สวนผักคนเมืองเรื่องง่ายๆ โรงเรียนบ้านขุนประเทศ

ในพื้นที่เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรให้คนในชุมชน นั้นก็คือ โรงเรียนบ้านขุนประเทศ สวนผักของโรงเรียนแห่งนี้ได้เกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจทำเกษตรและใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน ด้วยความตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะผักที่วางขายตามท้องตลาดนั้นเต็มไปด้วยสารเคมีที่เจือปนเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้น การทำเกษตรของที่นี้จึงเน้นการปลูกโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การหมักปุ๋ยไว้ใช้เองจากเศษอาหารที่เหลือจากโรงอาหารของโรงเรียน หรือ การนำขยะรีไซเคิลมาทำเป็นภาชนะปลูก เป็นต้น

การทำเกษตรของโรงเรียนมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการปลูกลงแปลงผัก การทำสวนผักแนวตั้ง การทำสวนผักกระถาง การเพาะถั่วงอก ไปจนถึงการเพาะเห็ด ครูแต่ละท่านรับผัดชอบในการดูแลกิจกรรมการเกษตรเป็นส่วนๆ มาเริ่มที่การปลูกผักลงแปลงปลูก ผักที่นำมาปลูก ได้แก่ คะน้า พริก ข่า มะเขือ เป็นต้น หลังการเก็บเกี่ยวก็นำฟางมาคลุมแปลงเพื่อป้องกันปัญหาวัชพืชที่จะขึ้นอย่างหนาแน่นในฤดูฝน

ถัดมาคือ สวนผักแนวตั้งและกระถาง ผักที่เลือกมาปลูก ได้แก่  กระเพรา แมงลัก ผักบุ้ง พริก ถั่วฝักยาว ผักชีลาว วอร์เตอร์เครส เป็นต้น จุดเด่นของสวนผักที่นี้ คือ การนำเศษขยะรีไซเคิลมาพัฒนาเป็นภาชนะปลูก ตัวอย่างเช่น การนำพลาสติกไวนิลมาตัดเป็นภาชนะปลูกบนกำแพง หรือ การนำขวดพลาสติกมาตัดเป็นกระถางปลูกผัก ซึ่งก็ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกออกจากโรงเรียน ด้านหลังโรงเรียนก็จะมีแปลงเกษตร โรงเพาะถั่วงอกและเพาะเห็ด โดยภาพรวมปัญหาที่พบในระหว่างการเพาะปลูก คือ การรุกรานของแมงกระชอนที่มักจะมากับแสงไฟที่เปิดตามอาคารเรียน แต่ก็สร้างผลกระทบไม่มาก ซึ่งแก้ไขได้ง่ายคือ การรดน้ำผักให้ชุ่มก็จะทำให้แมงกระชอนไม่กล้าเข้ามารุกราน

ผลผลิตที่ได้จากการเกษตรทั้งหมดจะถูกส่งไปที่โรงอาหารเพื่อเป็นวัตถุดิบของอาหารกลางวัน ทำให้เด็กมีผักให้ทานมากขึ้น ถึงแม้ว่าผลผลิตที่ได้จะไม่เพียงพอต่อการบริโภคของเด็กในทั้งปี แต่ก็ช่วยให้ต้นทุนในการผลิตอาหารในโรงเรียนลดลงได้ ผลผลิตบางส่วนก็จะให้เด็กนำมาวางขายให้แก่ผู้ปกครองในราคาที่ไม่แพงมากและนำรายได้มาเข้ากองทุนเพื่อนำมาซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ดิน ปุ๋ย ฟาง หรือวัสดุเพาะเห็ด เป็นต้น และช่วยเด็กพัฒนาทักษะการขายได้อีกทาง

สวนผักกับกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กก็เป็นจุดเด่นที่โรงเรียนแห่งนี้นำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ เช่น การสอนคำศัพท์ของผักที่ปลูกในโรงเรียนวิชาภาษาอังกฤษ การวัดความยาวของผักในวิขาคณิตศาสตร์ การศึกษาการเจริญเติบโตของถั่วงอกและผัก และผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีในวิชาวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงวิชาการเกษตร โดยเริ่มจากการสอนให้เด็กรู้จักความสำคัญของดินและการปรุงดิน การเพาะกล้า ไปจนถึงการดูแลแปลงผัก เป็นต้น ซึ่งครูจะเลือกสอนเทคนิคให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก อาทิ เด็ก ป.3 ให้เรียนเรื่องการเพาะถั่วงอก เด็ก ป.6 ให้เรียนการเพาะเห็ด สวนผักของโรงเรียนจึงทำให้เด็กเกิดความคิดที่อยากนำผักในโรงเรียนมาปลูกเองที่บ้านไว้ทานเองและช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครอบครัวลง

เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยและไม่แน่นอน ทำให้เด็กเหล่านี้เข้าถึงอาหารดีๆ ได้ยากกว่าเด็กที่อยู่ครอบครัวที่มีฐานะปานกลางและร่ำรวย สวนผักของโรงเรียนจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความมั่นคงทางอาหารให้แก่เด็กได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตผักไว้ทานเอง การสอนให้เด็กทราบถึงคุณค่าทางอาหารและโภชนาการของผัก ร่วมถึงทักษะอาชีพจากการนำผักมาวางขายในโรงเรียน

สวนผักของโรงเรียนบ้านขุนประเทศจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความมั่นคงทางอาหารที่ดีให้แก่เด็กนักเรียนและคนในชุมชนให้เข้ามาเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด และสร้างอาชีพให้แก่เด็กได้ในอนาคตผ่านการทำเกษตร