ปลูกผักให้อะไรมากกว่าที่คิด

จากการคาดการณ์ของ UN Habitat พบว่าประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มจาก 3.3 สิบล้านคนในปี 2007 เป็น 6.4 สิบล้านคนภายในปี 2050  โดยคาดว่าภายในปี 2030 จะมีประชากรที่อยู่ในเมืองคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์จากประชากรโลกทั้งหมดเลยทีเดียว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวเลขประชากรที่พุ่งสูงขึ้นนั้น อาจตามติดมาด้วยปัญหาด้านต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งจากประสบการณ์ทั้งของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งพบว่า เกษตรในเมืองมีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทา และแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างดี  ส่วนมีบทบาทอย่างไรบ้างนั้นเราลองมาดูค่ะ

– เกษตรในเมืองช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร: หากเรารู้จักปลูกผักกินเอง แม้ว่าอาหารจะราคาแพงขึ้นเพียงใด เราก็ยังมีอาหารที่ปลอดภัยไว้กินอย่างพอเพียง อีกทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

– เป็นแหล่งสำรองอาหารในยามฉุกเฉิน: น้ำท่วม เส้นทางถูกตัดขาด อาหารขาดแคลน อาจเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งหากใครได้ปลูกผักไว้ทั้งบนระเบียง บนดาดฟ้า หรือทำเป็นสวนลอยฟ้า สวนแนวตั้ง ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง รวมถึงเรียนรู้ที่จะเพาะเห็ด เพาะถั่วงอกไว้ ก็จะยังมีอาหารสดใหม่สำรองไว้กินได้

– ลดรายจ่าย สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว: บางบ้านหรือบางชุมชนหากมีผลผลิตเหลือจากกินเองแล้ว ก็สามารถแบ่งขาย สร้างรายได้เสริมได้ นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่นการแปรรูปอาหาร หรือทำปุ๋ยหมักชีวภาพจำหน่าย เป็นต้น

– ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียว ลดโลกร้อน และลดการใช้พลังงาน: นอกจากพื้นที่สีเขียวจะมีส่วนช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนได้แล้ว จากการศึกษาพบว่าการปลูกผัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกผักบนดาดฟ้า หรือหลังคา สามารถช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ ซึ่งก็มีส่วนช่วยลดค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศได้ด้วย ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วมจากฝนตกหนักได้อีกด้วย

– รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ: เมื่อต้นไม้และธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยตึกและสิ่งก่อสร้างต่างๆมากมาย ความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองจึงลดน้อยลง การปลูกพืชผักไว้กินเองจึงถือเป็นการช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรารู้จักนำพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือมักจะถูกแทนที่ด้วยผักจีนเพียงไม่กี่ชนิด ก็จะเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุกรรมไว้ได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญการปลูกผัก ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้ดีขึ้น บางแห่งนอกจากมีผักแล้ว ยังตามมาด้วยนก และแมลงอีกนานาชนิด

– ลดระยะทางในการขนส่งอาหาร และลดพลังงานในการเก็บรักษา: สิ่งที่มาคู่กับระยะทางในการขนส่งคือการสูญเสียพลังงานทั้งในการเดินทาง และการเก็บรักษา ซึ่งนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ปัญหาโลกร้อนตามมาด้วย

– ลดขยะและทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า: การปลูกผักกินเอง มีส่วนช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก ฟรอยด์ โฟม กระดาษ นอกจากนี้เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ที่เหลือยังสามารถนำมาหมักเป็นปุ๋ยไว้ใช้ได้อีกด้วย หรือบางแห่งอาจมีการเลี้ยงสัตว์ พวกไส้เดือน หรือหมูช่วยกำจัดขยะ ในขณะเดียวกันก็ได้ปุ๋ยจากมูลสัตว์เหล่านี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

– สร้างความสัมพันธ์ในสังคมตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน หน่วยงาน และประเทศ โดยมีกิจกรรมการปลูกผักหรือการทำเกษตรในเมืองเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้คนได้ร่วมกันเรียนรู้ ทำกิจกรรม และแบ่งปันกัน

– สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับกลุ่มคนต่างๆในเมือง ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องที่มาของอาหาร ทักษะและเทคนิคการปลูกผัก ตลอดจนการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและธรรมชาติ