบำรุงดินด้วยการปลูกพืชคลุมดินและทำปุ๋ยพืชสดปีละ 1-2 ครั้ง

เกษตรชีวพลวัตร (Biodynamic agriculture) ระบบเกษตรเชิงนิเวศที่พัฒนาต่อมาจากเกษตรธรรมชาติอีกที โดยทั่วไประบบการทำฟาร์มจะไม่ต่างกับเกษตรธรรมชาติ แต่จะมีมิติเชิงจิตวิญญาณและโหราศาสตร์ อาทิเช่น การปลูกพืชตามปฏิทินดวงดาว การใช้ประสาทสัมผัสในการทดสอบพลังชีวิตของอาหาร วัตถุดิบหรือวัสดุที่จะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อตัวเราและพืชผักของเรา หรือ การดูแลเอาใจใส่พืชผักด้วยอารมณ์ที่ดีและเป็นมิตร แนวคิดนี้ฟังดูอาจจะดูแปลกประหลาด แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นมารองรับ อาทิเช่น ผักที่เลี้ยงด้วยการเปิดเพลงที่ไพเราะเบาสบายจะแข็งแรงและเจริญเติบโตดีกว่าผักที่ปลูกในที่ที่มีเสียงดังหรือตะโกนด่าทอ เป็นต้น

เพอร์มาคัลเชอร์ (Permaculture) แปลตรงตัวคือ การเพาะปลูกแบบถาวร ระบบเกษตรที่เน้นการออกแบบภูมิทัศน์ให้เลียนแบบธรรมชาติทั้งในแง่ของรูปแบบของระบบนิเวศและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้ออมในพื้นที่จนให้ผลผลิตทางเกษตรมาให้เราเก็บเกี่ยวตามธรรมชาติ กล่าวง่ายๆ คือ การออกแบบระบบนิเวศในพื้นที่จนเลี้ยงตัวเองได้และให้ผลผลิต โดยที่ไม่ต้องใส่ปัจจัยการผลิตใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด น้ำหมัก ฮอร์โมน หรือแม้กระทั้งน้ำก็ไม่ต้องรดเลย

จากระบบการผลิตทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าทุกระบบการปลูกเน้นการให้ความสำคัญของดินและระบบนิเวศในท้องถิ่นเป็นหลัก ดังนั้น ระบบไฮโดรโปนิกส์ หรือ ระบบปลูกพืชไร้ดิน จึงไม่นับเป็นระบบการผลิตแบบอินทรีย์หรือเกษตรกรรมยั่งยืน เนื่องจากปัจจัยการผลิต(ปุ๋ยเคมี) ไม่ได้เกิดจากระบบนิเวศภายในฟาร์มเองและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กรณีศึกษา สวนผัก Rewilding ที่ผสมผสานระหว่างการทำเกษตรกับการฟื้นฟูธรรมชาติในเมืองเข้าด้วยกันเรียกว่านอกจากเราจะปลูกผักเป็นอาหารและพึ่งพาตนเองด้านอาหารในเมืองได้แล้ว พื้นที่ปลูกผักของเราก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ รวมถึงสรรพชีวิตต่างๆที่ลดน้อยลง หรือกำลังจะสูญหายไปให้กลับคืนมาในเมืองด้วย (ภาพสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง ปีที่ 5 – พี่อ้วน อนงค์รัตน์ เพชรสัมฤทธิ์ มูลนิธิโลกสีเขียว)

ข้อควรรู้ก่อนทำเกษตรอินทรีย์

  • การทำเกษตรเชิงเดียว (Monoculture) หรือ ระบบการปลูกพืชชนิดเดียว เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกรุกรานของโรคและแมลงศัตรูพืช อีกทั้งพืชแต่ละชนิดต้องการแร่ธาตุในดินที่ต่างกัน ดังนั้น การปลูกพืชให้หลายชนิดจะช่วยให้สมบัติทางกายภาพดินเกิดความหลากหลายมากขึ้น และ ลดความเสียหายจากโรคและแมลงได้ดีขึ้น
  • หากมีการทำปศุสัตว์ ไม่ควรมีสัตว์เพียงชนิดเดียวอยู่ในพื้นที่เช่นกัน อีกทั้งมูลสัตว์ที่ได้ก็สามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยคอกได้ โดยทั่วไป ปุ๋ยคอกที่หมักจากมูลสัตว์หลายชนิดจะมีคุณภาพดีกว่าปุ๋ยคอกที่หมักจากมูลสัตว์เพียงชนิดเดียว การแบ่งพื้นที่ให้สัตว์เข้ามาใช้ประโยชน์หรือหาอาหารจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งสลับหมุนเวียนกัน จะช่วยให้ตัดวงจรของพยาธิได้ดีขึ้น หากเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียวกันตลอด มูลสัตว์ที่มากับพยาธิก็จะเกิดการสะสมในพื้นที่เลี้ยงได้ ทำให้ฟาร์มปศุสัตว์ที่มีพื้นที่น้อยจึงต้องจัดการด้วยการนำวัสดุปูพื้นในโรงเรือนออกครึ่งหนึ่ง และผสมวัสดุปูพื้นใหม่เข้ากับวัสดุปูพื้นเดิมเพื่อลดการหมักหมมของเชื้อโรคแทน
  • ฟาร์มที่ทำเกษตรแบบผสมผสานจะปล่อยให้หญ้าขึ้นในพื้นที่ แล้วปล่อยให้วัว หรือ ควายเข้ามาเล็มหญ้า จากนั้นค่อยไถกลบเพื่อให้เศษซากพืชเหล่านั้นเกิดการหมักจนเป็นปุ๋ยพืชสด ในกรณีที่ไม่เลี้ยงปศุสัตว์ เศษซากพืชที่เกิดขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ก็สามารถนำมาไถกลบและหมักเป็นปุ๋ยพืชสดได้เช่นกัน
  • ในกรณีพื้นที่เราไม่มีการเพาะปลูก ไม่ควรปล่อยที่ดินโล่งเตียนจนดินแห้งและแข็งตัวนั้นหมายถึงจุลินทรีย์ได้ถูกแสงแดดเผาทำลายและสารอาหารก็ได้ถูกพัดพาไปกับน้ำแล้ว จะเป็นการดีกว่าถ้าปล่อยให้ที่ดินของเรามีหญ้าหรือวัชพืชปกคลุมหน้าดิน เพราะหญ้าเหล่านี้จะช่วยตรึงสารอาหารไม่ให้ถูกน้ำพัดพาและจุลินทรีย์ก็ยังตรึงธาตุอาหารในดินได้ตามปกติ
  • ดินที่ชุ่มน้ำตลอดเวลาหรือแฉะมาก เป็นดินที่ไม่เหมาะต่อการปลูกผักหรือไม้ผลยืนต้น ซึ่งไม่เกิดประโยชน์หากปล่อยทิ้งไว้เปล่าๆ แต่ดินที่แฉะจะเหมาะต่อการปลูกข้าวให้เรามีกินได้เรื่อยๆ
  • พึงระลึกเสมอว่า ทั้งพืชและสัตว์ที่เราเลี้ยงเมื่อตายไปก็ควรถูกย่อยสลายกลับไปเป็นธาตุอาหารในพื้นที่ หากผลผลิตของเราถูกนำไปบริโภคนอกพื้นที่มากกว่าสสารหรือสารอาหารที่ถูกนำเข้ามาในพื้นที่ นั้นหมายถึงเราต้องใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงพืชและดินให้สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา หากพื้นที่ข้างบ้านมีเศษใบไม้และเศษอาหารเป็นจำนวนมากก็สามารถนำมาหมักปุ๋ยหมุนเวียนใช้ในฟาร์มของเราได้
  • การพรวนดินหรือไถหน้าดินไม่ควรลึกจนเกินไป โดยเฉพาะการงัดชั้นดินจนดินชั้นล่างกลบหน้าดินเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เนื่องจากหน้าดินเป็นแหล่งสะสมธาตุอาหารและจุลินทรีย์ในดินมากที่สุด ผักส่วนใหญ่ก็กินอาหารผ่านหน้าดินเป็นหลัก จะเป็นการดีกว่าหากใช้ส้อมพรวนหรือคลาดกรีดผิวดินให้หน้าดินร่วนซุยและช่วยระบายน้ำดีขึ้น แทนการใช้จอบพรวนและงัดหน้าดินขึ้นมา ดังภาพด้านล่าง

เป็นมือใหม่หัดขับ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

  • เริ่มปลูกผักจากสิ่งที่คุณและครอบครัวชอบกิน
  • ควรเริ่มจากเล็กๆ แล้วค่อยพัฒนาขยายพื้นที่ขึ้นเรื่อยๆ จากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวได้
  • ใช้สิ่งที่มีอยู่รอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อประหยัดเงินและทรัพยากร และลดการสร้างขยะ
  • เลือกปลูกผักให้สอดคล้องกับฤดูกาลและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณแสงแดด รวมถึงขนาดภาชนะหรือแปลงที่ปลูก เช่น หากแสงที่บ้านเราน้อยหรือแดดรำไรก็ควรเพาะวอเตอร์เครสแทนการปลูกสลัด หรือ เพาะเห็ด เพาะต้นอ่อนหรือถั่วงอกหากที่ห้องเราไม่มีแสงแดดเลย
  • เลือกปลูกผักที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตัวเอง เช่นหากมีเวลาดูแลน้อย ก็แนะนำให้ปลูกผักพื้นบ้าน เช่น กระเพรา ตำลึง มะระ ชะอม พริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ กระชาย มะกรูด มะนาว ที่ไม่ต้องดูแลมากแทน
  • หัดเป็นนักเรียนรู้ นักสังเกต ทำความเข้าใจธรรมชาติหรือนิเวศวิทยาของพืช เราจึงมักไม่เห็นใครปลูกมะพร้าวน้ำหอมในภาคเหนือ เนื่องจากมะพร้าวขึ้นได้ดีในพื้นที่ชายฝั่งและต้องการไอเค็มของจากทะเล หรือ ไม่เห็นมีใครปลูกสตรอเบอร์รี่ที่เป็นพืชเมืองหนาวมาปลูกในเขตภาคกลางหรือภาคใต้ที่มีอากาศร้อน เป็นต้น

References

  • โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย). (2557). สวนผักคนเมือง : รวมรูปแบบ เทคนิคและเคล็ดลับการปลูกผักในเมือง. ภายใต้การสนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
  • อานัฐ ตันโซ. (2556). ตำรา เกษตรกรรมธรรมชาติประยุกต์ แนวคิด หลักการ เทคนิคปฏิบัติในประเทศไทย ปี 2556. ภายใต้การสนับสนุน โดย  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • Gliessman, S.R. (2015). Agroecology : The Ecology of Sustainable Food Systems. Bosa Roca: Taylor & Francis Inc.
  • Lutgens, F.K., Tarbuck, E.J., & Tasa, D. (2015). Essentials of geology. New York: Pearson Education Inc.
  • Mollison, B. (1997). Permaculture: A Designers’ Manual. Tagari Publications.
  • Simon, Eric J. (2015). Biology : the core. New England College: Pearson Education Inc.
  • Seymour, J. (2019). The New Complete Book of Self-Sufficiency : The Classic Guide for Realists and Dreamers. London: Dorling Kindersley Ltd.