ทำสวนผักบนระเบียงอย่างยั่งยืน สไตล์ Permaculture Balcony

นับวันชีวิตคนเมืองส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บนตึก บนคอนโดเพิ่มขึ้นเรื่อย เมื่อพูดถึงพื้นที่ปลูกผัก ก็ฟังดูเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เพราะมองไปก็มีเหลือแต่ระเบียงอันน้อยนิด ไม่มีพื้นดินให้เห็น แต่จากประสบการณ์การทำงานของโครงการสวนผักคนเมืองที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า แม้จะมีพื้นที่น้อย และมีแต่พื้นปูน การปลูกผักก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ที่สำคัญ เราสามารถออกแบบสวนผักบนระเบียงเล็กๆนี้ ให้เป็นสวนผักที่ยั่งยืน หมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุดได้อีกด้วย

เรามาลองมาเรียนรู้วิธีการทำสวนผักบนระเบียงอย่างยั่งยืนตามแนว Permaculture กันดูนะคะ

  1. อันดับแรกคือ ควรปลูกพืชให้หลากหลายไม่ใช่เฉพาะผักกินใบเท่านั้น แต่ควรปลูกพืชสมุนไพร ดอกไม้รวมถึงพืชพื้นถิ่นผสมผสานด้วย เรียกว่านอกจากจะมีอาหารแล้ว ก็ยังมียารักษาโรค และมีความงามให้ชื่นชมด้วย แถมดอกไม้บางชนิด ก็สามารถไล่แมลง บางชนิดก็สามารถล่อแมลง หรือบางชนิดก็สามารถกินได้ด้วยเช่นกัน
  2. เลือกปลูกพืชที่สามารถนำมาใช้คลุมดินได้ด้วย เช่นตะไคร้นอกจากจะสามารถใช้ทำกับข้าว ทำน้ำสมุนไพรได้แล้ว ยังสามารถนำใบตัดเป็นชิ้นเล็กๆ คลุมดินได้ด้วย
  3. ปลูกพืชที่สามารถทำเป็นปุ๋ยพืชสดช่วยบำรุงดินได้ผสมผสานด้วย เช่นพืชตระกูลถั่ว
  4. ปลูกพืชแนวตั้ง จำพวกไม้เลื้อย หรือจัดวางสวนผักในรูปแบบแนวตั้งร่วมด้วย เพื่อใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด
  5. ควรทำแหล่งน้ำเล็กๆอาจจะเป็นอ่างเลี้ยงปลา อ่างน้ำพุ ก็ได้ เพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศน์ อาจจะปลูกพืชน้ำในอ่างได้ด้วย แถมยังสามารถใช้น้ำในอ่างเป็นเหมือนปุ๋ยบำรุงพืชผักที่ปลูกได้เช่นกัน
  6. ทำที่หมักปุ๋ยทั้งแบบแห้ง และแบบน้ำ เพื่อให้สามารถหมุนเวียนเศษอาหาร และเศษพืชผักในสวน กลับไปเป็นปุ๋ย เป็นอาหารของพืชผักที่ปลูกได้

นี่เป็นหลักเบื้องต้นง่ายๆ ที่คนมีพื้นที่น้อยจะทำสวนผักอย่างยั่งยืนได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมือปลูก มีเรื่องที่ควรคำนึงอยู่ดังนี้

  1. อย่าลืมออกแบบพื้นที่สักเล็กน้อยนะคะ ดูทิศทางและปริมาณแสงแดดที่ได้รับ เพื่อเลือกชนิดผักที่ปลูกให้เหมาะสม
  2. ควรดูความต้องการและความชอบของตัวเองด้วยว่าอยากจะพื้นที่สวนผักระเบียงแห่งนี้ออกมาในรูปแบบไหน เพื่ออะไร เช่นถ้าต้องการจะใช้พื้นที่ระเบียงเป็นที่พักผ่อนไปด้วยในตัว ก็อาจจะออกแบบให้สวยงาม และมีมุมสำหรับนั่งพักผ่อนบ้างเล็กๆ  หากตั้งใจว่าอยากจะให้สวนผักนี้เป็นสวนที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ก็อาจจะพิจารณาเลือกใช้ภาชนะปลูกจากขยะรีไซเคิลทั้งหลาย เช่นขวดน้ำ กล่องนม รังไข่ หรือกะละมัง หม้อ ตะกร้า ที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น
  3. ดูแลเรื่องการระบายน้ำ และการรดน้ำควรออกแบบสวนผักแบบที่ไม่ให้กระทบกระเทือนเพื่อนบ้านที่อยู่ชั้นอื่นด้วย

ลองนำไปทำกันดูนะคะ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก