เกษตรในเมืองกับวิถีการบริโภคที่ยั่งยืน

ทราบหรือไม่ค่ะว่าการปลูกผักกินเอง หรือการทำเกษตรในเมืองนั้น ไม่เพียงช่วยทำให้เรามีอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพกินเท่านั้น ทว่าการทำเกษตรในเมืองที่เอื้อต่อระบบนิเวศนั้นยังมีประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆซึ่งกำลังเป็นปัญหาระดับชาติและระดับโลกเลยทีเดียว

 

 

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธุ์ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงเรื่องเกษตรในเมืองกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคที่ยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ ว่าความมั่นคงทางอาหารที่ว่านี้มิได้หมายถึงว่าเรามีอาหารกินหรือไม่ แต่หมายถึงการมีอาหารที่มีคุณภาพ และเป็นอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพด้วย เรียกว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารที่นำไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืน

ถามว่าการบริโภคที่ยั่งยืนควรมีลักษณะอย่างไร และเกี่ยวข้องกับเกษตรในเมืองอย่างไร ดร.จำเนียรก็ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดว่า

1.เราต้องรู้ว่าอาหารที่กินมีวิถีการผลิตอย่างไร เป็นวิถีการผลิตทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นทำลายดิน ทำลายน้ำ ทำลายอากาศ รวมถึงทำลายผู้คนหรือไม่

2. ระยะทางในการขนส่งอาหารจากแหล่งที่มานั้นไกลเพียงใด หากเป็นอาหารนำเข้าจากเมืองนอก ซึ่งหลายคนคิดว่าหรูดี   มีคุณภาพ แต่ยิ่งระยะทางในการขนส่งไกลแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้ใช้พลังงานในการขนส่งสูง มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดโลกร้อนได้มากเท่านั้น ดังนั้นใครที่ปลูกผักไว้ที่บ้าน สามารถช่วยลดระยะทางการขนส่งอาหารได้มาก เพียงเดินมาเก็บไปทำกับข้าวก็ได้แล้ว ก็ถือว่ามีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานได้ไม่น้อยทีเดียว

3. การเก็บรักษาผลผลิตอย่างในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่มักไปจ่ายตลาดในห้าง และห้างก็ใช้อุณหภูมิต่ำในการเก็บรักษา อีกทั้งยังใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆในการห่อหุ้ม ตั้งแต่พลาสติก ฟรอยด์ โฟม กระดาษ ซึ่งล้วนผลิตมากจากน้ำมันดิบ ปิโตรเคมีทั้งสิ้น ดังนั้นเกษตรในเมืองจึงมีส่วนช่วยให้ไม่ต้องมีการเก็บรักษามาก เพราะสามารถไปเก็บได้จากข้างบ้าน เด็ดกันสดๆ เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องขับรถไปซื้อ และก็ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก

4. การทำเกษตรในเมืองยังมีส่วนช่วยทำให้เราได้รับประทานอาหารสดๆ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าอาหารที่แช่เย็นมา อีกทั้งยังได้รสชาติที่อร่อยกว่า และก็ปลอดภัยจากสารเคมีซึ่งมีคนร้านค้าจำนวนไม่น้อยใส่ลงไปเพื่อรักษาความสดไว้

5. ส่วนที่เหลือจากการกินยังสามารถนำไปใช้ทำปุ๋ย หรือทำไบโอแก๊สได้อีกด้วยโดยบางบ้านอาจจะเลี้ยงไส้เดือนหรือเลี้ยงสัตว์อย่างหมูเพื่อให้ช่วยกำจัดขยะ และนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยบำรุงต่อไปได้

ดร.จำเนียร ยังเน้นย้ำว่า เพื่อที่เมืองจะอยู่รอด การพัฒนาเมืองไม่น่าจะเป็นการพัฒนาให้เป็นสังคมที่บริโภคเท่านั้น แต่ต้องเป็นสังคมที่ผลิตด้วย และไม่เป็นเพียงสังคมที่ผลิตเพื่อการค้าเท่านั้น แต่ควรผลิตเรื่องอาหารเองด้วยแม้จะไม่ 100 % ก็ตาม เพื่อประโยชน์ด้านต่างๆที่กล่าวมา รวมถึงประโยชน์เรื่องการใช้ที่ดินและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วย

เรียบเรียงจาก วารสารเกษตรธรรมชาติฉบับที่ 11/2553