การปลูกพืชผักในฤดูฝนนั้นอาจดูเหมือนว่าทำได้ง่ายกว่าฤดูอื่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนตก และไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจนเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกอาจส่งผลเสียต่อพืชผักเช่นกัน โดยปัญหาการเพาะปลูกในฤดูฝนสามารถสรุปได้ดังนี้
- การสูญเสียธาตุอาหารเนื่องจากหน้าดินถูกน้ำฝนชะล้างและพัดพาหน้าดินออกไป
- ในฤดูฝน ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมเป็นจำนวนมากทำให้ปริมาณแสงแดดมีไม่เพียงพอต่อการสังเคราะห์แสงของพืช เป็นเหตุให้ผักหยุดชะงักการเจริญเติบโต
- ปัญหาวัชพืชขึ้นเป็นจำนวนมากเนื่องจากปริมาณน้ำฝนและความชื้นสูง ซึ่งวัชพืชจะไปแย่งอาหารในดินจากพืชที่เราเพาะปลูก เป็นเหตุให้ผักเจริญเติบโตช้าลง ในฤดูฝนจึงมีการใช้ยากำจัดวัชพืชเป็นจำนวนมาก
- ปัญหาโรครากเน่าอันเนื่องมาจากแปลงปลูกถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งโรคพืชหลายชนิดเกิดจากเชื้อราที่ขึ้นได้ง่ายในดินที่มีความชื้นสูง ดังนั้นโรคพืชจึงมักจะชุกชุมในฤดูนี้
- การเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลา 2 ถึง 3 วันขึ้นไป ทำให้รากพืชเกิดสภาวะการขาดก๊าซออกซิเจน และทำให้รากพืชตายได้ นอกจากก๊าซออกซิเจนแล้ว ยังเกิดปัญหาการขาดแคลนธาตุไนโตรเจนอีกด้วย
- หยดน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้ต้นอ่อนและผักที่มีใบบางได้รับความเสียหาย
พืชที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในฤดูฝน อาทิเช่น
- ผักกลุ่มหัวหอม เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง ร่วมถึงกระเทียม
- ผักกลุ่มกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคเคอรี่ ผักกาดขาว
- ผักกินผล เช่น พริกแดง พริกชี้ฟ้า พริกหวาน มะเขือเทศ ฝักทอง
- ผักจำพวกใบบาง เช่น ขึ้นช่าย
- ผักกินหัว เช่น แครอท หัวไชเท้า
ที่มาของภาพ https://saigoneer.com/vietnam-news/9263-off-season-rain-after-tet-is-disrupting-vietnam-s-agriculture
การเพาะปลูกและการดูแลพืชผักในฤดูฝนมีดังนี้
- การคลุมแปลงปลูกด้วยฟาง หญ้าแห้ง หรือใบไม้แห้งเพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้น ลดการชะล้างหน้าดิน ป้องกันดินอัดแน่นจากแรงน้ำฝนที่ตกมากระแทกดิน และป้องกันไม่ให้รากผักได้รับความเสียหายจากน้ำฝนได้
- การคลุมแปลงปลูกด้วยหลังคา สแลน หรือตาข่ายบาง เพื่อป้องกันไม่ให้พืชผักที่ปลูกได้รับแรงกระทบกระเทือนจากหยดน้ำฝนมากเกินไป
- การเลือกพืชที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในฤดูฝน เช่น คะน้า กวางตุ้ง แตงกวา บวบ ผักกาดหอม ชะอม ผักบุ้ง ตำลึง หน่อไม้ ถั่วฝักยาว มะระ ต้นหอม ผักชี เป็นต้น
- การยกแปลงปลูกให้สูงขึ้นจะช่วยระบายน้ำได้ดี รวมทั้งลดปัญหาน้ำท่วมขังรากพืช
- ในกรณีที่น้ำท่วมขังในแปลง พืชจะเกิดสภาวะขาดก๊าซออกซิเจนและธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจน เมื่อน้ำแห้งลง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ปริมาณไนโตรเจนสูง เช่น ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยจากแหนแดงหรือสาหร่ายสีเขียว ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยหมัก เป็นต้น จะช่วยฟื้นฟูพืชได้เร็วขึ้น
- เพื่อป้องกันเชื้อโรคและเชื้อราที่มักเกิดขึ้นในหน้าฝน ควรใช้สมุนไพรรสขม รสฝาด หรือรสเผ็ด เช่น ขมิ้นชันผง ฟ้าทะลายโจรผง พริก เป็นต้น หรือนำกระเทียมมาตำให้แหลก นำมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปฉีดพ่นที่แปลงผักหลังฝนตกใหม่ ๆ โดยผสมน้ำไม่เกิน 1 ต่อ 3 ส่วนเพื่อเจือจางสักเล็กน้อย วิธีนี้จะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะมากับฤดูฝนได้ ตัวอย่างสมุนไพรอื่นสำหรับการจัดการศัตรูพืช เช่น
ข้อมูลและเอกสารอ้างอิง
- กรมส่งเสริมการเกษตร, (2543). คู่มือสมุนไพรและเครื่องเทศ ชุดที่ 1 การปลูกพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ. กรุงเทพมหานคร: กรมส่งเสริมการเกษตร.
- คมสัน หุตะแพทย์. (2560). คู่มือพึ่งพาตนเอง (Self-Sufficient Book). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ.
- นคร ลิมปคุปตถาวร, (2560).ปลูกผักแบบคนเมือง ความสุขง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์.
- อานัฐ ตันโซ, (2556). ตำราเกษตรธรรมชาติประยุกต์ แนวคิด หลักการ เทคนิคปฏิบัติในประเทศไทย. ปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช).
- Abewoy, D.. (2018). Review on impacts of climate change on vegetable production and its management practices. Advances in Crop Science and Technology, 6(1) , 1-7.
- Liu, G., Li, Y., and Fu, X.. (2015). Practices to Minimize Flooding Damage to Commercial Vegetable Production. Soil and Water Science Department, UF/IFAS Extension.