ฤดูแห่งเห็ด

เห็นเพลงเขามีทั้งฤดูแห่งความรัก ฤดูอกหัก ฤดูที่ฉันเหงา หรือฤดูที่แตกต่าง ชาวสวนผักขอมีฤดูแห่งเห็ดกับเขาบ้าง ที่ว่าเป็นฤดูแห่งเห็ดก็เพราะว่า หน้าฝนอย่างนี้ เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเห็ดยิ่งนัก ทั้งเห็ดในธรรมชาติ และเห็ดที่เราเพาะ  โดยที่บางครั้งอาจจะแทบไม่ต้องรดน้ำเลย แต่พอไปเปิดโรงดูก็ยิ้มหน้าบานเป็นจานเห็ดได้ เมื่อเห็นผลผลิต

จะว่าไปการเพาะเห็ดไว้กินเองก็ถือเป็นการพึ่งตนเองอย่างง่ายๆในเมืองที่ถึงบ้านจะมีพื้นที่จำกัด และไม่มีแดดก็สามารถทำได้ เพียงแต่มีหลักสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจในการเพาะเห็ดดังนี้

  1. ความชื้นสัมพันธ์: ความชื้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการเจริญเติบโตของเห็ด โดยความชื้นที่เหมาะสมคืออยู่ระหว่าง 70-90 % ดังนั้นสิ่งที่ควรเข้าใจคือ การรดน้ำเห็ดนั้นเป็นการให้น้ำเพื่อให้เห็ดได้ความชื้น ไม่ใช่เป็นการรดน้ำเพื่อให้เห็ดเจริญเติบโตโดยตรง เพราะเห็ดไม่ได้ต้องการน้ำแต่ต้องการความชื้น  เมื่อเราทราบดังนี้ ก็นำไปสู่วิธีการรดน้ำเห็ดที่เหมาะสม คือควรให้เป็นละอองฝอย และระวังอย่าให้น้ำเข้าถุง เพราะจะทำให้เห็ดเน่าและเสียเร็ว ที่สำคัญปริมาณของน้ำที่รดในแต่ละวันก็จะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน เช่นถ้าเป็นฤดูฝน อากาศมีความชื้นสูง ก็อาจจะไม่ต้องรดน้ำเห็ดเลย  เป็นต้น

  1. อุณหภูมิ: ในโรงเพาะเห็ดควรจะมีอุณหภูมิที่เหมาะกับสายพันธุ์ของเห็ด เช่นถ้าเป็นเห็ดนางฟ้า ควรจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 28 -30 องศาเซลเซียส หากเพาะเห็ดนางรม ควรจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 32-33 องศาเซลเซียส ส่วนเห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดโคนญี่ปุ่น ชอบอากาศหนาว คือระหว่าง 21-22 องศาเซลเซียส และไม่เกิน 25-26 องศาเซลเซียส ดังนั้นหากคิดจะเพาะเห็ด 2 ชนิดนี้ในช่วงหน้าร้อนก็คงต้องทบทวนกันใหม่อีกครั้งค่ะ
  2. ออกซิเจน: ในโรงเพาะเห็ดจะต้องมีออกซิเจน ดังนั้นการออกแบบที่เพาะเห็ดจะต้องมีการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศที่ดี เรียกว่าถ้าเราเข้าไปยืนอยู่ในโรงเห็ดจะต้องรู้สึกสบาย ไม่รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก
  3. การดูแลรักษาความสะอาดของโรงเรือนเพาะเห็ดถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ดังนั้นไม่ควรทิ้งขยะไว้ในโรงเรือน หากมีหญ้าขึ้นก็ควรกำจัดออกเสีย และทางที่ดี ไม่ควรจะเข้าไปในโรงเห็ดกันหลายคน และเวลาเข้าแต่ละครั้งก็ควรเปลี่ยนรองเท้า และปิดปากด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งจากประสบการณ์ของเจ้าของโรงเห็ดบอกว่า หากโรงเรือนมีการติดเชื้อจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นอกจากนี้เวลาเก็บดอกเห็ด ก็ควรจะใช้วิธีโยกและดึงออกมา พร้อมกับให้ช้อนแค่ส่วนที่ยังเหลือติดอยู่ที่ก้อนออกมาด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

4 เคล็ดลับสำคัญนี้ แบ่งปันจากประสบการณ์ตรงของเจ้าของฟาร์มเห็ดยายฉิม ที่นครนายก ซึ่งทางโครงการสวนผักคนเมืองได้มีโอกาสไปเรียนรู้และเยี่ยมชมมา นับเป็นหลักสำคัญที่คนเพาะเห็ดควรคำนึงถึง ส่วนจะออกแบบโรงเรือนเป็นอย่างไร จะวางไว้ตรงไหนดี ก็แล้วขึ้นอยู่ที่วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และความคิดสร้างสรรค์ที่แต่ละคนมีแล้วล่ะคะ

สำหรับคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด การเพาะเห็ดอาจทำได้โดยไม่ต้องสร้างเป็นโรงเรือน อาจเพาะในตะกร้า บนชั้น ในโอ่ง หรือในบ่อปูนก็ได้ เพียงเเต่จำลองสภาพเเวดล้อมให้เหมาะ ตามหลักการสำคัญในการเพาะเห็ดที่เเนะนำไว้ ก็สามารถมีเห็ดสดๆที่เพาะเองกับมือไว้กินกันได้นะคะ