“อ้วน เตี้ย ไอคิวต่ำ” คุกคามสุขภาพเด็กไทย กินผักแค่วันละ 1.5 ช้อนโต๊ะ ทั้งๆที่ควรกินไม่ต่ำกว่าวันละ 12 ช้อนโต๊ะ
กรมอนามัยคาดว่า ในปี 2558 ความชุกของโรคอ้วนในเด็กไทยจะสูงถึง 1 ใน 5 ของเด็กวัยก่อนเรียน และ 1 ใน 10 ของเด็กวัยเรียน จะเป็นโรคอ้วน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด
เนื้อข่าวที่ปรากฏในไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ชวนให้ตระหนักว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพเด็กไทย คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่เราควรปล่อยทิ้งไว้อีกต่อไป
เรื่องการพยายามขอความร่วมมือให้เพิ่มราคาการสนับสนุนอาหารกลางวันให้สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันเด็ก นั่นก็คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรพิจารณา แต่หากเปิดใจวิเคราะห์กันตามตรงแล้ว รากฐานของปัญหาที่ว่านี้ เกิดจากอะไรกันแน่??
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปเป็นพี่เลี้ยงในค่ายเด็กรักสุขภาพ เมนูอาหารกลางวันวันนั้นคือก๋วยเตี๋ยวราดหน้าผักรวม แต่เมื่อไปนั่งกินอาหารกลางวันกับเด็กๆ ก็ถึงกับอึ้ง และทึ้ง ด้วยเหตุที่เมื่อมองไปในจานของเด็ก กลับพบว่าเด็กยอมนั่งกินเส้นก๋วยเตี๋ยวเปล่าๆ โดยไม่ราดน้ำ เพียงเพราะว่ามีผัก !!!
สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไรนั้น คงต้องค่อยๆวิเคราะห์กันดู แต่เรื่องราวที่อยากจะเล่าสู่กันฟังก็คือ ประสบการณ์ของการทำโครงการ Edible Schoolyard ซึ่ง Alice Water เป็นผู้ริเริ่มขึ้นที่นิวยอร์ก และแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ ก็คือปัญหาเรื่องเด็กไม่กินผัก มีปัญหาเรื่องโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง คล้ายๆกับที่เกิดขึ้นกับที่เมืองไทยเรา
โครงการ Edible Schoolyard นี้ ได้นำเรื่องของการปลูกผัก และการศึกษาเรื่องอาหารและโภชนาการต่างๆมาผนวกเข้ากับหลักสูตรในโรงเรียน เรียกว่านอกจากเด็กๆจะได้เรียนรู้เรื่องการปลูกผักในวิชาเกษตรแล้ว เด็กๆยังได้เรียนรู้เรื่องการปรุงอาหาร เรียนรู้เรื่องอาหารที่ดี มีคุณภาพว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงแปลงผักและการทำครัวเข้ากับวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์หรือภาษาโดยมีจุดมุ่งหมายว่าอยากจะให้เด็กๆมีอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ และเปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการกินอย่างทั่วถึง และทำให้เด็กๆตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาเรื่องโรคภัยต่างๆที่คุกคามลดน้อยลง
จากประสบการณ์การทำโครงการนี้ เขาพบว่านำเรื่องปลูกผักและทำครัวเข้ามาผนวกในหลักสูตรต่างๆของโรงเรียนนั้น ทำให้เด็กๆเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีทักษะการใช้ชีวิตมากขึ้น เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ออกมาทำกิจกรรมข้างนอกห้องมากขึ้น แทนที่จะนั่งอยู่แต่ในห้องหรือนั่งอยู่หน้าคอม อีกทั้งยังทำให้เด็กๆมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย ที่สำคัญของยังมีวิจัยพบว่า เด็กที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปกินผักและผลไม้มากขึ้น และมีความรู้เรื่องโภชนาการ สามารถที่จะเลือกกินอาหารที่มีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพของตัวเองได้มากขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ได้ร่วมโครงการ
ไม่เพียงเท่านั้นเขายังพบว่าเด็กบางคนยังนำแนวคิด และเทคนิคเรื่องการปลูกผักกลับไปบอกให้ครอบครัว หรือชุมชนที่ตัวเองอยู่ทำด้วย ทำให้ทั้งที่บ้าน และชุมชนมีอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพไว้กินด้วยและด้วยตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวและชุมชนซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็กๆ ไม่แพ้กัน ทางโครงการก็ยังมีกิจกรรมที่เชิญชวนให้ครอบครัวมาร่วมกันทำแปลงผักและทำอาหารร่วมกับเด็กๆที่โรงเรียนด้วย
ทั้งทำให้เกิดกิจกรรมทางกาย ทำให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคมากินผัก ผลไม้มากขึ้น และทำให้เด็กๆมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญที่ทำให้เขารู้จักเลือกสิ่งที่ตัวเองกินทั้งในปัจจุบันและต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ……เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพเด็กๆที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างดี
ใครจะรู้ว่านอกจากการเพิ่มราคาอาหารกลางวันให้เด็กๆแล้ว บางทีการที่โรงเรียน ภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หันมาตระหนักถึงความสำคัญและให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดสวนผักในโรงเรียน ควบคู่กับการจัดทำหลักสูตรต่างๆเรื่องโภชนาการและอาหารศึกษา ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาระดับชาติเช่นนี้ได้เช่นกัน ยังไม่นับว่า การปลูกผักในโรงเรียน จะมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารของเด็กนักเรียนได้ เนื่องจากสามารถเก็บผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษสดๆจากแปลงไปปรุงได้ โดยที่ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติอาหารแพงแต่อย่างใด
คุณครูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องท่านใดสนใจ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมว่าหลักสูตรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักที่โครงการนี้เขาทำกันเป็นอย่างไร ลองค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ http://edibleschoolyard.org/esy-berkeley นะคะ
ขอบคุณรูปภาพและเรื่องราวจาก