The Garden City: ประสบการณ์เกษตรในเมืองที่เลทชเวิร์ท ประเทศอังกฤษ

หลายคนตั้งแง่ในทำนองที่ว่าการพูดถึงเรื่องการทำเกษตรโดยคนเมือง เป็นแค่เพียงกระแสที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง และไม่น่าจะยั่งยืนอะไร อีกทั้งเป็นอุดมคติแบบหนึ่ง ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง มีเพียงคนกลุ่มน้อยนิดที่ให้ความสำคัญ ตัวอย่างที่จะหยิบยกในวันนี้ เป็นเรื่องราวของอุดมคติที่มีจริง และไม่ใช่เพิ่งมี หากแต่มีมานานแล้ว ตัวอย่างนี้จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจาก เลทชเวิร์ท (Letchworth) หรือที่ขนานนามกันว่า “The Garden City”

ย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่ 19 การปฏิวัติอุตสาหกรรมสุกงอม โดยเฉพาะในเมืองผู้ดี การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมืองอุตสาหกรรม (Industrial city) อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคนอังกฤษทุกคนหลงใหลได้ปลื้มกับการพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ไปเสียหมด เช่นเดียวกันกับคนไทยจำนวนไม่น้อยออกมาต่อต้านการพัฒนาแบบทุนนิยม การขยายตัวของเมือง และการทำให้ทันสมัย (urbanisation and modernisation) จึงเกิดการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “Garden City Movement” ขึ้น โดยมีคัมภีร์ของ Ebenezer Howard ชาวลอนดอนเนอร์เป็นแนวทาง กล่าวคือ แนวคิดที่ชื่อว่า “The Three Magnets” หรือ แม่เหล็กสามอันที่ต่อให้มีแรงดูดดึงเราเข้าไป (สมมติว่าเราเป็นโลหะ) แต่เราก็ต้องพยายามทานแรงดูด และมีสิทธิที่จะเลือกที่จะไปติดที่แม่เหล็กอันไหน ระหว่างเมืองอุตสาหกรรม ชนบทดั้งเดิม และ “Garden City” การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลายแห่ง รวมถึงที่เลทชเวิร์ท

ท้ายที่สุด คนในเมืองเลทชเวิร์ทได้ตกลงร่วมกันที่จะถูกดูดเข้าไปในแม่เหล็ก “Garden City” และได้ถูกขนานนามให้เป็น “Garden City” แห่งแรกของโลก และเป็นต้นแบบสำหรับ “Garden City” แห่งอื่นๆ (โดยปัจจุบันมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ “Garden City” ขึ้นมาในตัวเมืองเพื่อให้คนได้เข้าไปเรียนรู้) ทั้งนี้ คนในเมืองเลทชเวิร์ทได้จัดตั้งองค์กรของตนเองขึ้นมา (Garden City Heritage Foundation หรือชื่อเดิมคือ Garden City Corporation) เพื่อกำหนดทิศทางและรักษาความเป็น“Garden City” ของตนเอาไว้ องค์กรดังกล่าวขับเคลื่อนโดยกรรมการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง และออกแบบขึ้นมาโดยคนในเมืองนั้นเอง นอกเหนือไปจากอำนาจทางการของภาครัฐ   คณะกรรมการเมืองอย่างไม่เป็นทางการชุดดังกล่าวได้รับความชอบธรรมจากคนเมืองมาก ขนาดที่สามารถต่อรองกับพลังอำนาจขององค์กรทางการจากภาครัฐได้ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคนเมืองมากพอๆ กับภาษีที่ภาครัฐเก็บได้จากคนในเมืองนั้น

บทบาทหลักของกรรมการชุดนี้คือออกแบบและพัฒนาเมืองไปในแนวทาง“Garden City” กล่าวคือทำให้เมืองยังคงมีพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะแปลงผัก ในขณะที่ กิจกรรมเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมและพาณิชย์ก็ได้รับการพัฒนาคู่ขนานไปเช่นกัน หากแต่จะต้องไม่ขยายตัวไปรุกล้ำกัน ด้วยการควบคุมการใช้ที่ดินและการสืบทอดและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน(แนวคิดแบบเดียวกันกับหลักการ เรื่องโฉนดชุมชนในบ้านเรา) ความแปลกตาไปจากเมืองดาษดื่นทั่วไปก็คือ ในขณะที่ที่อื่นๆ ย่านพาณิชย์จะอยู่ใจกลางเมือง แต่ที่นี่โซนนิ่งให้พื้นที่สีเขียวรวมถึงสวนผักอยู่กลางเมือง ต้องออกไปข้างนอกจึงจะเห็นย่านพาณิชย์ ทั้งนี้ หากการพัฒนาจากภาครัฐไม่ไปในทิศทางเดียวกันกับที่คนเมืองต้องการ คนที่นี่ก็พร้อมจะร่วมใจกันแสดงท่าทีไม่ยอมรับด้วยการไม่จ่ายภาษีให้รัฐ (เลือกที่จะสนับสนุนองค์กรของตนเองเพื่อให้มาพัฒนาตนเองมากกว่า)

 อุดมคติที่มีอยู่จริงนี้ มีความยั่งยืนยาวนานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน จริงอยู่ แม้ตัวอย่างนี้จะไม่ง่ายที่จะนำมาประยุกต์ในบ้านเรา แต่ก็ช่วยสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรในเมืองที่ยั่งยืนหรือเกษตรที่ถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง (ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งตกค้างจากภาคชนบท) นั้นมีอยู่จริง ซึ่งลบข้อกล่าวหาที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นที่ว่าการทำเกษตรโดยคนเมืองเป็นแค่เพียงกระแสที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง และไม่น่าจะยั่งยืนอะไร อีกทั้งเป็นอุดมคติที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของเลทชเวิร์ทยังน่าจะช่วยกระตุ้นให้เรา “กล้าฝัน” ถึงสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นอุดมคติ เพราะอุดมคติก็สามารถเกิดขึ้น มีอยู่ และยั่งยืนได้จริง

เรื่องโดย อ.ปิยะพงษ์ บุษบงก์