ไปร่วมงานHeart Core Organic สัญจรครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 58 ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวการเลี้ยงไส้เดือนแบบง่ายๆของคุณอ๊อด วิฑูรย์ เซี่ยงเห็น หนึ่งในสมาชิกของชาวชุมชนอินทรีย์ที่กลางใจ Heart Core Organic แล้วรู้สึกประทับใจในความตั้งใจ และความพยายาม จึงอยากนำมาแบ่งปัน
คุณอ๊อดเล่าให้ฟังว่า ไปเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนมาหลายที่ ทำให้รู้ว่าเลี้ยงไส้เดือนทำได้หลายแบบแต่เราจะเป็นคนรู้เองว่าเราชอบแบบไหน อย่างไรก็ตามการเลี้ยงไส้เดือน มีหลักสำคัญอยู่ 4 ข้อที่ต้องรู้คือ
- ความชื้นต้องไม่แฉะเกินไป มีสภาพที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือน โดยถ้าเป็นไส้เดือน AF ควรมีความชื้นประมาณ 70-80 %
- อุณหภูมิควรอยู่ในช่วง 15-28 องศาเซลเซียส
- ความเป็นกรด-ด่างควรอยู่ระหว่าง 6.0-8.0 คือกลางไปทางด่างจะดีกว่า
- ความร่วนซุยการเคลื่อนที่ไปหาอาหารของไส้เดือนดิน จะทำให้เกิดความร่วนซุย ระบายน้ำดี และการแพร่กระจายอากาศในดินก็ดี
สำหรับการทำ Bedding ให้ไส้เดือนนั้น ทำได้ 2 วิธีคือ
- ทำด้วยวิธีการหมักเป็นชั้นชั้นล่างสุดใส่เศษผัก ถัดมาใส่ใบไม้แห้ง และตามด้วยมูลสัตว์ ทำสลับกันไปเรื่อยๆ แต่ไม่ควรสูงเกินไป หมักทิ้งไว้ 1 เดือน โดยให้กลับกองทุก 7 วันและรดน้ำให้ชื้นด้วย
- ทำโดยใช้ขี้วัวนม แช่น้ำ 3 วันโดยเปลี่ยนน้ำทุกวัน เมื่อครบกำหนดก็นำขี้วัวออกมา ปล่อยให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำไปใช้เป็น Bedding ได้
คุณอ๊อดให้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไว้ว่ามูลไส้เดือนที่ได้จากการทำ Bedding จากปุ๋ยหมักจะได้ธาตุอาหารสูง ไส้เดือนกินได้เร็วกว่า แต่มีข้อเสีย คือใช้เวลา ใช้แรงงาน และมีกลิ่นรบกวนแรกๆบ้าง
ส่วนวิธีที่ 2 ทำง่ายกว่า แต่ใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่า และมูลไส้เดือนจะได้ธาตุอาหารต่ำกว่า แต่ก็แก้ไขได้โดยให้อาหารเสริมระหว่างเลี้ยงชดเชยได้
ที่งานวันนั้น คุณอ๊อดนำตัวอย่างการเลี้ยงไส้เดือนมาให้ดูหลายวิธี ทั้งในตะกร้า ในลิ้นชัก มีทั้งแบบเจาะก๊อกเอาน้ำมูลไส้เดือนออก และไม่เจาะ
ส่วนวิธีง่ายๆ แบบลดต้นทุน และให้ผลผลิตคุ้มค่า ที่คุณอ๊อดค้นพบ ผ่านการลองผิดลองถูกอยู่หลายอย่าง และหลายเดือนจนประสบความสำเร็จ เป็นการเลี้ยงไส้เดือนบนดินกลางแจ้ง โดยมีเทคนิควิธีการดังนี้
- ขุดดินเป็นหลุม ลึกประมาณ 5-8 ซม. กว้างประมาณ 60-80 ซม. ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่
- รองพื้นด้วยทรายละเอียด หนาประมาณ 3-58 ซม. เพื่อรักษาอุณหภูมิที่เย็น และช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชที่ชอบขึ้นมาทางดิน
- ใช้อิฐบล็อกวางรอบ เพื่อก้นดินทรุดตัว และสร้างอาณาเขต
- ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นโครงสร้าง เพื่อยึดสแลนด้านบนและด้านข้าง
- ทำตะขอ 2 ตัว ไว้สำหรับเกี่ยวสแลนตอนที่เปิดเก็บมูลไส้เดือน
คุณอ๊อดเล่าว่าคนเลี้ยงไส้เดือนแรกๆก็มักจะเจอปัญหา แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นช่างซ่อม เวลาเจอปัญหาก็จะไม่ท้อ ก็จะสู้จนถึงที่สุด จนเขาสามารถทำสำเร็จขึ้นมาได้
ที่สำคัญคือ หัวใจที่อยากแบ่งปันให้ผู้อื่น “อยากแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนที่เลี้ยงใหม่ๆ จะได้ก้าวไปในจุดต่อไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องพลาด ไม่ต้องเหนื่อยเหมือนเรา”คุณอ๊อดบอก
ขอบคุณ Heart Core Organic ที่ช่วยกันสร้างชุมชนแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นในเมืองกรุง เมื่อได้รับ ได้ลองลงมือทำ ก็อย่าลืมแบ่งปันกันต่อๆไปนะคะ