ความเป็นไปได้และสังเขปบทเรียนที่โตรอนโต้ อามมาน พรีทาวน์ และทรินิแดด

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรในเมือง โดยถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้นและกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ลองมาเรียนรู้บทเรียนบางส่วนจากบางประเทศกันดูว่าเขามีแนวทางปฏิบัติอย่างไรกันบ้าง

โดย ปิยะพงษ์ บุษบงก์

รูปจาก www.torontoobserver.ca

คราวที่แล้วทิ้งท้ายไว้ว่าจะยกตัวอย่างบทเรียนในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องเกษตรในเมืองกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอากาศให้ฟังกัน เราลองมาดูกันเลยดีกว่าคับ

  1. กรณีของโตรอนโต้ (Toronto) มีการผนวกเรื่องเกษตรในเมืองไว้ในแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (Climate Change Plan) ในแผนนี้มีการสนับสนุนงบสำหรับสวนผักชุมชน มีการพูดถึงการเก็บกักน้ำฝนและการจัดการของเสียด้วยการนำเอาไปใช้ในภาคการเกษตรในเมือง การวางมาตรการระยะยาวที่จะเพิ่มไม้ผล/ไม้ยืนต้นเป็นสองเท่าภายในปี 2020 และลดการพึ่งพาอาหารจากแหล่งผลิตที่ห่างไกลด้วยการสนับสนุนการผลิตในภูมิภาคและตลาดท้องถิ่น อีกทั้งเพิ่มศักยภาพและโอกาสของการผลิตและการตลาดภายใน สำหรับบ้านเรา อย่างในกรุงเทพฯ ก็มีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเช่นกัน (แผนปฏิบัติการเพื่อลดภาวะโลกร้อน ปี 2550-2555) โดยมีการพูดถึงการปลูกต้นไม้ด้วย แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงไม้ผลหรือต้นไม้ที่กินได้ และการปลูกผักสีเขียวในเมือง

รูปจาก www.torontoobserver.ca

  1. กรณีอามมาน (Amman) มีการจัดทำแผนชื่อ Clean Development Plan ซึ่งวางยุทธศาสตร์ไว้ห้าประการ หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมการปลูกผักและไม้ผลในเมือง แผนนี้มีแนวทางในการนำพื้นที่ว่างเปล่ามาแปลงเป็นพื้นที่สีเขียวที่กินได้ให้มากที่สุดด้วยการจัดทำ ‘ธนาคารที่ดิน’ (land bank) แล้วเชื่อมประสานให้เกิดการทำสัญญาที่ได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าของที่ดินที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่ากับผู้ที่สนใจนำมาทำแปลงเกษตร ส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ในเมือง การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกื้อหนุนเรื่องเกษตร การใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัด การปลูกไม้ผลในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงถนนและที่จอดรถ และการสร้างหลังคาสีเขียว (green roof) รวมถึง การส่งเสริมสวนผักดาดฟ้าแบบบ้านเรา แต่เขาพยายามเน้นประโยชน์ของการปลูกผักบนดาดฟ้าในแง่ที่ใช้ประโยชน์จากน้ำที่ปกติแล้วจะถูกปล่อยให้ไหลทิ้งหรือยากที่จะเก็บกัก (run off and enable water collection) เช่น น้ำฝนที่ไหลจากดาดฟ้าลงมาที่ท่อน้ำทิ้งโดยไม่ทันได้ใช้ประโยชน์ และในแง่ที่ช่วยระบายความร้อนของตัวอาคารและนำพลังงานความร้อนจากอาคารมาใช้ประโยชน์

รูปจาก www.jordanruaf.org

  1. ส่วนฟรีทาวน์ (Freetown) มีการจัดทำโซนนิ่งการใช้ที่ดินที่ฉลาดต่อการรับมือกับดินฟ้าอากาศ (Climate Smart Land Use Zoning) ในการโซนนิ่งมีการอนุลักษณ์พื้นที่เกษตรชานเมืองและปล่อยพื้นที่ลาดต่ำไว้สำหรับกักน้ำป้องกันน้ำท่วม ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างในพื้นที่ๆ กันไว้สำหรับการระบายน้ำออก เพิ่มการดูดซึมน้ำ สร้างแรงจูงใจให้ชานเมืองทำเกษตร ด้วยการการันตีโอกาสที่จะมีรายได้ที่ดี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สร้างตลาดสีเขียว อีกทั้งแสดงความจริงใจของภาครัฐในการส่งเสริมการลดการเดินทางไกลของอาหารที่นำไปสู่การเผาพลาญพลังงานและมลภาวะด้วยการให้โรงครัวของส่วนราชการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาลรับซื้อผลผลิตจากในเมืองและชานเมือง นอกจากนี้ ที่นี่ยังน่าสนใจในแง่ที่ผนวกเรื่องเกษตรในเมืองไว้ในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและปรับปรุงสลัม โดยกระตุ้นให้มีการจัดทำสวนผักชุมชนขึ้นพร้อมๆ กับการฟื้นฟูหรือปรับปรุงชุมชน คล้ายๆ กับหลายจุดในบ้านเรา เช่น ที่ชุมชนใต้สะพาน โซน 2-3 เขตประเวศ (ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่) เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของชุมชนที่สุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศมากเป็นพิเศษในการรับมือกับผลกระทบทั้งหลาย

ภาพจาก www.ruaf.org

  1. สำหรับกรณีสุดท้ายคือ ทรินิแดด (Trinidad) เมืองนี้นำเข้าอาหารส่วนใหญ่จาก Santa Cruz ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 กิโลเมตร ชาวบ้านชานเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อพยพย้ายเข้ามาหรือกลุ่มชายขอบที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำได้หันมาทำเกษตร ซึ่งจากการสำรวจพบว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งอาหารทางไกลของเมืองได้ถึง 15-20% ทั้งนี้ สิ่งที่บ้านเราจะต้องสนใจเรียนรู้จากเขาเป็นพิเศษคือภูมิปัญญาการทำเกษตรเพื่อการปรับตัวอยู่กับปัญหาน้ำท่วมด้วยแนวทางที่เรียกว่าวงแหวนร่องน้ำและกำแพง (A Ring Ditch-and-Wall) ซึ่งมีลักษณะเป็นการขุดดินทำเป็นร่องระบายน้ำในสวนผักสลับกับแปลงผักเผื่อสำหรับยามน้ำท่วม โดยเอาดินที่ขุดมาก่อเป็นกำแพง ซึ่งในยามแล้ง ก็จะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ด้วย ดังในภาพ ทั้งนี้ ภูมิปัญญาเช่นนี้ ช่วยรักษาอาหารในเมืองยามเกิดภัยพิบัติไว้ได้ พร้อมๆ ไปกับช่วยระบายน้ำออกไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน แม้อาจจะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับระดับน้ำ แต่ก็ดีกว่าการทุบหม้อข้าวหม้อแกงยามเกิดวิกฤติด้วยการใช้พื้นที่เกษตรทั้งหมดเป็นพื้นที่ระบายน้ำออก ซึ่งไม่ใช่แค่น้ำเท่านั้นที่ไหลลงทะเลหากแต่รวมถึงอาหารของเราทั้งหลายด้วย

ภาพจาก Oxfam และ Fundepco

อย่างไรก็ตาม จากที่นำเสนอไป ไม่ได้หมายความว่าการหันมาใส่ใจเรื่องเกษตรในเมืองอย่างเดียวจะเพียงพอต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิของโลก หลายเรื่องก็ควรจะได้รับการใส่ใจคู่ขนานกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโซนนิ่งการใช้ที่ดินเพื่อไม่ให้การเติบโตของเมืองขาดความสมดุล การควบคุมการปล่อยของเสียจากภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ และการร่วมเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจที่มีภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตทั้งหลายรับผิดชอบเป็นพิเศษต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิซึ่งเป็นโศกนาถกรรมหมู่ที่คนทั้งโลกต้องร่วมเผชิญ

สาระข้างต้นอ้างอิงจากรายงานการสรุปบทเรียนในการประชุมนานาชาติชื่อ International Conference on Urban Agriculture for Resilient Cities: Lessons Learnt in Policy, Research and Practice ซึ่งจัดขึ้นที่ Almere ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19-20 พ.ค. 2011, บทความที่อยู่ระหว่างการตีพิมพ์ชื่อ ‘Urban Agriculture as a Strategy for Climate Change Adaptation and Mitigation’ และการขอความเห็นจาก Marielle Dubbeling เลขาธิการ RUAF และ Yves Cabannes กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ RUAF และศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรในเมืองแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน