วนเกษตรในเมือง (Urban Agroforestry): คุณค่าของต้นไม้ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นหนึ่งในประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่นานาชาติให้ความสำคัญ ไม่แพ้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว การลดลงของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดเองก็เป็นผลสืบเนื่องมากจากภาวะโลกร้อนนั้นเอง จากการศึกษาโดยองค์การสหประชาชาติพบว่า สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ส่วนใหญ่ของโลก ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ 25% และนกประมาณ 12% อาจสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เพราะสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ทางธรรมชาติไปเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรทำให้ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ลดลง

ขณะนี้ภาคเหนือประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าจากการเกิดไฟป่าเป็นบริเวณกว้าง เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ต้นไม้ผลัดใบลงไปใบไม้แห้งและเป็นเชื้อเพลิงที่ทับถมบนดินและเกิดการติดไฟง่ายขึ้นตามไปด้วย และส่งผลต่อปัญหาสุขภาพเด็กและผู้ใหญ่โดยตรงจากการหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไป (PM 2.5) และส่งผลกระสบต่อเศรษฐกิจและท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ดังนั้น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้ให้มากขึ้นทั้งพื้นที่ในเมืองเองและชนบทจะช่วยทำให้อากาศเย็นลงและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในหลายพื้นที่ลงได้

สวนวนเกษตรทีทำด้วยระบบ alley cropping

การทำวนเกษตรมีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่สำหรับพื้นที่เขตร้อนชื้น (tropical region) ซึ่งเป็นภูมิอากาศคล้ายเมืองไทยจะนิยมทำอยู่ไม่กี่รูปแบบ ได้แก่ 1) alley cropping เป็นการสวนวนเกษตรที่ปลูกไม้ยืนต้นเป็นแถวสลับกับพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 2) multistrata system ซึ่งจะปลูกพืชเศรษฐกิจที่ชอบแดดรำไรใต้สวนป่าหรือไม้ยืนต้น และ 3) woodlot การปลูกไม้ยืนต้นแต่ละชนิดเป็นแปลงๆ เช่น แปลงปลูกไม้ทำฟืน แปลงปลูกไม้ยืนต้นสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่ง woodlot เป็นที่แพร่หลายมากที่สุด ที่เมืองไทยเอง เจ้าของที่ดินก็นิยมปลูกไม้สักเป็นสวนป่า เนื่องจากไม้สักเป็นไม้ที่ราคาสูงและไม่ต้องใช้เวลาในการดูแลมากเหมือนการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด รวมไปถึงผักและผลไม้

สวนวนเกษตรทีทำด้วยระบบ multistrata system

วนเกษตรช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร

ประโยชน์ของวนเกษตรสามารถแบ่งได้เป็น 3 มิติหลัก คือ การปรับตัว การบรรเทาปัญหาและคุณค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งคุณค่าที่ได้อาจไม่ออกดอกผลในระยะสั้น แต่จะเริ่มเห็นอย่างเด่นชันในระยะยาว คุณค่าซึ่งมีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น เมื่อพูดถึงวนเกษตรแล้ว หัวใจหลักจะไม่ใช่พืชเกษตรเศรษฐกิจ แต่เป็น “ไม้ยืนต้น หรือ Tree” ที่เป็นพระเอก ซึ่งอาจเป็นไม้ฟืน ไม้หอม ไม้มูลค่าสูง ไปจนถึงไม้ยืนต้นที่ให้ผลไม้ อย่างมะม่วง ส้ม หรือฝรั่งก็ได้

การปรับตัว (adaptation)

ในแง่การปรับตัว การทำวนเกษตรให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง ได้แก่ การรักษาสมดุลน้ำและดิน การควบคุมโรคและศัตรูพืช การควบคุมภูมิอากาศในแต่ละท้องที่ และการบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อวัฏจักรน้ำ โดยทางตรงจะส่งผลต่อรูปแบบและช่วงเวลาในการเกิดฝน ถ้าเป็นทางอ้อมก็จะทำให้การสูญเสียน้ำจากการไหลเวียนของน้ำและการระเหยกลายเป็นไอน้ำ ซึ่งการมีต้นไม้จะช่วยลดผลกระทบทางอ้อมเหล่านี้ได้ จากศึกษาการทำสวนป่าแบบ alley cropping หรือ ปลูกแนวต้นไม้สลับกับแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ พบว่า การสูญเสียน้ำจากการไหลออก 7-45% และน้ำสามารถเก็บไว้ในดินได้ถึง 6-29% และอีกผลการศึกษาไร่กาแฟที่ทำด้วยระบบวนเกษตรสามารถเก็บน้ำได้มากขึ้นและลดการเสียน้ำได้มากกว่าไร่กาแฟที่ปลูกแบบเชิงเดี่ยว

การปลูกต้นไม้ที่ให้ปุ๋ย (fertilizer tree) จะช่วยรักษาโครงสร้างทางกายภาพของดิน ซึ่งการแผ่กระจายของระบบรากจะช่วยดินมีความร่วนและสร้างโพรงให้เกิดการไหลเวียนอากาศได้ดี และปล่อยเศษใบไม้ลงไปทับถมหน้าดินเพื่อเป็นแหล่งธาตุอาหาร หากปลูกไม้ยืนต้นที่เป็นตระกูลถั่ว เช่น ทองหลางป่า จามจุรี นนทรี จะมีจุลินทรีย์ที่อยู่บริเวณรากพืชเหล่านี้สามารถตรึงไนโตรเจนเข้ามาในดินมากขึ้น

ต้นไม้เองสามารถลดอุณหภูมิอากาศได้เนื่องจากร่มเงาที่เกิดจากเรือนยอด และไม้ผลเองก็สามารถเป็นแหล่งอาหารทางเลือกได้ในภาวะวิกฤตจากน้ำท่วมและภัยแล้ง การมีต้นไม้ภายในสวนช่วยให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นและลดโอกาสในการความแห้งแล้งในพื้นที่ ร่มเงาของต้นไม้สามารถช่วยให้พืชเศรษฐกิจที่ไม่ทนแดดจัด เช่น สลัด กาแฟ โกโก้ ให้สามารถโตได้ตามปกติหรือลดความเสียหายจากการโดนแดดเผาลงได้ อีกทั้งร่มเงาของต้นไม้ยังช่วยให้อากาศไม่เกิดความแปรปรวนมากจนเกินไป หลายเมืองจึงพยายามรนรงค์ให้เกิดการปลูกต้นไม้มากขึ้น

เช่นเดียวกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการปลูกพืชให้มีความหลากหลาย การปลูกต้นไม้ก็ช่วยให้สัตว์ต่างๆ เช่น นก กิ่งกา และแมลงอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยควบคุมศัตรูพืชและลดความรุนแรงของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราลงได้ จากปลูกไม้ยืนต้นสลับกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคพืชน้อยลงแม้ว่าไม้ยืนต้นอยู่ไกลจากแปลงข้าวโพดเท่าไรก็ตาม อีกทั้งเชื้อราที่ช่วยควบคุมแมลงและโรคพืชนั้นส่วนมากจะชอบอาศัยในบริเวณใต้ต้นไม้อีกด้วย

การบรรเทาผลกระทบ (mitigation)

วนเกษตรมีศักยภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศและเก็บคาร์บอนในรูปของราก ลำต้น และเรือนยอดของไม้ยืนต้น อีกทั้งมีส่วนช่วยลดโอกาสในการตัดไม้ทำลายป่าลง ซึ่งหากปลูกไม้ยืนต้นในระยะยาวก็ช่วยให้เก็บคาร์บอนลงสู่ใต้ดินมากขึ้นจากการแผ่กระจายของราก ซึ่งฟาร์มอินทรีย์ที่ในไทยเองก็เลือกปลูกไม้ยืนต้นเป็นแนวกันชนรอบพื้นที่ และจากการศึกษาในพื้นที่ Sahel (พื้นที่บริเวณทะเลทรายซาฮาร่า) พบว่า การเก็บคาร์บอนในพื้นที่วนเกษตรจะสูงกว่าพื้นที่ว่างเปล่าถึง 77.1%

อย่างไรก็ตาม หากเทียบประสิทธิภาพในการเก็บคาร์บอนของสวนวนเกษตรกับพื้นป่าธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความซับซ้อนของชนิดพันธุ์สูงกว่าแล้ว ศักยภาพของพื้นที่วนเกษตรย่อมต่ำกว่าพื้นที่ป่าธรรมชาติอยู่แล้ว จากศึกษาการเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าดิบชื้นและไร่กาแฟที่ทำด้วยระบบวนเกษตรในหมู่เกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย พบว่า ป่าดิบชื้นสามารถเก็บคาร์บอนได้สูงกว่าไร่กาแฟธรรมชาติถึง 8 เท่าตัวเลยทีเดียว ดังนั้น จึงไม่แปลกที่หลักการทำเกษตรอินทรีย์จะไม่ส่งเสริมการแผ่วถางป่าธรรมชาติมาเป็นพื้นที่เกษตร แม้ว่าพื้นที่เกษตรจะเป็นระบบเกษตรธรรมชาติหรือวนเกษตรก็ตาม การทำวนเกษตรจึงเป็นเพียงระบบเกษตรกรรมทางเลือกที่ช่วยลดผลกระทบทางอ้อมจากภาวะโลกร้อนผ่านการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

มิติในทางเศรษฐกิจ (economic aspect)

ไม้ยืนต้นสามารถเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ อาทิ เนื้อไม้ เส้นใยสำหรับเป็นอาหารสัตว์ น้ำยาง ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ ถ่านชีวภาพและผลไม้ ไม้ยืนต้นที่เป็นตระกูลถั่วก็ยังสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับข้าวโพดที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลย อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น หากเทียบผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ย่อมต่ำกว่าข้าวโพดที่ปลูกในระบบเกษตรเคมี จึงเป็นเรื่องยากที่จะเชิญชวนให้เกษตรกรที่ทำระบบเกษตรเชิงเดี่ยวผันตัวมาทำระบบเกษตรอินทรีย์

การทำวนเกษตรโดยภาพรวมเป็นการกระจายรายได้จากผลผลิตที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ความเสียหายของผลผลิตจากภัยธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้ง ฝนตกหนัก โรคและแมลง ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรที่ทำในระบบเชิงเดี่ยว ซึ่งจากศึกษาโดยคุณ Thorlakson และ Neufeldt พบว่า เกษตรกรที่ทำระบบวนเกษตรกรขาดแคลนอาหารเพียงแค่ 1 เดือน เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ทำในระบบเชิงเดี่ยวกลับขาดแคลนอาหารนานถึง 3-4 เดือน จากภาวะภัยแล้งหรืออุทกภัย

ปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้ง ผลพลอยได้จากการทำวนเกษตร

            ปัจจุบัน กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลักช่วยสนับสนุนให้เกิดการทำสวนป่ามากขึ้นผ่านการเผยแพร่ความรู้และงานวิจัย และการแก้ไขข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการทำสวนป่าในที่ดินเอกชนเพิ่มมากขึ้น วนเกษตรก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่กรมป่าไม้ให้การสนับสนุน โดยการปลูกพืชเกษตรหรือสมุนไพรในการสร้างรายได้ในระยะสั้น และในระยะยาวก็สามารถขึ้นทะเบียนไม้กับกรมเพื่อขอตัดไม้ไปทำการค้าได้ และมีการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถปลูกและค้าไม้หวงห้ามบางชนิดได้ อาทิ ไม้สัก ไม้ยาง ยางกราด ยางพลวง ยางนา ยางพาย ยางแดง ยางมันหมู ยางเสียน ไม้มะค่าโมง ประดู่ ชิงชัน เต็งหรือแงะ รังหรือเปา เป็นต้น หากมีการจัดการที่ดีก็จะช่วยสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอให้แก่เกษตรกรได้ไม่ยาก

References