คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนเมืองหลายแห่ง โดยเฉพาะชุมชนแออัด ส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่มีที่ว่างให้เห็นนัก การจะคิดถึงพื้นที่ดินที่จะมาใช้ปลูกผัก เพื่อสร้างพื้นที่อาหารนั้น คงเป็นไปได้ยากมาก อย่างไรก็ตามหากเรารู้จักมองหาพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ข้างบ้าน หน้าบ้าน หลังบ้าน หรือพื้นที่ว่างสาธารณะที่อยู่ระหว่างบ้าน และรู้จักออกแบบร่วมกัน บางที พื้นที่ที่เราเคยมองข้าม ก็อาจกลายมาเป็นพื้นที่อาหารใกล้บ้านของชุมชนได้เช่นกัน
มีโอกาสได้อ่านคู่มือEdible Landscape Tools ที่ทางกลุ่ม Minimum Cost Housing studio ซึ่งเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนคนจนในหลายประเทศ ในการช่วยออกแบบบ้านและพื้นที่อาหารให้สอดคล้อง สมดุลกัน แล้วรู้สึกน่าสนใจ เลยอยากนำมาแบ่งปัน
เขาบอกว่าในแต่ละชุมชน ก็มักจะมีพื้นที่ว่างที่เป็นส่วนกลางร่วมกัน อาจจะเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แต่ถ้าเรารู้จักออกแบบ พื้นที่เหล่านั้นก็อาจจะเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้ บางทีอาจจะเป็นพื้นที่ปลูกผักสำหรับกินในครัวเรือน หรืออาจจะสำหรับแลกเปลี่ยนกับบ้านอื่นๆ หรือแม้แต่มีเหลือไว้ขายก็เป็นได้
สิ่งที่ควรทำเเละควรคำนึงถึงก็คือ
- ให้ลองสำรวจพื้นที่ชุมชนของตัวเองอาจจะลองเดินดู แล้วก็กำหนดจุดไว้ในใจ โดยพื้นที่นั้นอาจจะเป็นแค่มุม รอยต่อระหว่างบ้านเล็กๆ ก็ได้ แล้วดูว่าพื้นที่นั้น เป็นพื้นที่ส่วนตัว กึ่งส่วนตัว หรือเป็นพื้นที่สาธารณะการดูว่าพื้นที่เป็นแบบไหนนั้น ก็จะนำไปสู่การออกแบบสวน และกิจกรรมที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่นั่นเอง เช่นถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะก็อาจต้องคำนึงถึงกิจกรรมของคนส่วนรวมมากขึ้น
- เมื่อได้ที่แล้ว ก็ลองคิดถึงแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ เช่นมีก๊อกน้ำใกล้ๆมั้ย สามารถใช้น้ำฝนที่รองเก็บไว้ได้หรือไม่ หรือสามารถทำที่เก็บน้ำฝนส่วนกลาง สำหรับใช้รดผักได้หรือไม่
- ดูขนาดพื้นที่ และรูปร่างของพื้นที่เพื่อช่วยในการออกแบบ และเลือกรูปแบบ รวมถึงชนิดผักให้เหมาะสม เช่นถ้าพื้นที่น้อย ก็อาจพิจารณาเรื่องการออกแบบสวนผักแนวตั้ง เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น
- ดูลักษณะของพื้นดินที่จะปลูกดินมีลักษณะอย่างไร เป็นดินทราย ร่วน หรือเหนียว เป็นพื้นที่แฉะหรือพื้นที่แห่ง หรือเป็นพื้นปูน เพื่อที่จะเลือกวิธีการปรับปรุงดินได้ถูกต้อง
- ดูทิศทางของแสงแดดระยะเวลาที่ได้แดด เพื่อจะได้เลือกชนิดผักที่ปลูกได้เหมาะสม เช่นผักกินผลควรปลูกในพื้นที่ที่ได้แดดเต็มวัน
- พิจารณาดูว่ามีโครงสร้างอะไรที่สามารถใช้เป็นองค์ประกอบในการทำสวนผักได้บ้าง เช่นมีกำแพง มีรั้ว หรือมีค้าง หรือไม่บางโครงสร้าง เช่นค้าง นอกจากจะเป็นที่ปลูกผักแล้ว ยังสามารถทำเป็นที่นั่งเล่นได้ด้วย
- คำนึงถึงการเข้าออก และการเดินรอบๆพื้นที่สวนผักด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปลูกอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ก็ควรคิดถึงทางเดิน และหากเป็นพื้นที่ที่ต้องมีรถผ่าน ก็ควรคำนึงถึงทางรถด้วย
- เลือกภาชนะปลูกใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของพื้นที่
- ออกแบบการปลูก ไม่ให้พืชบังเงากันเองเช่นพืชผักต้นสูง ไม่ควรจะบังผักแดดผักต้นเตี้ย ที่สำคัญควรมีการปลูกผักให้หลากหลาย และหมุนเวียนด้วย
- ลองใช้ตัวอาคาร หรือบ้านเป็นส่วนหนึ่งของแปลงผัก เช่นหลังคา กำแพง หน้าต่าง
- พยายามออกแบบพื้นที่ให้มีพื้นที่ที่เป็นร่มเงา ไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางไว้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นเป็นพื้นที่นั่งคุยกัน เป็นที่เก็บเครื่องมือ เป็นที่ทำปุ๋ย
- นอกจากคิดออกแบบว่าจะทำแปลงอย่างไร จะปลูกอะไรแล้ว ก็ควรคิดถึงการทำปุ๋ยสำหรับใช้ในแปลงควบคู่ไปด้วยโดยใช้เศษอาหาร เศษผักผลไม้ ในครัวเรือนของชุมชนมาหมุนเวียน
ที่เมืองไทยเรา หากเดินเข้าไปในชุมชนแออัด หรือชุมชนเมืองที่มีพื้นที่น้อยๆ อย่างเพื่อนสมาชิกโครงการหลายแห่ง เราก็จะเห็นวิธีการสร้างสรรค์ ออกแบบการปลูกผักที่หลากหลาย และน่าสนใจไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสได้ออกแบบ โดยคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆมาขึ้น ดังที่กล่าวมา บางทีก็อาจจะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น มีระบบการจัดการที่ดีขึ้น หรือพื้นที่ที่มีอยู่น้อยนิด ก็อาจจะมีประโยชน์ได้มิติอื่นๆมากขึ้นด้วยก็เป็นได้
ใครสนใจลองนำไปปรับใช้กันดู อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงอยู่เสมอคือหากใช้พื้นที่สาธารณะ อย่าลืมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.mcgill.ca/mchg/pastproject/edible-landscape/montreal/work/winter05/