พลังเล็กๆ กับเรื่องใหญ่ๆ ของอาหาร

เวลาเราพูดถึงระบบอาหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรามักจะบ่นกันถึงเรื่องความไม่ปลอดภัยของอาหาร และประเด็นที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ อยากกินอาหารปลอดภัยแต่ไม่รู้จะซื้อที่ไหน ส่วนฝ่ายคนผลิตอาหารดีๆที่ปลอดภัยก็มักจะบ่นว่าทำแล้วไม่รู้จะขายที่ไหน กลายเป็นปัญหาที่วนเวียนจนมองไม่เห็นทางออก

อย่างไรก็ตาม บางครั้งการพร่ำบ่นเพียงอย่างเดียว โดยไม่ลุกขึ้นมาร่วมกันลงมือทำอะไรสักอย่าง หวังรอเพียงให้มีผู้มาช่วยจัดการให้ในสักวัน บางทีกว่าจะถึงวันนั้น ชีวิตเราๆท่านๆก็อาจจะล้มป่วยกันไปนักต่อนัก หรืออาจจะไม่อยู่รอดจนมีโอกาสได้เห็นความเปลี่ยนแปลงก็ได้

ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ ในเชิงโครงสร้างหรือนโยบายต่างๆจะไม่สำคัญ หรือไม่มีทางเป็นไปได้ แต่อยากจะกล่าวว่า บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ ก็อาจจะเกิดจากพลังเล็กๆที่ได้ลงมือทำอะไรบ้างอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมก็ได้  ดังที่กลุ่ม INNER CITY FARMS ที่เมืองแวนคูเวอร์ทำ

กลุ่ม INNER CITY FARMS นี้เกิดจากการรวมกลุ่มกันระหว่างเพื่อนๆ จำนวน 5 คน ที่สนใจเรื่องการปลูกผัก สนใจเรื่องการสร้างระบบอาหารใกล้บ้านในเกิดขึ้นในเมือง หลังจากตระหนักว่าตนเองแทบจะไม่เคยรู้ถึงที่มาของอาหารที่ตนเองกินเลย

พวกเขารวมตัวกัน และได้ไปติดต่อกับเจ้าของบ้านที่มีสวนหน้าบ้านที่ปล่อยทิ้งร้าง หรือบางคนก็ปลูกแต่ไม้ประดับ เพื่อขอใช้พื้นที่เหล่านั้นในการทำสวนผักร่วมกัน งานนี้เจ้าของบ้านที่เข้าใจแนวคิดของพวกเขา และอยากจะมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนเรื่องอาหารให้เกิดขึ้นในเมือง ก็ยินดีที่จะแบ่งที่ดินของตัวเองให้ โดยสิ่งที่พวกเขาให้เจ้าของบ้านกลับคืนก็คือผลผลิตต่างๆที่ได้นั้นเอง

ถามว่าพวกเขาปลูกกินเอง และแบ่งปันให้เจ้าของบ้านเท่านั้นหรือ คำตอบคือ พวกเขาทำมากกว่านั้น โดยเขาได้เปิดโอกาสให้คนอื่นๆในชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงอาหารที่พวกเขาปลูกด้วย โดยเขาได้จำหน่ายผักหรือทำการตลาดในระบบสมาชิก หรือ CSA คือสมาชิกยินดีที่จะจ่ายเงินล่วงหน้าผู้ปลูกผัก และเป็นราคาที่ร่วมรับความเสี่ยงของผู้ปลูกผักด้วย เช่นหากอาทิตย์นี้ได้ผลผลิตไม่ค่อยดี ก็ยินดีจ่ายในราคาเท่าเดิม ในขณะเดียวกันหากมีเวลา สมาชิกก็ยินดีจะเข้ามาช่วยดูแล รวมถึงช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย  เรียกว่าเป็นการร่วมหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกันเเละกัน โดยผู้ปลูกผักจะจัดส่งผักต่างๆที่ปลูกได้ให้ทุกอาทิตย์ ปริมาณผักใน 1 กล่องก็เพียงพอสำหรับ 1 ครอบครัว

ที่สำคัญ สิ่งที่ได้มากกว่าการช่วยสร้างให้เกิดอาหารปลอดภัยใกล้บ้าน และมีคนเข้าถึงอาหารได้มากขึ้นแล้ว พวกเขาบอกว่าคนที่เดินผ่านไปมาเริ่มสนใจเรื่องอาหาร เรื่องการปลูกผักมากขึ้น หลายคนจะเดินเข้ามาถามไถ่ บางคนกลับไปทดลองทำเอง แล้วก็มาปรึกษา เรียกว่าสวนผักหน้าบ้านกลายเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในชุมชนได้อย่างดี อีกทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย

ตอนนี้ ฟาร์มของInner City Farm กระจายอยู่หลายเเห่งทั่วเมืองเเวนคูเวอร์ โดยใช้พื้นที่บริเวณสวนหน้าเเละหลังบ้าน หรือบริษัท ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เปลี่ยนจากสนามหญ้าให้เป็นสวนผัก เเละเปิดรับอาสาสมัครที่เข้าไปร่วมเรียนรู้ ช่วยกันลงมือทำเกษตร เเละสร้างความเป็นชุมชนด้วยกัน ผ่านเรื่องอาหารนี่เอง

ขอบคุณเรื่องราวจาก http://montecristomagazine.com/ReadArticle.aspx?IssueID=9&ArticleID=114

http://innercityfarms.com/index.php

ขอบคุณรูปภาพจาก fb Inner City Farms

http://blog.innercityfarms.com