เมื่อเรื่องเกษตรกรรมไม่ใช่เรื่องของเกษตรกรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป


หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมคนเมืองต้องปลูกผัก แค่ไปตลาดก็มีผักให้ซื้อมากมายแล้ว

บางคนก็ว่าการปลูกผักหรือการทำเกษตรเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบท ส่วนเมืองก็มีหน้าที่พัฒนาเรื่องพาณิชย์ อุตสาหากรรมไม่ใช่หรือ

บางคนก็ถึงขั้นสงสัยว่าถ้าคนเมืองปลูกผักกินเอง แล้วเกษตรกรจะอยู่อย่างไร

คุณธัญญา แสงอุบล ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ และผู้ขับเคลื่อนตลาดสีเขียว จ. สุรินทร์ หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในงานเสวนาหัวข้อเกษตรในเมือง : ทางเลือก ทางรอดของอาหารคนเมืองได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่าวันนี้เรื่องเกษตรไม่ใช่เรื่องของเกษตรกรอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ถึงเวลาที่เราทุกคนจะต้องคิด ต้องทำ ต้องกิน และต้องมีเครือข่ายการทำงานและการกินร่วมกัน ไม่เว้นว่าคุณจะเป็นคนเมือง หรือคนชนบท หรือจะเป็นเกษตรกรหรือไม่ ถามว่าทำไม….

ทำไมเราต้องคิดคุณธัญญากล่าวว่า สถานการณ์ที่เราเจอกันเหมือนกันทั้งหมด เราเจออุตสาหกรรม 3 ส่วนใหญ่ๆ คืออุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งแทบไม่มีผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อย และอาหารหลายชนิดที่ส่งเสริมให้กินกัน เราก็แทบไม่รู้ที่มาของอาหารนั้นๆเลย เช่นขนมปังที่สอดแทรกด้วยเนื้อบางอย่างที่เราก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน ผักกาดหอม หรือแครอทที่ใส่มาให้มาจากไหนบ้าง และสถานการณ์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมือง ลูกๆเกษตรกรที่สุรินทร์ ตอนนี้ก็อยากกินพิซซ่าฉลองวันเกิด ในขณะที่เด็กจำนวนไม่น้อยไม่รู้จักว่าต้นข้าวหน้าตาเป็นอย่างไร “เด็กที่สุรินทร์มาดูงานที่โรงสี ถามว่าข้าวผัดอยู่ไหน ผู้ใหญ่บางคนก็มาหาพันธุ์ข้าวกล้อง โดยที่ไม่รู้ว่าข้าวกล้องเป็นวิธีสีข้าว ไม่ใช้พันธุ์ข้าว คือเราไม่รู้ที่มาของอาหารเลย”

นอกจากนี้ คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และผู้ขับเคลื่อนโครงการกินเปลี่ยนโลกยังได้กล่าวเสริมว่า ระบอบอาหารหรือ Food regime ของเรานั้นถูกออกแบบโดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เพียงไม่ก็บรรษัท ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต กระบวนการค้าอาหาร ไปจนถึงแปรรูปอาหารสำเร็จรูป หากเราไปเดินห้างสรรพสินค้า ก็จะพบว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าคืออาหาร และเราต่างก็พึ่งพาตลาดสมัยใหม่นี้กันมากเสียด้วย อาจเรียกได้ว่าเป็นตลาดผูกขาด ที่ครอบวิถีชีวิต โดยเฉพาะวิธีการกินของเราเลยก็ว่าได้

บางทีเราอาจจะไม่ขาดอาหาร แต่เราขาดอาหารปลอดภัยและเป็นธรรม และเราก็เลือกไม่ได้ ถามว่าเราจะปล่อยให้ตัวเองอยู่ในระบอบอาหารที่ถูกกำหนด และถูกครอบงำเช่นนี้ หรือเราจะคิดทำอะไรเพื่อตีฝ่าวงล้อม และสร้างระบบอาหารของตัวเอง

ทำไมต้องทำ… อาจกล่าวได้ว่าเกษตรในเมือง ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบอาหารทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างระบบอาหารของตัวเอง นอกจากนี้ หากพิจารณาสถานการณ์จำนวนเกษตรกรปัจจุบันก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ และก็ต้องเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง หากเราสามารถลุกขึ้นมาทำเองได้บ้าง ก็จะทำให้พึ่งตนเองด้านอาหารได้มากขึ้น  เพราะทุกวันนี้เราต้องซื้ออาหารวันละเกือบ 400 บาท

ถ้าไม่ทำก็ต้องกิน…ทำไมต้องกิน คำว่ากินในที่นี้หมายถึงการเลือกกินอาหารด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพราะทุกๆการกินของท่าน ล้วนมีส่วนช่วยสนับสนุนการปลูก“เราต้องเป็นผู้บริโภคที่ดี ไม่ใช่มีเงินซื้ออย่างเดียว ต้องสร้างทางเลือกให้ผู้ผลิต ให้เราเอง ผู้ผลิตบอกว่ามีความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์นะ ทดลองทำก็ไม่น้อย แต่จะมีคนซื้อมั้ย แต่คนซื้อบอกว่าไม่มีกิน มันเป็นปัญหาเรื่องระบบการกระจายอาหาร และเราก็มักจะโทษเกษตรกรว่าเห็นแก่ตัว แต่ถ้าผักไม่สวย ไม่ได้ขนาด ก็ไม่ได้ราคา เรานั่นเองที่ทำให้เกิดแบบนี้ขึ้น เราเป็นคนสร้างทำให้ผักทุกชนิดมีทุกฤดูกาล เรากินผักอยู่ไม่กี่อย่าง เรามักพูดถึงพืชผักกันแค่ 10 กว่าอย่าง แต่ความจริงเรามีความหลากหลายมากกว่านั้นมาก มีพืชผักกว่า 3 หมื่นชนิดที่ธรรมชาติให้เรามา เรามีส่วนสำคัญอย่างมากนะในการกำหนด”คุณกิ่งกรกล่าวและเชื่อมโยงให้เห็นเรื่องการเรียนรู้ที่จะผลิตเพื่อจะเป็นผู้บริโภคที่ดีให้ฟังว่า

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นผู้บริโภคที่ดี มีความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้ออาหารให้สอดคล้องกับความเป็นจริง รู้จักกินตามฤดูกาล และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ทำให้ระบบอาหารเป็นธรรม ไม่ใช่คนรวยกินได้อย่างเดียว ส่วนคนจนกินไม่ได้นั้น จุดเริ่มต้นของการร่วมกันสร้างระบบอาหารแบบนี้ได้นั้น อาจเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ผลิต คือเริ่มปลูกผักกินเองบ้าง เพื่อว่าจะได้เรียนรู้และเข้าใจเกษตรกรมากขึ้นว่ากว่าจะได้ผักที่สวยอย่างต้องการนั้นมันยากแค่ไหน และเราก็รู้จักการเลือกซื้อกินอย่างมีคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจในการเลือกมากขึ้น ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือปัญหาเรื่องความไม่รู้เรื่องอาหาร เป็นปัญหาที่ WHO กล่าวไว้เลยทีเดียว

มาถึงเรื่องทำไมต้องมีเครือข่าย  ก็เพราะว่า เรารู้ว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ทั้งหมด คุณธัญญาเล่าประสบการณ์ในเครือข่ายที่สุรินทร์ให้ฟังว่า ตอนนี้บางบ้านไม่เลี้ยงหมูหลุม ก็ใช้ปุ๋ยจากหมูหลุม บ้านที่เลี้ยงหมูหลุมชำแหละไม่เป็น ก็เอาคนในหมู่บ้านมาช่วยชำแหละ บางคนทำไก่ ทำผัก ปลูกข้าว ใครทำอะไรไม่ได้ก็เป็นเครือข่ายกัน ตอนนี้นอกจากมีผลผลิตไว้กินที่บ้านแล้ว ก็ยังสามารถสร้างเครือข่าย รวบรวมผลผลิตไปขายให้ผู้บริโภคในตลาดสีเขียว ซึ่งมีอยู่ถึง 4 แห่งในเมืองสุรินทร์ บางชุมชนปลูกผักแล้วก็รวบรวมผลผลิตของแต่ละครอบครัวไปส่งให้ตามร้านอาหารในเมือง เป็นการเพิ่มพื้นที่การผลิต กระจายที่จำหน่าย และเพิ่มคนกิน เราต้องพึ่งพากัน เป็นเครือข่ายกัน

“คิดแค่หาอาหารดีใส่ปากท้องอย่างเดียวไม่พอนะ เราต้องการเพื่อนมาก เพราะบริษัทมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองมาก ทำให้เราไร้ทางออกทางเลือก เราพยายามเอาระบบอาหารคืนมา เราต้องพยายามสร้างทางเลือกของเราให้หลากหลาย เราต้องพยายามช่วยกันสร้างขึ้นมา เราจะสะสมชัยชนะ และชนะใน ที่สุด”คุณกิ่งกร กล่าวทิ้งท้าย

จะเห็นได้ว่าเรื่องเกษตรกรรมอันว่าด้วยเรื่องอาหาร เรื่องปากท้องของเรานั้นไม่ใช่เรื่องของเกษตรกรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของเราทุกคนที่ต้องกินอาหาร เราต้องการเพื่อนมาก มาร่วมกันเป็นเพื่อนร่วมทางที่ช่วยกันขับเคลื่อนและสร้างระบบอาหารที่ดี มีคุณภาพ และเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในเมือง และในประเทศของเรากันนะคะ