เรียนรู้เทคนิคการปลูกผักเเบบประหยัดน้ำ หนีน้ำ เเละได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน

ถึงจะทำโครงการสวนผักคนเมือง กับคนที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ และปริมณฑลเป็นหลัก แต่ก็เชื่อว่าความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบ และเทคนิคการปลูกผัก ตลอดจนการจัดสรรผลผลิตนั้น เป็นเรื่องที่ไร้พรมแดน ไม่ว่าจะคนอยู่ในเมือง หรืออยู่ต่างจังหวัด หรือแม้แต่อยู่ต่างแดน เราก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้

ทางโครงการสวนผักคนเมือง ได้รับโอกาสอันดีจากคุณกัญญา อุชิตา เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม ซึ่งได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ในชุมชนเป็นเวลา 10 เดือนกับCambodian Centre for Study and Development in Agriculture (CEDAC) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศกัมพูชา มาร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ และเทคนิคการทำเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านให้พวกเราฟังกัน

อันที่จริง ชุมชนที่คุณกัญญา ไปอยู่นั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำอาชีพเกษตรกรรม โดยจะปลูกข้าวเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นพื้นที่ที่เป็นทรายมาก มีน้ำสำหรับเพาะปลูกน้อย ชาวบ้านจึงมีการคิดนวัตกรรมรูปแบบการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงมีการวางแผนการผลิตอย่างดี จนทำให้นอกจากปลูกข้าวแล้ว พวกเขาสามารถใช้พื้นที่ที่พอจะมีเหลืออยู่เล็กๆน้อยๆบริเวณบ้าน มาปลูกผัก ทั้งเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน และสามารถรวบรวมผลผลิตกับเพื่อนสมาชิกในชุมชน ส่งขายให้กับร้านสหกรณ์ของ CEDAC ซึ่งขายผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์อยู่ที่พนมเปญ ได้ถึงอาทิตย์ละ 2 ครั้ง โดยสมาชิกกลุ่มในชุมชมใช้วิธีฝากผักไปกับแท็กซี่เพื่อไปส่งที่ร้าน และจะหารเฉลี่ยค่าขนส่งกัน รายได้ที่ได้จากการปลูกผักก็ถือได้ว่าเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรที่สามารถทำนาได้ปีละ 1 ครั้งได้อย่างดีทีเดียว

สำหรับรูปแบบ และเทคนิคที่น่าสนใจ และอาจจะลองนำไปประยุกต์ปรับใช้กันดูมีดังนี้

1.รูปแบบและเทคนิคการปลูกผักในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีน้ำ

1.1 การปลูกผักโดยใส่ท่อ PVC ไว้ตรงกลาง สำหรับรดน้ำ

การปลูกผักวิธีนี้ นอกจากจะใช้พื้นที่น้อยแล้ว ยังสามารถช่วยให้ดินมีความชุ่มชื่นได้นานขึ้น และใช้ปริมาณน้ำที่รดผักน้อยลง แต่น้ำสามารถจะกระจายไปยังพืชผักที่ปลูกอยู่ในกระสอบได้อย่างทั่วถึง นับเป็นวิธีเหมาะสำหรับพื้นที่ที่น้ำไม่พอใช้

วิธีปลูกผักในกระสอบเเบบมีท่อพีวีซีง่ายๆ คือ

– เตรียมท่อพีวีซี หรือกระบอกไม้ นำมาเจาะรูให้ห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร ปิดปากท่อด้านล่างด้วยพลาสติก

– จากนั้นใส่อินทรียวัตถุ เช่นฟางข้าว ใบไม้ กิ่งไม้ผุ รองก้นกระสอบ แล้ววางท่อลงไปตรงกลาง จากนั้นเติมดินที่ผสมแล้วให้เต็ม

– รดน้ำให้ชุ่ม โดยรดใส่ลงไปในท่อ

– นำกล้าผักที่เพาะไว้มาปลูกด้านบน และปลูกด้านข้างกระสอบ โดยเจาะรูด้านข้างเป็นสามเหลี่ยม สลับฟันปลากัน

– รดน้ำและดูแลอย่างสม่ำเสมอ หากมีน้ำหมักชีวภาพ ก็สามารถเติมลงไปในท่อได้

1.2 การปลูกผักในกระสอบ โดยขุดดินแล้วนำกระสอบวางลงในหลุม วิธีนี้จะช่วยเก็บความชุ่มชื้น ของดินได้ดี และช่วยให้ใช้น้ำน้อยลง

2. การปลูกผักในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง

สำหรับชุมชนที่กัมพูชาที่คุณกัญญาไปเรียนรู้ แม้ว่าช่วงหน้าแล้งจะขาดน้ำ แต่ช่วงหน้าฝน บางครั้งก็น้ำมากไปจนประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง ชาวบ้านจึงใช้วิธียกแปลงปลูกผัก และเพื่อไม่ให้ดินแห้งเร็วจนเกินไป เขาก็จะยกแปลงสูงไม่มากนัก แค่ให้พ้นระดับน้ำท่วมขังเล็กน้อย

3. การวางแผนการผลิต เพื่อให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้จะปลูกในพื้นที่น้อย

เทคนิควิธีที่ชาวบ้านที่โน้นใช้กันก็คือ การปลูกพืชหมุนเวียน และใช้วิธีปลูกก่อนเก็บ คือเมื่อปลูกผักใบโตใกล้เก็บได้แล้ว ก็จะปลูกผักกินผลเช่น แตงกวา หรือถั่ว ลงไปในแปลงหรือกระสอบเลย เมื่อตัดผักใบแล้ว ผักกินผลรุ่นใหม่ก็พร้อมโตได้ทันที และเมื่อผักกินผลเริ่มโต เขาก็จะปลูกผักกินหัว เช่นกระชาย ขมิ้น ขิง ข่า ลงไปร่วมด้วย  และเมื่อเก็บผักกินหัวแล้ว ก็จะปรับปรุงดินเล็กน้อย และปลูกผักใบต่อ หมุนเวียนไปเช่นนี้ ทำให้มีผลผลิตไว้กินและขายอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ชาวบ้านที่โน้นยังมีวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ช่วยให้การปลูกผักครั้งหนึ่ง สามารถเก็บกินได้อย่างต่อเนื่อง เช่นการเก็บต้นหอม โดยใช้วิธีลอกเอาใบด้านนอกออก และปลูกต่อเพื่อกินเป็นหัวหอม หรือการเก็บผักชี และ คื่นฉ่าย โดยการตัดเฉพาะใบแก่ และปล่อยให้ต้นแตกใบใหม่อีกครั้ง เป็นต้น

รูปแบบและเทคนิควิธีไหนที่เหมาะและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ อาจจะลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

งานนี้ต้องขอขอบคุณเรื่องราวและรูปภาพที่คุณกัญญา อุชิตา นำร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้พวกเราชาวสวนผักคนเมืองฟังกันค่ะ