สวนผักโดยชุมชน เพื่อชุมชน สร้าง “ชุมชน”

อันที่จริง ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสวนผักที่ช่วยสร้างความเป็นกลุ่ม สร้างความสัมพันธ์ และสร้างความเป็นชุมชนไปหลายครั้งแล้ว แต่หลังจากได้อ่านเรื่องราวของ Karl Linn นักภูมิสถาปัตยกรรม และ นักจิตวิทยาเด็ก ที่ได้พยายามสร้างความเป็นชุมชน ความเป็นเพื่อนบ้าน ( Building Commons and Community) ให้เกิดขึ้นโดยผ่านการทำสวนผักชุมชนในเมืองตั้งแต่ที่ Boston ไปจนถึง Berkeley  ก็รู้สึกว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ และอยากจะนำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังKarl Linn ได้พยายามทำงานสร้างความเป็นชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีสีสัน มีชีวิตชีวาผ่านการสร้างสวนผักชุมชนนี้ติดต่อกันมานานหลายสิบปีจนวาระสุดท้ายของเขา ด้วยเชื่อว่าหากชุมชนมีพื้นที่ส่วนกลางที่ให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ร่วมเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน คนในชุมชนก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และสามารถที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นได้ต่อไป เรียกว่าผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับ ขนาดที่ว่าเมือง Berkeley กำหนดแผนการสร้างชุมชนออกมาว่า แต่ละชุมชนจะต้องมีพื้นที่ส่วนกลางเหลือไว้ให้คนได้มาใช้ประโยชน์และทำกิจกรรมร่วมกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หลักสำคัญของการทำสวนผักชุมชนของ Karl Linn นั้นไม่ใช่แค่มีพื้นที่ว่าง และคนก็มาลงแรงทำสวนผักร่วมกัน พอได้ผลผลิตก็แบ่งปันไปกินเท่านั้น แต่เขายังมองว่าการจะทำให้สวนผักชุมชนเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน และสร้างความเป็นชุมชนได้จริง สิ่งสำคัญ

  1. คนในชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบ เพื่อให้พื้นที่ที่สร้างสรรค์ขึ้นมานี้ ตอบสนองความต้องการมากที่สุด
  2. เมื่อรวมพลคนมาร่วมขบวนได้แล้ว ควรจะดูว่ามีคนกลุ่มไหนอีกบ้างที่ขาดหายไป เช่นคนมาร่วมมีแต่ผู้หญิงหรือป่าว มีแต่คนสูงอายุหรือป่าว ขาดเด็กไปมั้ย ทั้งๆที่เด็กมีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชน หรือแม้แต่เด็กวัยรุ่น ก็น่าจะมีบทบาทสำคัญ
  3. ลองหาอาสาสมัครที่มีความรู้ด้านต่างๆมาเป็นแนวร่วม เช่นหานักออกแบบ ศิลปิน นักสังคมสังเคราะห์ มาเป็นแนวร่วม
  4. ประสานกับเขต หรือหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนเข้ามาเป็นเครือข่าย ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านต่างๆ เช่นอาจจะมีหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนเรื่องเครื่องมือที่จำเป็นต่างๆในการปรับพื้นที่เริ่มต้นทำสวนผัก
  5. พยายามใช้วัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมากที่สุด เพื่อประหยัดงบประมาณ
  6. เชื่อมเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องมาร่วมกันพัฒนาความเป็นสวนผักชุมชน เช่นเชื่อมกับโรงเรียนให้เด็กๆได้มาใช้ประโยชน์ โดยออกแบบสวนให้สอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานของเด็กๆด้วย

ที่สำคัญ สวนผักชุมชนนี้ควรเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสวนผักแห่งนี้ โดยสิ่งที่จะช่วยทำให้แต่ละคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ได้ ก็คือการสร้างสรรค์กิจกรรมให้สวนผักแห่งนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมา โดยกิจกรรมที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องการปลูกผักเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการทำอาหารกินร่วมกัน การเป็นพื้นที่ให้เด็กและผู้ใหญ่ได้แบ่งปันประสบการณ์กัน  การมีดนตรีมาร้องเล่นเต้นรำร่วมกัน การนำเรื่องราวของศิลปะ กวี งานประดิษฐ์ต่างๆมาร่วมกันทำในพื้นที่แห่งนี้ ดังนั้นสวนผักชุมชน อาจกลายเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะของชุมชนก็เป็นได้ เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในชุมชน เป็นพื้นที่ที่พวกเขาจะออกมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันสร้างสรรค์เพื่อชีวิตและชุมชนของพวกเขา สิ่งเหล่านี้แหละที่ Karl Linn เขาเรียกว่าเป็นการออกแบบสวนผักชุมชนให้มีสีสัน มีชีวิตชีวา และช่วยความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง หรือที่เขาเรียกว่า “People-landscape architect” นั่นเอง

อ่านเรื่องราวดังนี้แล้ว ก็ทำให้เริ่มตระหนักว่า การที่เราคิดจะสร้างสวนผักชุมชนขึ้นมาสักที บางทีนอกจากการคิดคำนวณว่าจะต้องทำแปลงอย่างไรให้สามารถปลูกผักให้ได้มากที่สุดแล้ว บางครั้งเราอาจจะเป็นต้องคิดถึงพื้นที่สำหรับการใช้ประโยชน์อื่นๆในการทำกิจกรรมอื่นๆ หรือมีพื้นที่ว่างให้คนได้มาพบปะพูดคุยกันบ้าง เพื่อที่จะช่วยสร้างความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้น ซึ่งนั่นก็น่าจะหมายถึงการมีผักไว้ให้คนในชุมชนได้กินต่อไปนานๆ ไม่ใช่ได้ผักมากแต่ล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็วอย่างน่าเสียดาย

Places of peace
Gardens of green
Standing together, we’re growing
Visions of wholeness coming.

Friendship can be a reality
Harmony can be for you and me, Oh!

Places of peace
Gardens of green
Standing together, we’re growing

   ที่มา Building Common and Community

 

ขอบคุณข้อมูลเเละรูปภาพจาก

 http://www.conversations.org/story.php?sid=8

http://www.karllinn.org

http://www.newvillagepress.net/