ปัญหาของแหล่งน้ำในเมือง

การขาดแคลนแหล่งน้ำก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายพื้นที่เกษตรในเมือง เมืองใหญ่หลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการบริโภคในครัวเรือนซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก โดยปัจจัยแรก คือ การขยายตัวของเมืองอันเนื่องมาจากประชากรโลกมีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งมีผู้คนเข้ามาอาศัยและทำงานในเมืองมากขึ้น ปัจจุบันประชากรโลกร้อยละ 54 อาศัยอยู่ในเมือง และมีการคาดการณ์ว่า การใช้น้ำเพื่อการบริโภคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ถึง 250 ในปี 2050 ซึ่งประชากรร้อยละ 70 จะอาศัยอยู่ในเมือง ปัจจัยที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้ฤดูกาลและการเกิดฟ้าฝนมีการเปลี่ยนแปลงและผิดเพียนไปจากเดิม การที่ฝนตกไม่เป็นไปตามฤดูกาลทำให้เมืองเกิดการขาดแคลนน้ำในยามที่ฝนไม่ตกในฤดูแล้ง ทำให้เมืองต้องพึ่งพาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้ในการอุปโภคและบริโภค ซึ่งการใช้แหล่งน้ำบาดาลก็อาจทำให้ผลข้างเคียงต่อเมืองได้ โดยเฉพาะปัญหาแผ่นดินทรุดตัวลง โดยเมืองกรุงเทพก็ประสบปัญหานี้ จนต้องมีการออกกฎหมายห้ามใช้แหล่งน้ำบาลในเขตเมืองกรุงเทพโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งก็พบว่ามีการลักลอบใช้น้ำบาลอย่างผิดกฎหมายอยู่เป็นระยะ

เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นส่วนที่ใช้น้ำมากที่สุด ในสหรัฐอเมริกา ภาคการเกษตรใช้น้ำถึงร้อยละ 87 ของแหล่งน้ำจืดในประเทศทั้งหมด เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาคเกษตรใช้น้ำถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการบริโภคน้ำสะอาดทั้งประเทศ สืบเนื่องจากพื้นที่เมืองมีสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิในบรรยากาศสูงมากกว่าปกติ เป็นเหตุให้พืชต้องใช้น้ำในการเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งมีการประมาณว่า ปริมาณน้ำที่บริโภคในพื้นที่เมืองในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 40 ถึง 70 มาจากพื้นที่เกษตรในเมือง ถึงเมืองกรุงเทพก็เป็นเมืองมีความเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งเช่นกัน และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อน้ำจากพื้นที่อื่น

แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถบรรเทาได้โดยพัฒนาระบบน้ำให้ใช้น้ำอย่างประหยัดมากขึ้น เช่น การใช้ระบบน้ำหยด หรือ การวางระบบตรวจวัดความชื้นในดิน เป็นต้น หรือ การรักษาความชื้นในดินด้วยการคลุมแปลงด้วยขุยมะพร้าว หรือการหาแหล่งน้ำเพิ่มจากการรองน้ำฝนจากหลังคาบ้านหรืออาคาร เป็นต้น

แม้ว่าอุปสรรคและความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อระบบการผลิตอาหาร โดยเกษตรในเมืองจะมีวิธีการหรือเทคนิคบรรเทาปัญหาไปได้ แต่บางปัญหาก็อาจต้องมีงานวิจัยหรืองานวิชาการมารองรับหรือยืนยันว่าเทคนิคการจัดการน้ำได้ช่วยบรรเทาหรือตอบโจทย์ในแต่ละปัญหาหรือการทำเกษตรในเมืองช่วยพัฒนาคุณภาพทางสิ่งแวดล้อมในเมืองได้จริง ซึ่งต้องอาศัยเวลาและต้นทุนอย่างมากจนข้อมูลเหล่านี้ออกมาเผยแพร่แก่สาธารณชนทั่วไป ดังนั้น การทำเกษตรในเมืองจึงต้องต้องดำเนินต่อไปจนผ่านการพิสูจน์และผลเชิงประจักษ์ในอนาคต

การอนุรักษ์น้ำในสวนผัก

  • พยายามใช้แหล่งน้ำจากธรรมชาติ เช่น คลอง ลำธาร หรือ น้ำฝน

  • การใช้แหล่งน้ำหมุนเวียน การรีไซเคิลน้ำและการกับเก็บน้ำฝนเป็นทางเลือกสำคัญต่อการเลือกแหล่งน้ำ ซึ่งการออกแบบระบบการใช้น้ำแบบหมุนเวียนเป็นการสนับสนุนการใช้น้ำในสวนผักอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถรักษาธาตุอาหารให้คงอยู่ในดินได้อีกด้วย

  • การเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำในดิน การให้น้ำแก่พืชสามารถลดลงได้หากดินมีความชื้นที่เพียงพอ โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุลงไปในดินซึ่งช่วยตรึงอนุภาคน้ำกับเม็ดดิน ดินส่วนใหญ่สามารถปรับปรุงได้โดยการเติมอินทรียวัตถุที่เหมาะสมลงไปในดิน เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยหมักในดิน ซึ่งจะช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น

  • การกระตุ้นระบบรากพืช พืชควรถูกกระตุ้นให้เกิดรากพืชให้เร็วที่สุดโดยเริ่มจากการรดน้ำให้แก่พืชน้อยลง เมื่อพืชขาดน้ำ พืชจะกระตุ้นให้พืชหยั่งรากลึกเพื่อหาแหล่งน้ำในดิน สิ่งสำคัญที่สุดคือควรตัดหน้าดินออกและโครงสร้างดินที่ดีออกไปเพื่อเพิ่มความลึกของราก

ข้อมูลและเอกสารอ้างอิง

  • Adams, C.R., Bamford, K.M., and Early, M.P. (2008). Principles of Horticulture. Oxford: Butterworth-Heinemann.
  • De Pascale, S., Costa, D., Vallone, S., Barbieri, G., and Maggio, A. (2011). Increasing water use efficiency in vegetable crop production: From plant to irrigation systems efficiency. Horttechnology, 21, 301-308.
  • Flörke, M., Schneider, C., and McDonald, R.I. (2018). Water competition between cities and agriculture driven by climate change and urban growth. Nature Sustainability, 1, 51-58.
  • Hilaire, R.S., Arnold, M.A., Wilkerson, D.C., Devitt, D.A., Hurd, B.H., Lesikar, B.J., Lohr, V.I., Martin, C.A., McDonald, G.V., Morris, R.L., Pittenger, D.R., Shaw, D.A., and Zoldoske, D.F. (2008). Efficient water use in residential urban landscapes. HortScience, 43, 2081-2092.
  • Pimentel, D., Houser, J., Preiss, E., White, O., Fang, H., Mesnick, L., Barsky, T., Tariche, S., Schreck, J., and Alpert, S. (1997). Water resources: Agriculture, the environment, and society. Bioscience, 47, 97-106.
  • O’Neill, M.P. and Dobrowolski, J.P. (2011). Water and agriculture in a changing climate. HortScience, 46, 155-157.
  • Wortman, S.E. and Lovell, S.T. (2013). Environmental challenges threatening the growth of urban agriculture in the United State. Journal of Environmental Quality, 42(5), 1283-1294.